วว. วิจัยพัฒนาเครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ประหยัดพลังงาน

“หมาก” เป็นไม้ยืนต้น จัดอยู่ในวงศ์ของปาล์ม มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมปลูกมากที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา หมากจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด มีปริมาณฝนพอเหมาะ ในประเทศไทยนิยมปลูกมากในแถบภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และระนอง ซึ่งเป็น 3 จังหวัดที่มีการปลูกต้นหมากมากที่สุด ต้นหมากที่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตประมาณ 6-8 ทะลายต่อต้นต่อปี หรือประมาณ 60 กิโลกรัม ต่อต้น  ต่อปี

ขนาดเมล็ดหมาก 3 ไซซ์

ส่วนต้นหมากที่ไม่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตประมาณ 2 ทะลายต่อต้นต่อปี นิยมนำหมากไปแปรรูปใน 3 ประเภทธุรกิจ ทั้งในอุตสาหกรรม เครื่องสำอาง และรับประทาน ผลหมากมีสารจำพวก แอลคาลอยด์ ชื่อว่า สาร Arecoline ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มแรงดันเลือด ผู้ที่เคี้ยวหมากจึงรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า

ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ บูรณาการดำเนินงานวิจัยและพัฒนา ภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งนวัตกรรมเกษตร ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนา “เครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก” ที่สามารถคัดแยกขนาดหมากได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อนาที เพิ่มประสิทธิภาพการอบแห้ง ช่วยประหยัดพลังงานในกระบวนการอบ และจำหน่ายหมากคัดขนาดได้ราคาดีขึ้น

ดร. กนกอร อัมพรายน์ หรือ ดร.เจี๊ยบ

ดร. กนกอร อัมพรายน์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยและพัฒนา “เครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก” ว่า เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และสภาเกษตรกร ที่ต้องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเกษตร ที่ประสบกับปัญหาต่างๆ ในการประกอบการผลผลิต

เมล็ดหมาก

“เป็นเรื่องสืบเนื่อง ก่อนหน้าเมื่อปี พ.ศ. 2560 เรามีโครงการร่วมกับ ธ.ก.ส. เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปช่วยเหลือผู้ประกอบทางการเกษตรนะคะ ก็ต่อเนื่องมาจากตรงนั้น  ก็มีโครงการที่เป็นการร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย ก็มี วว. ธ.ก.ส. และสภาเกษตรกร เป็นการลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ทางส่วนของ วว. เองนั้น รับผิดชอบในส่วนของภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ก็ทางสภาเกษตรก็จะคัดเลือกกลุ่มหรือผู้ประกอบการที่มี Impact เพราะระยะของโครงการเราค่อนข้างที่จะมีระยะสั้น โดยจะมีผู้ช่วยในการหาให้ว่าใครที่ค่อนข้างมี Impact และยังติดปัญหาอะไรอยู่บ้าง เราจะเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้าไปช่วยได้ในระยะเวลาอันสั้น ทีนี้สภาเกษตรของจังหวัดจันทบุรี ก็แนะนำมาหลายที่ รวมถึงที่วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตพริกไทย แต่ว่าเขาทำเรื่องหมากด้วย ปัญหาที่เขาอยากให้ช่วย คือเรื่องของหมากแห้ง ตรงนี้เราจึงได้เข้าไปดูปัญหาของเขาว่าคืออะไร โดยเขามีปัญหาในเรื่องของการตาก ตามระยะเวลาที่เขาต้องการค่ะ”

ทั้งนี้ การอบแห้งเมล็ดหมากโดยเครื่องอบก๊าซ LPG จะสามารถอบแห้งเมล็ดหมากได้ครั้งละจำนวนมาก ประมาณ 1-2 ตัน แต่จะใช้ระยะเวลาในการอบนานและเมล็ดหมากที่ได้มีความแห้งไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเมล็ดหมากมีขนาดที่คละกันมาก ดังนั้น ในการอบแต่ละครั้ง เมล็ดหมากที่มีขนาดเล็กจะแห้งเกินไป ส่วนเมล็ดหมากที่มีขนาดใหญ่ส่วนเนื้อในยังไม่แห้ง ทำให้เกิดเชื้อราในหมาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า

Advertisement
เครื่องคัดเมล็ดหมาก

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว คณะนักวิจัย วว. ได้ทำการศึกษาเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาโดยพบว่า หากมีการคัดแยกขนาดเมล็ดหมากก่อนนำไปอบแห้ง จะช่วยประหยัดเวลาในการอบ ช่วยลดต้นทุนก๊าซ LPG และช่วยให้ได้หมากแห้งที่มีคุณภาพ อีกทั้งหมากที่ผ่านการคัดขนาดแล้วเมื่อนำไปจำหน่ายจะได้ราคาดี วว. จึงพัฒนาเครื่องคัดขนาดเมล็ดหมากขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหมากแห้ง

นำหมากใส่เครื่องคัดเมล็ด

โดย วว. ออกแบบพัฒนา “เครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก” เป็นเครื่องทรงกระบอก แนวนอน และมีความลาดเอียง มีจุดเด่นและประสิทธิภาพคือ ช่วยทุ่นแรงผู้ปฏิบัติงาน สามารถคัดแยกขนาดหมากได้ในระยะเวลาอันสั้น 20 กิโลกรัมต่อนาที

Advertisement
เมล็ดหมาก รอการคัดไซซ์

สามารถคัดหมากได้จำนวน 3 ขนาด ดังนี้

  1. เมล็ดขนาดใหญ่ มีขนาดมากกว่า 3 เซนติเมตร
  2. เมล็ดขนาดกลาง
  3. เมล็ดขนาดเล็ก มีขนาดน้อยกว่า 2.4 เซนติเมตร

 

ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอบแห้งและประหยัดพลังงานในการอบ เมื่อนำไปจำหน่ายเป็นหมากคัดขนาดจะได้ราคาดีขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “เครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก” หรือต้องการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 02-577-9000 Call center 02-577-9300 อี-เมล [email protected]