11-17ก.ค.นี้เตรียมรับมือฝนตกหนัก-“กรมชลฯ”เขื่อนยังรับน้ำได้อีก3.3หมื่นล้านลบ.ม.

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วง 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 11 -17 กรกฎาคม 2560 จะมีฝนตกหนักในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แบ่งเป็น ช่วงวันที่ 11-13 กรกฎาคม มีฝนตกกระจายตัวประมาณ 40- 60 % ของพื้นที่ ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 กรกฎาคม มีฝนตกหนัก 60-70% ของพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มากกว่าปริมาณฝนตกในช่วงเดียวกันของปี 2559 ประมาณ 52%

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศ มีปริมาณน้ําใน 42,006 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ลบ.ม. หรือประมาณ 56% ของความจุอ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่รองรับน้ำฝนเพื่อกักเก็บไว้ใช้อีก 44% หรือประมาณ 33,208 ล้านลบ.ม. ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา 8,565 ล้านลบ.ม.หรือ 28 % กรมชลฯ จึงขอยันยันว่าจะมีน้ำให้เกษตรกรใช้ตลอดฤดูเพาะปลูกแน่นอน ส่วนปัญหาน้ำท่วมขังขณะนี้มีแค่บางพื้นที่เท่านั้น โดยพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรและพื้นที่ในกรุงเทพยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ และภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,636 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 26%มากกว่าปีที่ผ่านมา 3,000 กว่าล้านลบ.ม. แบ่งเป็น สิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การ 1,668 ล้านลบ.ม. หรือ 25% แควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำใช้การ 369 ล้านลบ.ม. หรือ 41% ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การ 353 ล้านลบ.ม. หรือ 37% และภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การ 2,226 ล้านลบ.ม. หรือ 23%

“ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีการระบายน้ำออกรวมกันวันละ 32 ล้านลบ.ม. แม้ช่วงนี้ฝนจะตกชุกอยู่ โดยเขื่อนภูมิพลต้องระบายน้ำจากท้ายเขื่อนวันละ 5 ล้านลบ.ม. เนื่องจากตั้งแต่จังหวัดตากลงไปยังต้องใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อทำการเกษตร เพราะพื้นที่เหล่านั้นไม่มีฝนตก ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ต้องระบายน้ำวันละ 10-20 ล้านลบ.ม. เนื่องจากต้องช่วยสนับสนุนน้ำด้านท้ายเขื่อนในจังหวัดอุตรดิตถ์ จนถึงพิษณุโลก”นายทองเปลว กล่าว

นายทองเปลว กล่าวว่า ขณะที่สภาพน้ำท่าทางตอนบนของประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ 993 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากมีฝนตก ประกอบกับมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลเข้ามาสบทบเพิ่มเติมบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 99 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้บริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มขึ้น กรมชลฯ จึงควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจาพระยา ให้ไม่เกิน 850 ลบ.ม.ต่อวินาที เนื่องจากช่วง 7 วันต่อจากนี้จะมีฝนตกเพิ่มลงมาอีก ซึ่งกรมชลฯประทานจะเร่งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังให้เตรียมรับมือ

นายทองเปลว กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก ประมาณ 40,000 ไร่ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ โดยจะเร่งระบายน้ำผ่านไซฟ่อนบางโฉมศรี พร้อมกับเดินเครื่องสูบน้ำปลายคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก2 (บางโฉมศรี) เพื่อเสริมการระบายน้ำอีก 18 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายออกมาจากทุ่งเชียงราก เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา