“ซินเจนทา”ดิ้นสูญพันล้านบ. รัฐเลิกยาฆ่าหญ้าพาราควอต

“ซินเจนทา” ดิ้นหลังรัฐสั่งยกเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า “สารพาราควอต” มูลค่านับพันล้านบาท สาธารณสุขแจงชัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกใช้นานแล้ว ด้าน “ไบโอไทย” เผยบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งเตรียมล็อบบี้กระทรวงเกษตรฯ ก่อนกฎหมายประกาศบังคับใช้ปี 2562

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ซึ่งมีหน่วยงาน 5 กระทรวงหลักเข้าร่วม ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัว โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถหายาถอนพิษได้ ที่ผ่านมา 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าพาราควอตมากถึง 128 บริษัท และคลอร์ไพริฟอสถึง 81 บริษัทนั้น

นายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการ กลุ่มบริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์อารักขาพืชหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสารเคมีเกษตร และธุรกิจเมล็ดพันธุ์ เปิดเผยว่า กรณีที่ภาครัฐมีนโยบายให้ยกเลิกสารอารักขาพืช คือสารพาราควอต ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือ ออกฤทธิ์ในการคุมฆ่าหญ้าทันที ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรอย่างแพร่หลาย และให้ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์มายาวนานกว่า 50 ปี จากการที่บริษัทได้พูดคุยกับเกษตรกรได้แสดงความห่วงกังวลว่า หากไม่มีสารพาราควอตใช้ จะกระทบโดยตรงแก่เกษตรกรทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะหากต้องใช้แรงงานคนในการถอนหญ้าจะเสียค่าใช้จ่ายต่อไร่สูง ทั้งยังมีปัญหาแรงงานขาดแคลน ทั้งนี้ หากหันไปหาสารทดแทนตัวอื่นก็ไม่คุ้มเพราะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าและต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าสารพาราควอต อย่างไรก็ตาม ปี 2559 ซินเจนทามียอดขายรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ปี 2560 คาดว่าจะมียอดขายรวมเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อน แบ่งเป็นยอดขายสารอารักขาพืช 70% ของยอดขายรวม และเป็นยอดขายสารพาราควอต 20% ของยอดขายรวม

“จากที่ได้พูดคุยกับเกษตรกรไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารพาราควอต เนื่องจากกลุ่มบริษัทซินเจนทาจัดอบรมการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้องปลอดภัยให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง สารพาราควอตเห็นผลเร็วกว่าสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่น และปลอดภัยสูงเมื่อใช้อย่างถูกต้อง และยังปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อสารพาราควอตตกถึงพื้น จะสิ้นฤทธิ์ จึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในดิน และสารพาราควอตสามารถดูดซับในดิน จึงไม่ละลายปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งยังมีราคาต้นทุนต่อไร่ถูกกว่าสารกำจัดวัชพืชอื่นประมาณ 6-7 เท่า ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวอ้างถึงผลข้างเคียงทางด้านสุขภาพต่อผู้ใช้สารพาราควอตนั้น ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้ และจัดให้พาราควอตอยู่ในกลุ่มสารที่ไม่อันตรายสูง ในขณะที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ยอมรับให้มีการใช้ในประเทศ โดยพาราควอตเป็นสินค้าที่เกษตรกรนิยมใช้มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี” นายธนัษ กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) กล่าวว่า เนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาภาคเกษตรไทย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมไทยยังขาดการรับรู้ความตระหนักร่วมกัน เมื่อจะมีการยกเลิกนำเข้าในปี 2562 สิ่งที่ต้องจับตาคือความโปร่งใสของบทบาทรัฐและบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยล่าสุดทราบว่าบริษัทเอกชนที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐการยกเลิกจำหน่าย นำเข้าสารพาราควอต จะเข้าพบเพื่อชี้แจงข้อมูลต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข แต่มูลนิธิขอตั้งข้อสังเกต 3 ประการ 1. เหตุใดจึงไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน 2. ความโปร่งใสของบทบาทของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ เหตุใดจึงไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณา จึงต้องไปหารือกับกระทรวงเกษตรฯ และ 3. บริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง ที่มีตัวแทนเป็นผู้นำตลาดสารกำจัดวัชพืชรายนี้อยู่สหภาพยุโรป แต่ขณะเดียวกันนโยบายของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปได้ยกเลิกการผลิตและจำหน่ายไปแล้ว อย่างไรก็ดี ทราบว่าเร็วๆ นี้คณะทำงานจะเชิญผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือถึงแนวทางก่อนที่ พ.ร.บ.จะออกประกาศในปี 2562

“เราเพียงตั้งข้อสังเกตต่อบทบาททั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการที่เข้ามาชี้แจง แต่เรื่องผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะด้านสุขภาพอาจเกิดพิษสะสมที่ก่อให้เกิดโรคตามมา ต้องให้หน่วยงานหลักสาธารณสุขเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่กระทรวงเกษตรฯ”

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ