ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มะละกอเรดเลดี้ เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากไม่แพ้มะละกอฮอลแลนด์ ด้วยจุดเด่นคือให้ผลผลิตเร็ว ลำต้นสูง 60-80 เซนติเมตร ก็เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ผลผลิตมากกว่า 40-50 ผลต่อต้น ต้านทานไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคใบด่างวงแหวนได้ดี พื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์เรดเลดี้ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช กระบี่ และจังหวัดอื่นๆ
คุณเฉลียว มีทองจันทร์ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์นครศรีธรรมราช อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 8 ตำบลเสือหึง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าของสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกมะละกอเรดเลดี้เพาะเนื้อเยื่อ สร้างรายได้หลัก ด้วยจุดเด่นของสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตไว ทนต่อโรค และรสชาติความหวานที่ทำได้สูงถึง 15 องศาบริกซ์ ผสมผสานกับกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ต้องการของตลาด จนผลิตไม่ทันขาย
คุณเฉลียวเล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกมะละกอเรดเลดี้เพาะเนื้อเยื่อให้ฟังว่า ที่สวนมีจุดเริ่มต้นมาจากการทำเกษตรผสมผสานปลูกพืชผักและไม้ผลหลากหลายชนิด และต่อมาได้มีการขยับขยายพื้นที่นำมะละกอเรดเลดี้เข้ามาทดลองปลูกภายในสวน ตามคำแนะนำของกลุ่มเครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ว่ามะละกอสายพันธุ์นี้ปลูกแล้วได้ผลผลิตดีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดจึงตัดสินใจปลูกจำนวน 100 ต้น เพื่อทดลองผิดลองถูกในเรื่องของเทคนิคการปลูกและผลตอบแทนที่จะได้คุ้มค่าหรือไม่ เนื่องจากตนเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการปลูกมะละกอมาก่อน
“หลังจากที่ผมได้ลงมือปลูกมะละกอรุ่นแรกไป ก็ได้ผลตอบรับที่ดีมาก จึงได้มีการขยับขยายเพิ่มจำนวนการปลูกขึ้นเรื่อยๆ เป็นรุ่นที่ 2 ปลูกเพิ่ม 140 ต้น จนถึงปัจจุบันเริ่มปลูกรุ่นที่ 3 เพิ่มอีกจำนวน 220 ต้น รวมทั้งหมดตอนนี้ที่สวนผมปลูกมะละกอเรดเลดี้ทั้งหมด 460 ต้น บนพื้นที่เกือบ 5 ไร่”
จุดเด่นของมะละกอเรดเลดี้ของที่สวนสามารถผลิตได้ คือ 1. ได้ผลผลิตต่อต้นสูง 2. ความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15-18 องศาบริกซ์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 11 องศาบริกซ์ 3. ผิวของผลมันวาว เนื้อสีแดงสวย ยิ่งถ้าหากนำไปแช่ตู้เย็นแล้วนำมากินจะยิ่งได้กลิ่นหอมเพิ่มขึ้น 4. ทนทานต่อการขนส่งได้ดีกว่ามะละกอกินผลสุกหลายสายพันธุ์ 5. จำหน่ายได้ราคาสูงกว่ามะละกอพันธุ์กินผลสุกทั่วไป ซึ่งด้วยจุดเด่นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะประจำพันธุ์ที่ดีมาอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่บริเวณสวนมะละกอนี้ตั้งอยู่ในแนวพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ลักษณะดินเป็นดินเหนียว จึงสันนิษฐานว่าความอุดมสมบูรณ์ของดินน่าจะมีส่วนทำให้รสชาติและคุณภาพของผลผลิตออกมาดีด้วย
“เรดเลดี้” มะละกอกินผลสุก
อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่น่าสนใจ
ปลูกสร้างรายได้ไม่ยาก
คุณเฉลียว อธิบายว่า การปลูกมะละกอสำหรับตนเองนั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะด้วยปกติธรรมชาติของมะละกอมักจะมีปัญหาเรื่องของโรคเชื้อราที่มาพร้อมกับหน้าฝน หรือเพลี้ยที่มาพร้อมกับหน้าร้อน บวกกับพื้นที่ตรงนี้อยู่ติดกับแนวลุ่มน้ำปากพนัง ลักษณะเป็นพื้นที่ราบ มีสภาพเป็นดินเหนียว สิ่งที่ต้องคำนึงคือการเตรียมดินเตรียมพื้นที่ปลูกอย่างไรไม่ให้น้ำท่วมถึง วิธีการแก้ปัญหาอันดับแรกคือจะต้องยกแปลงปลูกเป็นหลังเต่า เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังช่วงที่ฝนตกหนัก พร้อมกับการทำคันกันน้ำ ซึ่งวิธีนี้ได้ผลดีจากการทดลองปลูกมะละกอรุ่นแรก ที่ผ่านพ้นมาได้ด้วยดีไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง
การเตรียมดิน จะมีการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ด้วยการนำปอเทืองมาปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดแล้วไถกลบ ยกร่องปลูกสูงประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี เว้นระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถว 2.50 เมตร อยู่ในระยะที่เหมาะสมต้นไม่เบียดกันจนเกินไป
การเพาะกล้า ใช้ต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อในการปลูก เป็นต้นกล้าที่สั่งมาจากฟาร์มที่ผลิตมะละกอจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเหตุผลของการเลือกปลูกด้วยต้นเพาะเนื้อเยื่อ เนื่องจากมะละกอสายพันธุ์นี้มีเมล็ดค่อนข้างน้อยไม่สามารถนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ต่อได้ และทำให้เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง จึงตัดสินใจเลือกต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อในการปลูก ข้อดีคือ ได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตไว และจะได้ต้นสมบูรณ์เพศ (หรือกะเทย) เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้นพันธุ์ค่อนข้างมีราคาสูง
การปลูก ใช้ต้นพ้นธุ์เพาะเนื้อเยื่อที่มีอายุประมาณ 3-4 เดือน หรือต้นกล้าที่มีความสูงประมาณ 15 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ปริมาณ 1/2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงแปลงปลูกได้เลย
การดูแลรดน้ำ ดูที่องค์ประกอบความชื้นของดินเป็นหลัก หากช่วงไหนสภาพอากาศปกติจะรดน้ำแบบวันเว้นวัน แต่ถ้าหากช่วงไหนแดดร้อนจัดช่วงนั้นก็ให้รดน้ำทุกวัน ผ่านระบบรดน้ำสปริงเกลอร์ และช่วงเวลาการให้น้ำที่ดีที่สุดคือช่วงเช้าถึงช่วงสายไม่เกิน 11 โมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่พืชกำลังสังเคราะห์แสง ใช้เวลาในการรดน้ำต่อครั้งประมาณ 15-20 นาที
การบำรุงใส่ปุ๋ย ทุกๆ 10 วัน โดยจะมีการปรับสูตรปุ๋ยไปตามช่วงอายุที่พืชต้องการธาตุอาหารไม่เหมือนกัน ใส่ในปริมาณไม่มาก เน้นการใส่บ่อยๆ ให้พืชค่อยๆ ดูดซึมปุ๋ยไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกเริ่มจากการใส่ปริมาณ 1/2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณการใส่ตามการเจริญเติบโต คือเมื่อต้นเริ่มให้ผลผลิตจะใส่เพิ่มขึ้นเป็น 1 กำมือ และใส่เพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 กำมือ ในระยะที่เริ่มให้ผลผลิตดก เพื่อให้มีสารอาหารเพียงพอไปหล่อเลี้ยงลูก จึงต้องมีการเพิ่มปริมาณปุ๋ยลงไปเพื่อให้ผลผลิตออกมาสมบูรณ์ ลูกไม่แคระแกร็น
“การใส่ปุ๋ย ในช่วงเดือนแรกจะเน้นใส่ปุ๋ยสูตรที่ตัวหน้าสูงๆ เช่น 25-7-7, 18-4-5 พอหลังจาก 1 เดือนไปแล้ว จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็นสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 จากนั้นอีกประมาณเดือนครึ่งจะเปลี่ยนให้สูตรใหม่เป็นสูตร 13-13-21 เพื่อบำรุงตาดอก เพราะเป็นช่วงที่ดอกกำลังสมบูรณ์ เริ่มติดผล และเมื่อต้นสมบูรณ์จากนั้นประมาณ 2-3 เดือน ก็ต้องมาดูอีกทีว่าต้นสมบูรณ์แข็งแรงไหม ถ้าแข็งแรงเราก็ใส่ปุ๋ยเร่งดอกนิดหนึ่งคือสูตร 8-24-24 2 เดือนใส่ครั้ง แล้วก็กลับมาใส่สูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ต่อเนื่องทุก 10 วัน เหมือนเดิม”
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง ศัตรูสำคัญของการปลูกมะละกอคือ เพลี้ยแป้ง ที่มักจะระบาดในช่วงที่อากาศร้อน และยิ่งถ้าในช่วงไหนอากาศร้อนมากๆ อาจส่งผลทำให้ดอกเพี้ยน มีผลต่อปริมาณผลผลิตที่น้อยลง ที่สวนจะมีวิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้โดรนพ่นน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ และปัญหาของเชื้อราที่จะเกิดในช่วงหน้าฝน จะป้องกันด้วยการฉีดพ่นสารป้องกันเชื้อราตามอาการที่เกิดขึ้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนที่ 7 แตกต่างจากการปลูกมะละกอทั่วไปที่ต้องใช้เวลาถึง 9 เดือนถึงเก็บผลผลิตได้ ปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นาน 2-3 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการจัดการดูแลเป็นองค์ประกอบ หากมีการดูแลจัดการดีผลผลิตจะเก็บเกี่ยวได้นานและเก็บเกี่ยวได้ต่อเนื่อง โดยการเก็บผลผลผลิตของที่สวนจะเก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ปริมาณผลผลิตในช่วงแรกจะยังไม่มาก แต่เมื่ออายุต้นมากขึ้นผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตาม
“ตอนนี้ผลผลิตที่ปลูกรุ่นแรกประมาณปีกว่า ปลูกจำนวน 100 ต้น เก็บผลผลิตได้ประมาณ 250-300 กิโลกรัมต่อ 100 ต้น เฉลี่ยน้ำหนักต่อผล 7-8 ขีด ถือเป็นไซซ์ที่กำลังพอดี ตลาดกำลังต้องการ ขายได้ราคาดี ตอนนี้ขายส่งในกิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนขายออนไลน์มีราคาตั้งแต่ 40-70 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า”
การตลาดกำลังไปได้สวย ผลผลิตไม่พอขาย
ถามถึงตลาดของมะละกอเรดเลดี้ตอนนี้เป็นอย่างไร คุณเฉลียว บอกว่า ตลาดยังสดใส และถือว่าเป็นผลไม้อันดับต้นๆ ที่ทำรายได้ของสวน โดยปัจจุบันตลาดส่งมะละกอของที่สวนหลักๆ คือ 1. ตลาดส่งประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ 2. พ่อค้าแม่ค้าประจำที่ และ 3. ตลาดออนไลน์ โดยที่สวนจะมีเทคนิคการขนส่งสินค้าที่ไม่ให้ผลผลิตช้ำหรือเสียหาย ด้วยการเลือกเก็บมะละกอที่ผิวมีแต้มสีเหลืองปรากฏอยู่บนผล หรือเรียกว่ามะละกอ 3 แต้ม จะไม่มีปัญหาเรื่องของการช้ำ แล้วจะใส่ตาข่ายโฟมกันกระแทกอีกชั้น ซึ่งการจะใช้เวลาในการขนส่งถึงปลายทางภายใน 3 วัน เมื่อถึงมือผู้บริโภคผลผลิตจะสุกพร้อมกินกำลังดี และผลจากการตั้งใจปลูกและดูแลมะละกอเหมือนลูก ยิ่งทำให้ผลผลิตของที่สวนเป็นที่ต้องการของลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งลูกค้าทางภาคเหนือและภาคอีสาน จากการบอกต่อปากต่อปาก เพราะปกติคนภาคเหนือและภาคอีสานจะไม่นิยมกินมะละกอเรดเลดี้ แต่ด้วยคุณภาพของผลผลิตที่เป็นตัวการันตีตัวเองอยู่แล้ว ส่งผลให้ตอนนี้มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
หากคิดเป็นรายได้ต่ออาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาท เมื่อเทียบกับต้นทุนการดูแลจัดการที่ไม่มีอะไรมาก เพราะการปลูกมะละกอจะใช้เงินลงทุนเยอะในช่วงแรก หากตัดค่าต้นพันธุ์ไป เหลือแต่ค่าปุ๋ย ค่าน้ำ คิดเป็นต้นทุนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ค่าแรงงานไม่ต้องเสีย ดูแลกันเอง 2 คน กับภรรยา เพราะในช่วงเริ่มต้นปลูกได้วางแผนไว้แล้วว่าจะเน้นปลูกในจำนวนที่สามารถดูแลกันไหว เนื่องจากการปลูกมะละกอเป็นงานที่ละเอียด หลักๆ ที่ต้องดูแลคือการกำจัดวัชพืชเพราะเรารดน้ำใส่ปุ๋ยบ่อย วัชพืชจะขึ้นเร็ว เพราะฉะนั้นต้องขยันตัดไม่งั้นวัชพืชจะมาแย่งอาหารของมะละกอ และต้องขยันตัดแต่งผล ไม่ให้ติดผลมากเกินไป จะทำให้มะละกอลูกผลเล็ก ขนาดไม่ได้มาตรฐาน คุณเฉลี่ยว กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 089-926-4629 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : Liew Meetongjun