เกษตรตรัง ใช้เชื้อราแก้ปัญหาโรคลำต้นเน่าในปาล์ม ลดการสูญเสียนับแสนต่อปี

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจพืชหนึ่งที่มีความสำคัญของจังหวัดตรัง ซึ่งให้ผลตอบแทน
แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในแต่ละปีสูงกว่าพืชเศรษฐกิจบางชนิด เช่น ยางพารา ที่เป็นพืชสำคัญของจังหวัดตรัง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก
179,457.96 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 158,762 ไร่ และมีแนวโน้มที่จะมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากภาวะราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ยตลอดทั้งปีมีราคาค่อนข้างสูง

หน้าป้ายแปลงทดสอบ

คุณเรืองเดช นิเวศประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช เปิดเผยว่า ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของจังหวัดตรังส่วนใหญ่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ค่อนข้างต่ำ คือ 2,989 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สาเหตุจากขาดการจัดการสวนที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการใส่ปุ๋ยที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีระบบน้ำ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคลำต้นเน่าสาเหตุจากเชื้อ Ganoderma sp. พบแพร่กระจายในสวนปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะในทางภาคใต้ โดยเชื้อราจะเข้าทำลายจากรากสู่ลำต้นผ่านทางท่อลำเลียงอาหารและน้ำ ทำให้เนื้อเยื่อภายในลำต้นเกิดแผลเน่าสีน้ำตาล

เกษตรจังหวัดตรัง

อาการผิดปกติภายนอกที่พบคือ ใบมีสีซีดจางกว่าปกติ ทางใบแก่ล่างจะหักพับทิ้งตัวห้อยลงรอบๆ ลำต้น ยอดที่ยังไม่คลี่มีสีเหลือง หรือมีจำนวนมากกว่าปกติ ในระยะรุนแรงเชื้อราจะพัฒนาและเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดบริเวณโคนต้น รากและเนื้อเยื่อภายในลำต้นจะเปื่อยแห้งเป็นผง จนเกิดเป็นโพรงในที่สุด ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันยืนต้นตายหรือหักล้มลง การระบาดเกิดจากการแพร่กระจายทางลมของสปอร์ดอกเห็ดที่เกิดบริเวณโคนต้น ตอหรือซากปาล์มเก่า หรือจากการสัมผัสกันของรากต้นที่เป็นโรคและรากของต้นปกติในดินที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันจึงทำให้การควบคุมโรคยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ในปี 2563 จึงได้จัดทำแปลงทดสอบเทคโนโลยีการควบคุมโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมัน

คุณวัชลี โสพิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศัตรูพืช
ต้นที่เป็นโรคมีดอกเห็ดโคนต้น 

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
จัดการโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมัน

คุณวัชลี โสพิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ให้คำแนะนำโดยเปรียบเทียบการควบคุมด้วยสารเคมี การควบคุมด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา 2 สายพันธุ์ ว่าหากพบดอกเห็ดบนต้นปาล์ม ให้ถากเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นโรคออกเพราะเชื้อราก่อโรคจะอยู่ที่บริเวณเนื้อตายและใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในการจัดการเชื้อก่อโรค จะให้ผลดีที่สุด แต่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถทำลายได้เฉพาะส่วนที่สัมผัส ถ้าไม่ถากเนื้อเยื่อที่เป็นโรคออกก็จะทำให้การทำลายเชื้อก่อโรคไม่ได้ผล

คุณเกษม เกลือมีผล

คุณเกษม เกลือมีผล เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 7 ไร่ ปาล์มอายุเฉลี่ย 16 ปี จำนวน 152 ต้น กล่าวว่า เคยพบปาล์มยืนต้นตายมีดอกเห็ดที่ตอ แต่ไม่ทราบสาเหตุ จนสำนักงานเกษตรจังหวัดตรังได้เข้ามาทำแปลงทดสอบ จึงรู้ว่าเป็นโรคลำต้นเน่าสาเหตุจากเชื้อ Ganoderma sp. และเริ่มใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในอีกแปลงตั้งแต่ต้นปาล์มแสดงอาการทางใบล่างหรือใบแก่หักพับทิ้งตัวลงห้อยรอบๆ ต้น ผลผลิตไม่มี พบว่าหลังจากใช้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ปาล์มเริ่มกลับมาให้ผลผลิต ซึ่งถ้าคิดความสูญเสียจากการปล่อยให้ยืนต้นตายที่ผ่านมา โดยปลูก 22 ต้นต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3.2 ตันต่อไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 20 ปี ราคาเฉลี่ย 4 บาท รายได้หายไป 256,000 บาทต่อไร่ต่อรอบผลิต

เจ้าหน้าที่ในแปลงทดสอบ

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง กล่าวว่า เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้น จึงขอแนะนำดังนี้ ในการเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ ให้กำจัดซากต้นปาล์มเก่า และทำความสะอาดเพื่อป้องกันกำจัดเชื้อเห็ดที่ติดอยู่กับซากพืช และพื้นที่ควรจัดการให้มีการระบายน้ำให้ดี ซึ่งวิธีการป้องกันกำจัด คืออย่าเคลื่อนย้ายต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคผ่านไปในแปลงปาล์มน้ำมัน ขุดร่อง หรือคูรอบบริเวณต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการสัมผัสของราก

หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืชกับโรคต้นปาล์ม
ต้นที่เป็นโรคมีดอกเห็ดลำต้น
สวนปาล์มน้ำมันที่ทางใบล่างหัก

“นอกจากนี้ ยังแนะนำเกษตรกรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรคพืช โดย 1. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด 4 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม รองก้นหลุมอัตรา 100 กรัมต่อหลุม ตามขนาดของหลุมปลูก 2. หว่านรอบทรงพุ่มในอัตรา 3-6 กิโลกรัมต่อต้น และใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20-100 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำนำไปฉีดพ่นอย่าง สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคในส่วนบนของต้นปาล์มน้ำมัน”     คุณวสันต์ กล่าว