สาบแร้งสาบกา สาบกาที่ว่าแรง สาบแร้ง ยิ่งแรงกว่า…?

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ageratum conyzoides L.

ชื่อสามัญ Goat weed / Tropic ageratum

ชื่ออังกฤษ Billygoat-weed, Chick weed.

ชื่อวงศ์ ASTERACEAE / COMPOSITAE

ชื่ออื่นๆ หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่) หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี) เทียมแม่ฮาง (เลย) ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี) หญ้าสาบแล้ง   เซ้งอั่งโซว (จีนแต้จิ๋ว) เซิ่งหงจี้ (จีนกลาง)

ข้ากลุ้มใจกับชื่อของข้ามาก ฟังดูแล้วไม่มีอะไรดีเลย แปลกที่ชื่อ แล้วยังทำน้ำเสียง “น่ารังเกียจ” อีกต่างหาก

ที่สำคัญกว่านั้นคนไม่รู้จักจริง ยังเขียนชื่อของข้าผิดอีก โดยใช้ตัวสะกด “บ.ใบไม้หางยาว” เขียนเป็น “สาปแร้งสาปกา” กลายเป็นคนละเรื่องความหมาย เป็นเรื่องของอาถรรพ์ พ่อมด หมอผี สาปส่งวิญญาณไปซะนี่ จริงๆ เขียนผิดก็ดีเหมือนกัน จะได้เอ่ยเป็นคำพ้องเสียง ที่ไม่เกี่ยวกับ “กลิ่นสาบ” จะไปสาปส่ง สาปสางที่ไหนก็เชิญ…!

อย่าเพิ่งตกใจนะ อย่าหาว่าข้า “เก็บกด” มาจากไหนจึงก้าวร้าว ท้าตีท้าต่อย ความจริงแล้วข้าก็ชอบอยู่ ทั้งแร้งทั้งกา เพราะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมานานโบราณกาล โดยเฉพาะสุภาษิตประจำตัวกา ที่สอนกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า “จงเอาเยี่ยงกา แต่อย่าเอาอย่างกา” คงขัดใจกับเด็กสมัยนี้ ที่ไม่อยากตื่นเช้าอย่างกาออกหากินก่อนพระอาทิตย์ขึ้น  บางกลุ่มจึงพยายามเปลี่ยนคำสอนโบราณ เป็น “ให้เอาอย่างกา แต่อย่าเอาเยี่ยงกา” เพียงเพราะไม่อยากตื่นเช้ามืด สำหรับคำสอนว่า “อย่าเอาอย่างกา” เพราะกล่าวหาว่า กาชอบขโมยของ เช่น ไข่ของสัตว์อื่นๆ แต่ต้องคิดถึงความเอื้ออารีบ้าง เช่น บทเห่กล่อมเด็กนอนว่า “กาเอ๋ยกาเหว่า ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก แม่กาก็หลงรักคิดว่าลูกในอุทร คาบเอาข้าวมาเผื่อ คาบเอาเหยื่อมาป้อน…”

นี่คือจิตเมตตาอาทรของกา แต่ใครๆ ก็ยังหาเรื่องสาบสางอยู่เอง

ส่วนแร้ง ที่จะกล่าวถึงก็อยากจะขอรำลึกเมื่อ 50 ปีก่อน จากหนังเรื่อง Mackenna’s Gold หรือขุมทองแมคแคนน่า  และบทเพลงเขย่าอารมณ์ ขึ้นต้น “old Turkey Buzzard” จะเป็นไก่งวง หรือแร้งแก่ก็สุดยอดสมัยนั้น ใครดูหนังเรื่องนี้รอบเดียวก็ถือว่าใจแข็ง เพราะทั้งสนุกและตื่นเต้น เห็นเล่ห์เหลี่ยมการชิงทองที่มีเต็มภูเขา แค่ไตเติ้ลเรื่องที่ฉายระบบ super Panavision กระหึ่มทั้งโรง โดยมีแร้งแก่บินเหนือท้องฟ้า มองลงมาเบื้องล่าง เลียบเลาะเชิงเขา  คุ้มกับที่ได้ดู “โอมาร์ ชารีฟ ประชัน เกรเกอรี่ เปค” แต่บทเพลง “แร้งแก่” ก็ให้ข้อคิดพึงสังวรชีวิต จับเนื้อความที่เป็นบทบาทของแร้งแก่ได้ว่า “Buzzard just awaiting waiting for something down below to die ; old buzzard

knows that he can wait ด้วยเหตุผลที่ว่า he sees men go crawling like ants on the rocks below ; the men who scheme ; the men who dream and die for gold on the rock below. แล้วยังยืนยันอีกว่า A wiff of gold and off they go to die like rats on the rock below..! เห็นมั้ยล่ะ ว่าบทบาทของ “อีแร้ง” ก็

คาดคิดว่า “นักขุดทอง” จะตายอย่างมดและหนูบนโขดหิน แร้งแก่ก็จะทำหน้าที่กำจัดซากสิ่งเหล่านั้นให้

ข้าได้ระบายความรู้สึกคับแค้นแทนบทบาทของ “อีกา-อีแร้ง” แล้วข้าก็สบายใจขึ้น แต่ก็ยังติดหูคำสมญานามที่ให้ไว้ว่า ข้าเป็น “Flowers along a path” เป็นดอกไม้ริมทาง หรือจะเป็นดอกหญ้าข้างถนนก็เถอะ ความภูมิใจอยู่ที่ใครๆ พูดกันว่าพบข้าที่ไหน “อย่าถอนทิ้ง” เพราะเป็น “ยาดีข้างทาง” ทีนี้รู้แล้วซิว่าข้าคือใคร บางคนก็กล่าวหาว่าข้าเป็นวัชพืช แต่ข้าว่า ข้าคือ “วัชพืชเภสัช” เพราะคนชอบมาถอนข้าไปต้มน้ำดื่มกิน แม้จะถูกถากถาง ข้าก็ขึ้นมาได้อีก จากเมล็ดที่กระจายอยู่ ยอมรับว่าเป็นต้นไม้ล้มลุก ความสูงไม่เกิน 2 ฟุต แม้มีอายุหมุนเวียนเพียงปีเดียว ด้วยลำต้นที่ตรง แต่อ่อนตามน้ำหนักใบซึ่งแตกกิ่งก้านทั้งต้นมีขนขาวปกคลุม เมื่อเด็ดมาขยี้จะมีกลิ่นเฉพาะตัว กลิ่นฉุนตุๆ เหตุนี้คงจะเป็นที่มาของชื่อว่ามี “กลิ่นสาบ” แต่ทำไมต้องเป็นแร้งเป็นกาหละ กิ่งก้านเขียวอ่อนอมม่วง

ใบ เป็นประเภทใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ๆ แต่ส่วนยอดจะเรียงสลับกัน ใบรูปรี แต่ส่วนปลายที่แหลมมีขอบหยัก เมื่อออกดอกจะออกเป็นช่ออยู่ส่วนยอดของต้นและออกตามง่ามใบ ดอก ขนาดเล็กมีดอกย่อยอัดตัวอยู่แน่น ทั้งสีฟ้า สีม่วงน้ำเงิน และสีขาว กลีบดอกขนาดเล็กเป็นหลอดเส้นๆ ปลายแหลมเรียงซ้อนกัน 2-3 ชั้น หลังกลีบดอกมีขนเล็กน้อย ส่วนปลายมีรอยแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้อยู่ตรงกลางดอก จะแปลกก็คือ ผลมีขนาดเล็กสีดำรูปคล้ายทรงกระบอกปลายแหลม ผลแห้งมีเมล็ดสีดำ ออกดอกติดผลประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ข้าภูมิใจมากที่เป็นขวัญใจของชาวราชบุรี เพราะรู้จักข้าดี ใช้แก้โรคพิษสุนัขบ้ากัด โดยใช้ทั้งต้น ใบ เพียงกำมือตำผสมกับเหล้าขาว กรองเอาแต่น้ำใช้ผสมน้ำดื่มได้ ส่วนกากก็พอกบาดแผลโดนกัดสัก 2 สัปดาห์ แผลจะหายเรียบไม่เป็นตุ่มไต แต่ต้องทำตั้งแต่วันที่ถูกกัด ส่วนชาวเขาทั้งเผ่าอีก้อ มูเซอ แม้ว จะเป็นยาวิเศษของเขา ใช้ทั้งรากและใบต้มดื่มแก้เจ็บท้องอาหารไม่ย่อย กาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ไข้ ขับระดู ขับลม ขับปัสสาวะ แก้บิด ส่วนใบใช้แก้เจ็บตา พอกห้ามเลือด ข้อบวมรักษาแผลเรื้อรังที่มีเยื่อเมือก แก้พิษไข้ ปากเป็นแผล เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล ใช้ใบสดล้างสะอาดคั้นเอาน้ำผสมน้ำตาลกรวด ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้รากต้มดื่มยับยั้งการโตของก้อนนิ่ว ขับนิ่วในไตกระเพาะปัสสาวะ ช่วยแก้ช่องท้องทวารหนักหย่อนยาน ทั้งต้นมีสารน้ำมันระเหย Ageratochromene มีกรดอินทรีย์หลายชนิด สามารถสกัดสารจากต้นยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococus aureus และมีสารสกัดที่ออกฤทธิ์ระงับปวดได้

มีคำเปรียบเปรยว่า กาคาบพริก และ กากับหงส์ แต่มีคนชอบบ่นว่า “อย่าสาวไส้ให้กากิน” เห็นไหมว่า กาไม่ได้สาวไส้เอง มีคนทำให้ สำหรับแร้งแล้ว จะล้วงตับไตไส้พุงก็จัดการเอง เพื่อกำจัดซากศพด้วยกายวิภาคที่ยอดเยี่ยมเป็น “ยมบาลติดปีก” สายตาดีรับกลิ่นไกล เป็นนักทำความสะอาดมืออาชีพ ฉะนั้น อย่ารังเกียจ “กลิ่นสาบ” แร้งกันเลยทั้งคู่แหละที่ทำให้ “หมดกลิ่นสาบ” มากกว่า โดยเฉพาะแร้ง ถือว่าเป็นบุญคุณกับมวลสัตว์โลกด้วยซ้ำ หรือใครจะทำหน้าที่แทน..?