“ไก่เตี้ย – ถั่วพร้า” โอชาริมทาง

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมไปขี่จักรยานเล่นแถวๆ สะพานท่ามะเฟือง ที่ทอดข้ามแม่น้ำป่าสักในเขตบ้านหนองสรวง อำเภอศรีเทพ เพชรบูรณ์ ที่จริงตั้งใจไปดูสภาพหลังน้ำลดน่ะครับ เพราะว่าพื้นที่ริมน้ำป่าสักตอนกลางนี้ น้ำจะท่วมล้นตลิ่งในหน้าน้ำเสมอ ยิ่งช่วงที่ผ่านมามีพายุเข้า ปริมาณน้ำจึงมากมหาศาล ตอนที่ท่วมหนักๆ ช่วงต้นเดือนนั้น ชาวบ้านหาปลาได้มาก ขนาดที่ว่าตรงท่ามะเฟืองนี้ เขาเอาแหมาทอดหว่านกันบนถนนเลยทีเดียว

ถึงน้ำจะลดลงมาก ไม่ขึ้นมาท่วมไร่นาไร่อ้อยแล้ว แต่ระดับในแม่น้ำก็ยังสูงเกือบถึงตลิ่ง เห็นร่องรอยความเสียหายของพืชล้มลุก เช่นสวนกล้วยอยู่หลายแห่ง ผมแวะเก็บผักหญ้าจิปาถะริมทาง อย่างยอดตำลึง ลูกตำลึงดิบ ดอกพวงชมพู ฯลฯ กลับไปทำกับข้าวของกินตามเคย แต่คราวนี้ผมเห็นดอกและฝักไม้เลื้อยบางอย่างพันเกาะไม้ใหญ่ริมถนน ตรงช่วงที่เลยสะพานท่ามะเฟือง ย้อนมาทางบ้านหนองสรวง

ครั้นลงไปดูใกล้ๆ จึงพบว่ามันคือ “ไก่เตี้ย” (Canavalia rosea DC.) หรือถั่วพร้า, ถั่วคล้าทะเล, ผักบุ้งเล ไม้เลื้อยล้มลุกที่ผมเคยได้ยินว่าคนแถบภาคตะวันออกชอบเอาดอกมันมากิน เมื่อลองพิจารณาดูก็เห็นว่า ลักษณะช่อดอกแน่นๆ บานแล้วคล้ายดอกแคเล็กๆ และฝักขนาดใหญ่แบบนี้น่าจะกินได้อร่อยแน่ๆ ผมเลยเก็บทั้งดอกทั้งฝักอ่อนมาด้วยกัน

วิธีเก็บของผมคือเลือกเด็ดดอกที่เริ่มบาน ปล่อยดอกตูมคงไว้ในช่อ เพื่อว่าหากใครที่รู้จักกินดอกไก่เตี้ยผ่านมาในวันต่อๆ ไป จะได้อาศัยเก็บไปกินได้อีก แต่ก็แอบตัดทั้งช่อมาด้วยบ้างแหละครับ อยากลองดูว่าดอกตูมๆ จะรสชาติอย่างไร

ต้องบอกว่า ช่อดอกไก่เตี้ยสีม่วงอ่อนๆ นั้นสวยงามราวกล้วยไม้ แถมมีจำนวนมากมายห้อยระย้าไปตามรายทางย่านสะพานท่ามะเฟือง รวมทั้งฝักอ่อนฝักแก่สีเขียวเข้มนั้นด้วย เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่จะอยู่สูงเกินเอื้อมเด็ดถึง ผมคิดว่า คราวหน้าคงต้องพัฒนาไม้สอยชนิดยืดหดเก็บได้ขนาดกะทัดรัด ไว้ใช้เพื่อการนี้แล้วล่ะครับ

……………….

เมื่อลองค้นข้อมูลของไก่เตี้ยในอินเตอร์เน็ตอย่างคร่าวๆ ก็พบว่ามีคนรู้จักกินดอกของมันอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก (ย้ำว่า จากข้อมูลที่เผยแพร่แล้วนะครับ ในชีวิตจริงๆ ชาวบ้านอาจกินกันเป็นล่ำเป็นสันอยู่แล้วก็ได้) วิธีกินก็น่าสนใจ มีทั้งแกงส้ม กินสด หรือลวกจิ้มน้ำพริก ชาวบ้านที่หนองเสม็ด อำเภอเมือง ตราด มีสูตรยำดอกสดรสจัดกับใบขลู่ ดอกขลู่สด และของทะเลทอดกรอบๆ ฟังดูน่ากินทีเดียว

มีรายงานว่าดอกสดๆ นั้นหวาน เมื่อผมลองชิมแล้วก็เห็นจริงตามนั้น คือหวานอร่อย เอาจิ้มน้ำพริกจิ้มป่นกินก็คงเข้ากันมาก เรียกว่าค้นพบ “ไม้แดก” และแหล่งเก็บกินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งแล้ว

แต่ก็เหมือนทุกครั้งนะครับ วัตถุดิบอาหารที่เราเพิ่งรู้จักแบบนี้ ผมอยากรู้ว่าจะเอาไปทำอะไรอร่อยๆ อีกได้ นอกจากเท่าที่มีคนเคยทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นผมลองเอาฝักอ่อนทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ของไก่เตี้ยไปนึ่งในลังถึง ราว 15 นาที จนสุกนุ่ม ส่วนดอกนั้น ผมล้างจนสะอาด ลวกในหม้อน้ำเดือดเพียงครู่เดียว แล้วตักแช่น้ำเย็นให้หายร้อน สงให้สะเด็ดน้ำในกระชอนไว้

เมื่อได้ลองชิมฝักนึ่งและดอกสุกของไก่เตี้ย ก็แทบไม่อาจสรรหาคำใดมาอธิบายได้ นอกจากจะบอกว่า เราช่างโชคดีที่ได้พบโอชาริมทางอีกอย่างหนึ่งเข้าแล้ว

ฝักเล็กที่อ่อนๆ หน่อย ของไก่เตี้ยนั้น เมื่อสุกจะยังมีความกรอบปนนุ่มอยู่ครับ ส่วนฝักใหญ่ที่เกือบจะแก่นั้นน่าตื่นเต้นมาก คือผมพบว่า เราต้องลอกเยื่อเหนียวๆ ข้างฝักออกก่อน เหมือนที่ต้องทำกับถั่วอื่นๆ นั่นแหละครับ แล้วแยกฝักออกเป็นสองซีกตามแนวยาว จะเห็นว่ามีเมล็ดเล็กๆ ที่มีเยื่อแข็งๆ แบนๆ เต็มพื้นที่ฝักรองรับอยู่

ลอกเยื่อนี้ออกทั้งสองซีกฝักนะครับ ลอกไม่ยากหรอก

ของที่เราจะได้ คือเนื้อฝักไก่เตี้ยที่หนึบนุ่ม มีความเป็นแป้งเล็กน้อย รสมัน หวานอ่อนๆ ที่สำคัญคือมีเนื้อมากจริงๆ เลยครับ ใช้แค่ไม่กี่ฝักก็ทำเป็นกับข้าวกินกันได้หลายคนแล้ว

ส่วนดอกลวกนั้น ความมหัศจรรย์อยู่ตรงความกรอบของเนื้อดอก ลองนึกถึงเวลาเราลวกดอกแคบ้าน ดอกโสน หรือดอกแคนานะครับ ดอกเหล่านั้นจะนิ่มยวบไปหมดเลย แต่ดอกไก่เตี้ยกรอบถึงขั้นเคี้ยวได้กรึบๆ ทีเดียว ยิ่งดอกตูมก็ยิ่งกรอบมาก แม้ว่าเมื่อถูกความร้อน สีม่วงอ่อนสวยๆ นั้นจะซีดไปจนเกือบไม่เห็นก็ตาม

………………..

ข้อมูลโภชนาการของดอกไก่เตี้ยแทบไม่มีระบุไว้ในอินเตอร์เน็ต บอกกว้างๆ เพียงว่ามีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารและการย่อย ซึ่งก็คงเพราะว่ายังไม่มีคนรู้จักมันในวงกว้างเท่าไหร่นักนั่นเองครับ อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงการได้มาฟรีๆ โดยอาศัยการสืบเสาะแหล่งที่มักอยู่ริมน้ำให้พบ แล้วลงแรงเก็บเพียงเล็กน้อย ก็นับว่ามันคือวัตถุดิบอาหารที่แสนจะคุ้มค่า เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เราจะได้เลือกกินยำดอกไก่เตี้ย แกงส้มดอกไก่เตี้ย หรือดอกสดดอกลวกจิ้มน้ำพริก

ผมว่าชุบไข่ทอดก็น่าจะไม่เลว เผลอๆ ก็เอาแพไข่ทอดดอกไก่เตี้ยนี้หั่นใส่ชามแกงส้ม กลายเป็นแกงส้มไข่ทอดดอกไก่เตี้ย เลียนแบบแกงส้มชะอมไข่ไปเลย ต้องอร่อยแน่นอน

แต่จานที่ผมอยากชวนลองทำ มาจากการประมวลลักษณะเนื้อหลังการลวกฝักและดอกไก่เตี้ย อย่างที่ได้พรรณนาไว้ข้างต้น ผมนึกเปรียบเทียบเอากับขนุนอ่อนต้มสุกน่ะครับ คือขนุนต้มจะมีส่วนเนื้อที่หนึบนุ่ม ส่วนซังและเปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนนั้นจะกรุบกรอบ จึงได้ลองเลียนแบบซุบหมากมี่ ประยุกต์ทำ “ซุบไก่เตี้ย” กิน โดยเผาพริกชี้ฟ้า หอมแดง กระเทียม จนสุก ลอกเปลือกไหม้ๆ ดำๆ ออก ตำฝักไก่เตี้ยนึ่งในครกดินกับเนื้อปลาทูย่างจนแหลก ตามด้วยพริกหอมกระเทียมเผา ปรุงเค็มด้วยเกลือและน้ำปลาร้า แล้วจึงใส่ดอกไก่เตี้ยลวก และต้นหอมผักชีหั่นลงคลุกเคล้าให้เข้ากันดี

อยากบอกว่ามันอร่อยจริงๆ ครับ

ลองกินกับผักสด อย่างผักกาดหิ่น สะระแหน่ ผักชีลาว ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ฯลฯ ดูเถิด จะรู้สึกได้ถึงรสมัน หวาน นุ่ม กรอบ ที่ผสมผสานกันครบครันของฝักและดอกไก่เตี้ย ภายใต้เค้าโครงของซุบแบบอีสาน ซึ่งช่างเหมาะเหม็งกันเหลือเกินตามความเห็นของผม

ช่วงนี้ถึงปลายปีเท่านั้นนะครับ ที่เถาไก่เตี้ยริมทางในชนบท หรือตามป่าละเมาะชายทุ่ง จะทยอยออกดอกออกฝัก รอคนที่รู้จักจะเก็บมากินมาปรุงกับข้าวอร่อยๆ ผมคิดว่า ใครทำอาหารท้องถิ่นพื้นบ้านเก่งๆ ย่อมจะพลิกแพลงเอาเจ้าไก่เตี้ยนี้มาทำเมนูเด็ดๆ ได้ดีกว่าผมแน่

นี่ผมก็นึกเล่นๆ ว่า ถ้าเรารอให้ฝักไก่เตี้ยแก่จัด จนแห้งคาเถา น่าจะมีเมล็ดโตๆ ให้เอาไปลองทำอะไรคล้ายๆ เมนูถั่วเมล็ดแห้งกินได้อีกแน่ๆ

จะทำไว้กินเอง หรือดัดแปลงทำขายเป็นเมนูกับข้าวที่มีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ก็น่าลองไปหมด

เมื่อเห็นขนาดฝักอ่อนฝักใหญ่ๆ ของเถาไก่เตี้ย ก็อดคิดไม่ได้ว่า ของกินข้างทางบางอย่างนี่มันช่างน่ารื้อฟื้น น่าทำกินทำขายให้แพร่หลายออกไปในวงกว้างมากๆ จริงๆ ครับ