เผยแพร่ | |
---|
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มะพร้าวกะทิเป็นที่ต้องการของตลาดมีแนวโน้มการขยายตัวของตลาดมะพร้าวกะทิสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากมะพร้าวกะทิเป็นมะพร้าวที่หายาก ส่งผลให้มีราคาสูงกว่ามะพร้าวธรรมดาหลายเท่าตัว ราคาที่เกษตรกรขายส่งหน้าสวนประมาณ 60-100 บาท ต่อผล ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผล เนื่องจากเนื้อกะทิมีลักษณะเนื้อหนา ฟู อ่อนนุ่ม รสชาติ หวานมัน อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ไขมันต่ำ ไฟเบอร์สูง และมีกรดลอริกสูงถึง 46%
อย่างไรก็ตาม โดยปกติในธรรมชาติไม่มีต้นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ เนื่องจากผลที่เป็นมะพร้าวกะทิไม่สามารถงอกได้โดยธรรมชาติ โดยในมะพร้าว 1,000 ลูก จะพบมะพร้าวกะทิเพียง 1-3 ลูก ทำให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งการขยายพันธุ์ต้องใช้คัพภะ (ต้นอ่อน ของพืช) ที่เพิ่งเริ่มพัฒนาตามธรรมชาติที่ถุงรังไข่ มาเพาะเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ เพื่อให้เกิดเป็นต้นพืชโดยตรงหรือไม่เกิน 0.3 เปอร์เซ็นต์ หากสามารถทำให้มะพร้าวทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรแบบก้าวกระโดดและสร้างความยั่งยืนในอาชีพ
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิโดยมี นายสมชาย วัฒนโยธิน ข้าราชการบำนาญ กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ริเริ่มการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงคัพภะ และเป็นผู้วางรากฐานในการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ และมี นางปริญดา หรูนหีม เป็นผู้วิจัยหลักในการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ร่วมกับนักวิจัยและทีมงานศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงไม่ต่ำกว่า 80 ผล/ต้น/ปี ขนาดผลไม่ต่ำกว่า 1,500 กรัม/ผล และมีผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิทุกผล โดยปลูกทดสอบมะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้ (NHK-C2) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงคัพภะของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ พันธุ์ชุมพร 84-2 (น้ำหอม x กะทิ) (NHK) ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิ ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และการเพาะเลี้ยงคัพภะของมะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้ (NHK-C1) จากต้นที่มีลักษณะที่ดีทางการเกษตร ผลผลิตสูงเป็นมะพร้าวกะทิทุกผล จากนั้นได้ดำเนินปลูกทดสอบมะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้ (NHK-C2) จำนวน 121 ต้น ระหว่างปี 2556–2565 ที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากผลการวิจัยปรับปรุงพันธ์ทำให้ได้มะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้ที่ให้ผลผลิตเร็ว ในช่วงอายุ 8-9 ปี พบว่าให้ผลผลิตเฉลี่ย 105 ผล/ต้น/ปี หรือ 2,310 ผล/ไร่/ปี ผลมีขนาดกลางถึงใหญ่ มีน้ำหนักเฉลี่ย 2,032 กรัม/ผล น้ำหนักเนื้อ 670 กรัม และความหนาเนื้อ 23.8 มิลลิเมตร ค่าความหวานของน้ำมะพร้าว 6.2 องศาบริกซ์ และผลผลิตทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิ ลักษณะเนื้อ สามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ เนื้อนิ่มไม่ฟู น้ำใส เนื้อฟูปานกลาง น้ำข้นปานกลาง และเนื้อฟูเต็มกะลา น้ำข้นเหนียว
จากการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 4 ปี พบว่า ต้นทุนการผลิตต่อไร่ของมะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้ คือ 9,393 บาท ต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 155,607 บาท ต่อไร่ ซึ่งมากกว่ามะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์ชุมพร 84-2 ที่มีผลตอบแทนสุทธิ 41,419 บาท ต่อไร่ ในขณะที่มะพร้าวแกงที่มีผลตอบแทนสุทธิ 8,362 บาท ต่อไร่ กล่าวคือ มะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้มีผลตอบแทนสุทธิสูงกว่า มะพร้าวลูกผสมกะทิ พันธุ์ชุมพร 84-2 ถึง 276 เปอร์เซ็นต์ และสูงกว่ามะพร้าวแกงถึง 1,761 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากราคาจำหน่ายมะพร้าวแกง 9 บาท ส่วนราคาจำหน่ายมะพร้าว กะทิ 80 บาท ดังนั้น การปลูกมะพร้าวกะทิจึงเป็นการสร้างรายได้แบบก้าวกระโดดให้กับเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางปริญดา หรูนหีม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช สุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 081-188-2217