ประธานภูมิภาคเอเชีย สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งโลกนานาชาติ เร่งผลักดัน มาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน

ในฐานะประธานภูมิภาคเอเชีย (Regional President of Asia) คนล่าสุดของสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ (International Federation of Beekeepers’ Association: Apimondia) สมาคมด้านผึ้งที่มีบทบาทสำคัญของโลก ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งและผู้จำหน่ายน้ำผึ้งกว่า 120 สมาคม ทั่วโลก รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี กล่าวว่า ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และอากาศเหมาะกับการทำเลี้ยงผึ้ง และผลิตน้ำผึ้งสูงเป็นลำดับ 36 ของโลก กลับมีรายได้จากการส่งออกน้ำผึ้งเพียงปีละประมาณ 600 ล้านบาท (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร, 2563) ขณะที่มูลค่าตลาดน้ำผึ้งโลก 5 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น มีข้อจำกัดของน้ำผึ้งไทย 2 เรื่องสำคัญคือ “มาตรฐานน้ำผึ้งสากล” และ “การสื่อสารเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ”

รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี

“เนื่องจากมาตรฐานน้ำผึ้งในระดับสากลที่ใช้กันในปัจจุบัน (Codex standard for honey) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งและผลิตน้ำผึ้งของประเทศผู้ผลิตและส่งออกในยุโรปและแอฟริกา ที่เป็นน้ำผึ้งจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (ผึ้งฝรั่ง) ขณะที่การเลี้ยงผึ้งของคนเอเชียรวมถึงในบ้านเรา มีปัจจัยหลายอย่างต่างออกไป ที่นอกจากจะมีความหลากหลายของชนิดผึ้งแล้ว (ประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อผลิตน้ำหวาน อย่างน้อย 6 สายพันธุ์) ยังมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศทั้งอุณหภูมิ หรือปริมาณแสง รวมถึงชนิดพันธุ์ของอาหารผึ้ง (ดอกไม้) ที่แตกต่างไป ทำให้น้ำผึ้งที่ได้ไม่ตรงตามมาตรฐานในหลายจุด เช่น สี ความเจือจาง ขณะเดียวกัน ในเชิงนโยบายประเทศไทยยังต้องสร้างกลไกความร่วมมือกันของกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งที่ใช้ได้กับทุกประเทศในแถบนี้”

ประชุมแสดงทิศทางของสมาคมและถอดบทเรียน โดย ประธานสมาคม Regional และ Scientific commission

ในด้าน “คุณค่าทางโภชนาการนั้น” รศ.ดร.อรวรรณ ในฐานะผู้บริหารของศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หน่วยงานที่มีการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ และมีการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยด้านผึ้งในหลายประเทศมากว่า 15 ปี กล่าวว่า แม้จะมีงานวิชาการที่ยืนยันมีคุณสมบัติอันโดดเด่นของน้ำผึ้งเขตร้อน ในการเป็นอาหารทางเลือก (functional food) หรืออาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) แต่ก็ไม่มีพลังที่จะสื่อสารสิ่งนี้ไปสู่การรับรู้ในระดับสากล

ดังนั้น 6 ปีต่อจากนี้ ในฐานะหนึ่งในทีมบริหาร Apimondia  ซึ่งเป็นสมาคมด้านการเลี้ยงผึ้งและธุรกิจน้ำผึ้งอันดับหนึ่งของโลกที่มีอายุกว่า 125 ปี (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1895) สิ่งที่ รศ.ดร.อรวรรณ ตั้งใจไว้ก็คือ การผลักดันให้เกิด “การสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน” และ “การสื่อสารคุณค่าของน้ำผึ้งเขตร้อน

BEESANC

รศ.ดร.อรวรรณ กล่าวว่า นอกจากมาตรฐานผึ้งเขตร้อนจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เลี้ยงผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง ชันโรง หรือฟาร์มผึ้งพันธุ์ฝรั่งของประเทศไทยแล้ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรในพื้นที่โดยรอบให้เหมาะสม โดยเฉพาะการทำการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ที่ลดการพาสารเคมีและยาฆ่าแมลง เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากจะลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตัวเกษตรกรแล้ว ผึ้งยังสามารถช่วยเพิ่มการติดผลของพืชเศรษฐกิจ อันหมายถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง