เลี้ยงแพะต้นทุนต่ำ อาชีพเสริมทำเงิน ที่สุพรรณบุรี

การเลี้ยงแพะสำหรับผู้คนทั่วไปอาจจะมองว่าต้องใช้ต้นทุนสูงในการเลี้ยง แต่ครั้งนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพามาทำความรู้จัก การเลี้ยงแพะแบบลดต้นทุน กับ คุณสมยศ กาละสอน หรือ คุณลุงแดง เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่บ้านท่าข้าม ตำบลหัวนา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากอาชีพหลักที่ทำงานบริษัทก่อสร้าง ทำให้มีรายได้เสริมมาเลี้ยงครอบครัวมากขึ้น

นั่งคุยสัมภาษณ์กับเจ้าของแพะ

แรกเดิมทีคุณลุงแดงได้สนใจการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม จึงได้ศึกษาก่อนที่จะมาเริ่มเลี้ยง พอศึกษาได้ในระดับหนึ่งแล้ว เขาจึงได้ทำการซื้อแม่แพะมา 1 ตัว ต่อมาแม่แพะได้คลอดลูกจึงได้ทำการเลี้ยงจนมีคนมาขอซื้อต่อในราคาที่สูง ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่าเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมคงจะมีรายได้ที่ดี

ปัจจุบัน นี้คุณลุงแดงเลี้ยงแพะมาเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว แพะส่วนใหญ่ที่เลี้ยงจะเป็นแพะพันธุ์บอร์ลูกผสม คุณลุงแดง บอกว่า แพะพันธุ์บอร์ลูกผสมจะมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก จึงเหมาะกับคนที่มีทุนน้อย ถ้าเป็นพันธุ์บอร์แท้จะมีราคาที่สูงกว่าพันธุ์บอร์ลูกผสม ส่วนเรื่องการเลี้ยงดูนั้นให้กินต้นกระถินเป็นหลัก

แม่แพะวัยโตเต็มที่

คุณลุงแดง ได้บอกกับทางเทคโนโลยีชาวบ้านอีกด้วยว่า พ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมผสมพันธุ์ต้องมีอายุประมาณ 8 เดือนขึ้นไปถึงจะพร้อมผสมพันธุ์ได้ ส่วนลูกที่ออกมานั่นถ้าเป็นตัวผู้ก็จะมีพ่อค้ามาขอซื้อต่อ ส่วนถ้าเป็นตัวเมียก็จะเก็บไว้ทำแม่พันธุ์ต่อไป ส่วนระยะในการตั้งท้องของแพะตัวเมียจะอยู่ที่ระยะเวลา 6 เดือน แต่ละสายพันธุ์จะออกลูกไม่เหมือนกัน บางสายพันธุ์ก็จะออกลูกตัวเดียวหรือบางสายพันธุ์ก็จะออกลูก 2 ตัวขึ้นไป ขึ้นอยู่กับบางสายพันธุ์

ในการเลี้ยงแพะนั้นจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ในการเลี้ยงดู เพื่อปล่อยแพะออกไปกินหญ้าตามธรรมชาติ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วแพะจะเกิดความเครียดได้ที่ต้องอยู่แต่ในพื้นที่ แต่สามารถทำพื้นที่ควบคุมได้ให้อยู่แต่ในบริเวณ เพื่อไม่ให้ตัวแพะนั้นเข้าไปทำลายพื้นที่ของเกษตรกรคนอื่นได้ถ้ามีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ใกล้ๆ

ลูกๆ แพะ

แน่นอนว่าแพะเป็นสัตว์ที่กินทั้งวันและกินเยอะ เพราะฉะนั้นจะต้องถ่ายเยอะด้วยเช่นกัน ดังนั้น คุณลุงแดงจึงมีวิธีการดูแลดังต่อไปนี้คือ ทำความสะอาดคอกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ มูลแพะยังมีประโยชน์อีกต่อการเกษตรคือเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย หลังจากที่ทำความสะอาดคอกแพะเสร็จแล้ว ก็จะมีการกวาดรวบรวมมูลแพะไว้ เนื่องจากว่าจะมีชาวบ้านมาซื้อต่อเพื่อนำไปหว่านโปรยหน้าดินเพื่อเป็นปุ๋ยให้กับหน้าดิน

การเลี้ยงแพะแบบปล่อยไปกินหญ้าตามธรรมชาติอย่างอิสระ หรือการเลี้ยงแบบระบบปิดก็ดี แน่นอนว่าจะต้องหนีไม่พ้นโรคต่างๆ เช่น โรคท้องอืด สาเหตุมาจากแพะเป็นสัตว์ที่กินเยอะและกินทั้งวัน อาหารที่กินเข้าไปบางทีก็ย่อยไม่ทันจึงทำให้ท้องอืด นอกจากที่กินเยอะแล้วบางครั้งอาจจะกินสัตว์จำพวกแมลงตัวเล็กๆ เข้าไปด้วย ซึ่งแพะเป็นสัตว์ที่กินแต่พืช เวลากินพวกแมลงเข้าไปแล้วกระเพาะก็ไม่สามารถย่อยสัตว์จำพวกแมลงนี้ได้

วิธีการรักษาฉบับของคุณลุงแดงก็คือ ฉีดยาแก้ท้องอืดจากสัตวแพทย์ หรือให้ตัวแพะเองกินยาแก้ท้องอืด เดือนหนึ่งคุณลุงแดงจะให้ยาถ่ายพยาธิ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้มีพยาธิในกระเพาะของแพะมากจนเกินไป และเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่จะตามมาอีกทีหลังได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ถ้าแม่แพะคลอดลูกออกมาถ้าตัวลูกนั้นเป็นตัวผู้ก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อไป

แม่แพะกับลูกแพะ

“ถ้าเราเลี้ยงตัวผู้ไว้ประมาณ 4-5 เดือน น้ำหนักของตัวลูกแพะก็จะอยู่ประมาณ 20 กิโลกรัม จะทำให้ขายได้ราคาที่ดีกว่า ซึ่งราคาขายตามท้องตลาดที่เขาขายกันก็จะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 130 บาท ถ้าเป็นตัวเมียสวยๆ หรือแพะสาว ก็จะขายอยู่ที่ราคาตัวละ 4,000-5,000 บาท” ทั้งนี้ ราคาไม่แน่นอนขึ้นลงตามท้องตลาด

สุดท้ายนี้ คุณลุงแดงอยากฝากถึงคนที่สนใจอยากเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมจริงๆ ว่า ถ้าต้นทุนมีน้อยก็ซื้อมาแค่ตัวเดียวหรือสองตัวก่อน ซื้อมาทดลองเลี้ยงดูก่อน ถ้ามั่นใจแล้วจึงค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ ซึ่งเดิมที คุณลุงแดงก็เริ่มจากครั้งละ 1-2 ตัว พอออกลูกออกหลานมาเราก็นำไปขายเพื่อนำมาพัฒนาต่อ โดยอย่ารีบร้อนไปลงทุนกับครั้งแรกเยอะ เพราะว่ายังไม่มีประสบการณ์ แต่ถ้าเลี้ยงได้มาพอประมาณหนึ่งแล้ว เริ่มจับทางได้แล้วว่าต้องไปทางไหนถึงจะทำการขยายออกไปต่อเรื่อยๆ

ลูกกับแม่แพะ

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม และอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ สามารถติดต่อได้ที่ คุณลุงสมยศ กาละสอน หรือ คุณลุงแดง ทางหมายเลขโทรศัพท์ 093-418-1670

………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2565