“ย่านางแดง” สมุนไพรพื้นบ้าน ที่ไม่ควรมองข้าม

ย่านางแดงเป็นสมุนไพรสำคัญอีกชนิดหนึ่งของหมอสมุนไพรพื้นบ้าน นอกเหนือจากย่านางที่เราคุ้นเคยกับการคั้นน้ำใส่แกงหน่อไม้หรืออาหารชนิดต่างๆ พ่อหมอ แม่หมอเองก็มีการใช้ย่านางแดงกันอย่างกว้างขวาง

ตาเพ็ง สุขบัว หมอยาบ้านปวนพุ เล่าถึงสรรพคุณของย่านางแดงให้ฟังด้วยสำเนียงไทเลย ว่า

ย่านางแดงนั้น เป็นยาเกี่ยวกับโรคกษัยไตพิการ เนื่องจากไตไม่ทำงาน จะมีอาการเจ็บหลังด้านที่ไตอยู่ จะรู้สึกเจ็บโยงลงมาที่เหง้าหรือต้นขาด้านใน หากมีอาการนี้ให้ใช้ย่านางแดงทั้งห้า รากกันจ้ำ (หมากก่องข้าว) แก่นไม้มะเฟืองช้าง นำทั้งหมดมาต้มกิน ให้กินแทนน้ำ และที่สำคัญคือ ต้องคละอาหารการกิน คนป่วยจะต้องไม่กินปลาไหล ตุ่น กุดจี่ หากกินจะผิดทันที ไม่หายจากโรค และย่านางเองยังใช้แก้เบื่อแก้เมา แก้ผู้หญิงผิดกรรมหรือผิดกะบูนก็ได้ โดยใช้แก่นจันทน์แดง จันทน์ผา ลำหรือรากย่านางแดง รากซมซื่น (เขยตาย) รากน่องปอม รากสะตีเครือ ฝนกับน้ำท่าหรือน้ำธรรมดากิน หรือนำมาต้มโดยใช้อย่างละสามสี่กีบ ขนาดประมาณนิ้วมือ มัดรวมกันต้มโฮมหรือรมไอน้ำ ให้รมเช้าเย็น ครั้งละครึ่งชั่วโมง และกินน้ำยาด้วย

หากผู้หญิงเป็นไข้ทับระดู ก็ให้เอารากย่านางแดงแก่นไม้ลุมพุกแดง (มุยแดง) อย่างละเท่าๆ กัน ปีดปี้แดง (เจตมูลเพลิงแดง) 1/2 ข้อนิ้ว (ใส่น้อยกว่าตัวอื่นเพราะฤทธิ์แรง) ต้มกิน กินวันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละแก้วหรือจะกินแทนน้ำได้ยิ่งดี

นอกจากตำรับดังกล่าว ตายังใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ อย่างนิ่วในไต นิ่วถุงน้ำดี เบาหวาน ความดัน โดยตาบอกว่า ให้เอาก่องข้าวทั้งห้า ย่านางแดงทั้งเครือทั้งใบ ลำหิวสวง ลำหิงหาย ต้มกินวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว ส่วนผู้หญิงที่อยู่กรรม ก็ใช้เป็นยาหม้อกรรม โดยให้เอารากซมซื่น รากย่านางแดง รากน่องปอม รากซ้อนฮ่อ ต้มกินเป็นยาหม้อกรรม

หากผู้หญิงบางคนไม่ได้อยู่ไฟ หรือที่เรียกว่าอยู่กรรมเย็น ให้เอารากผักกระสัง รากย่านางแดง รากเปล้าน้อยต้มกิน ให้กินเป็นน้ำยาหม้อกรรม คือกินประจำแทนน้ำไปเลย หมอยาซึ่งเป็นครูอีกคน ตาวิน ตุ้มทอง ใช้ย่านางแดงรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ ที่มีอาการท้องไข่ ท้องแข็ง อูดหยึ่ง ถ่ายไม่ค่อยออก ถ่ายกะปริดกะปรอย ท่านบอกว่า ให้เอารากย่านางแดง ลำไม้บีคน (ราชดัด) ต้มกิน วันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้วหรือ 2 แก้ว

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2565