อดีตพนักงานประจำ สู่เจ้าของธุรกิจแพปู แนะเทคนิครักษาความสด จนถึงมือผู้บริโภค

ปูทะเล นับเป็นสัตว์นํ้าชนิดหนึ่งที่มีความสําคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นที่นิยมบริโภคโดยทั่วไปเนื่องจากมีรสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลผลิตปูทะเลส่วนใหญ่ได้จากการจับปูในธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะมีปริมาณลดลงไปทุกที เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งนํ้ากร่อย ป่าชายเลน และปากแม่นํ้าที่มีนํ้าทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้หรือเนินดิน บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะที่ชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลน หรือเลนที่มีป่าแสม และโกงกาง ตั้งแต่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนใน อ่าวไทยฝั่งตะวันตก ฝั่งอันดามัน

ปูทะเลเป็นสัตว์ออกหากินในเวลากลางคืน จะออกจากที่หลบซ่อนหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง และเข้าที่หลบซ่อนก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเพียงเล็กน้อย ดังนั้น แสงและอาหารจึงมีอิทธิพลต่อการปรากฏตัวอยู่ภายนอกที่หลบซ่อน

ปูทะเลกินพืชน้ำและสัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น หอยฝาเดียว หอยสองฝา กุ้ง ปู ปลา และเศษพืช ซึ่งปูจะชอบกินปูด้วยกันเองมากที่สุด

ปูทะเลเจริญเติบโตโดยอาศัยการลอกคราบ เนื่องจากกระดองของปูเป็นสารประกอบพวกหินปูนที่มีความแข็งแรงมาก จึงไม่สามารถยืดขยายตัวออกไปได้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ คือมีเนื้อแน่นเต็ม กระดองก็จะมีการลอกคราบ เพื่อขยายขนาด (การเพิ่มนํ้าหนักและขนาดตัว) โดยการสร้างกระดองใหม่มาแทนที่ ระยะเวลาในการลอกคราบของปูจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของปู

คุณฐิติรัตน์ แก้วสม

คุณฐิติรัตน์ แก้วสม หรือ คุณจ๋า อาศัยอยู่ที่ แพปูจ๋า เลขที่ 422/1 หมู่ที่ 1 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวแพปู ครบวงจร และร้านอาหาร บ้านปูจ๋า

คุณฐิติรัตน์ กล่าวว่า ตนเองทำธุรกิจแพปูมาได้ 10 ปีแล้ว เดิมทีก็เติบโตในครอบครัวชาวประมง แต่พอระยะเวลาผ่านไปเรียนจบแล้ว ก็ได้เข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งเป็นพนักงานประจำ

Advertisement

เมื่อระยะเวลาผ่านไปพอสมควร รู้สึกอิ่มตัวกับงานประจำที่ทำอยู่ ไม่มีเวลาพอที่จะดูแลคนในครอบครัวได้อย่างเต็มที่ เลยเริ่มมองหาอาชีพที่สามารถทำให้เป็นธุรกิจของตัวเอง เพื่ออยากอยู่กับครอบครัวและใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น เลยเริ่มมองหาจากสิ่งใกล้ตัว ก็คงหนีไม่พ้นอาชีพประมง เพราะเป็นอาชีพที่ครอบครัวเคยทำมา

เรามีความคุ้นเคยกับกุ้ง หอย ปู ปลา รู้จักวิธีการจัดการในทุกขั้นตอน รวมไปถึงการแปรรูป เพราะเป็นสิ่งที่เคยทำมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้มีประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแพปูจ๋า และมีแรงผลักดันจากครอบครัวที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้

Advertisement

ปูสดคัดไซซ์

คุณฐิติรัตน์ถือเป็นบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคนแรกๆ ในธุรกิจแพปู ของตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเทคนิคที่สามารถคงสภาพความสดของปูได้ดีที่สุด คุณภาพและมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย และรับประกันความสดของปูที่ลูกค้าจะได้รับ และยังเป็นการช่วยเหลือชาวประมงในการรับซื้อปู นำปูมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่มีราคาที่ดีอีกด้วย

คุณฐิติรัตน์ เล่าว่า ปูส่วนใหญ่จะเป็นปูธรรมชาติ เพราะเนื่องจากคนในพื้นที่รวมถึงคุณฐิติรัตน์ ก็เคยเพาะเลี้ยงปูเอง แต่อัตราการรอดน้อยมากไม่ถึง 5% ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการเพาะเลี้ยง ชาวประมงจึงนิยมออกไปจับปูธรรมชาติ

แต่ชาวบ้านตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการรณรงค์ไม่รับซื้อปูไซซ์เล็กและปูที่ติดไข่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ปูทะเลได้เติบโตและขยายพันธุ์ออกไป ซึ่งเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ปูเป็นสัตว์น้ำที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี อาจจะมีผลผลิตเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับฤดูผสมพันธุ์และวางไข่

ปูนึ่ง เตรียมเข้าห้องเย็น รักษาความสด 

ฤดูผสมพันธุ์และวางไข่

สําหรับฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลนั้น อยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม และพบแม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ปูดําจะมีไข่ชุกชุม ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และมีรายงานจากกรมประมงว่า ปูทะเลสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมที่สุดในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม

 การจับปูของชาวประมง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะใช้วิธีการจับปูธรรมชาติ 2 รูปแบบ คือการวางอวนปู และปูลอบ

การวางอวนปู เป็นอวนติดที่ คือจะมีสมอยึดทั้งสองด้านของอวนให้ติดอยู่กับที่ ให้กระแสน้ำพัดพาปูมาติดอวน ปูที่ได้มักจะเป็นปูม้าขนาดใหญ่ เพราะอวนปูจะมีตาอวนขนาดใหญ่ ทำให้ปูตัวเล็กจะไม่ติดอวน เป็นการจับปูแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ ในการออกวางอวนปูนั้นสามารถวางได้ทุกวันตลอดทั้งปี จะนิยมวางอวนในตอนเช้า และจะกู้อวนขึ้นมาในอีก 2-3 วัน เมื่อเก็บเอาปูออกจากอวนเสร็จ ชาวประมงก็จะเปลี่ยนที่วางใหม่หมุนเวียนต่อไป

การจับปูด้วยลอบ นิยมใช้ในการจับปูม้า โดยจะมีลอ หรือเรียกว่ากับดัก จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ใส่เหยื่อเข้าไป เหยื่อที่ใช้จะเป็นปลาขนาดเล็ก ลอบจะถูกนำมาวางลงในทะเล คล้ายกับการวางอวน เพื่อล่อให้ปูเข้ามาในลอบ เมื่อปูกินเหยื่อก็จะถูกจับไว้ในลอบ และลอบจะถูกยกขึ้นมาจากน้ำ ในอีก 2-3 วัน เมื่อเก็บเอาปูออกจากลอบเสร็จ ชาวประมงก็จะเปลี่ยนที่วางใหม่หมุนเวียนต่อไป

ห้องแกะเนื้อปู 

แนะเทคนิคคงสภาพความสดปู จึงถึงมือผู้บริโภค

คุณฐิติรัตน์ เล่าว่า ขั้นตอนแรกจะเริ่มจากการคัดไซซ์ปู แพปูจะเลือกเพียงไซซ์ใหญ่และไซซ์กลาง ไม่รับซื้อปูติดไข่ ปูเล็ก เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปูให้ได้ขยายพันธุ์และเติบโต เมื่อคัดไซซ์ปูแล้ว ภายใน 10 นาที หลังจากนั้นต้องทำการนำปูสดๆ มานึ่งทั้งหมด

เมื่อปูนึ่งสุกแล้ว จะถูกนำมาพักไว้เพื่อให้ปูคลายความร้อนออกมา สามารถพักไว้ในอุณหภูมิปกติ หรือจะนำพัดลมมาช่วยพัดคลายความร้อนก็ได้ เมื่อปูเย็นตัวลงแล้ว นำปูนึ่งทั้งหมดเข้าห้องเย็นเพื่อเป็นการรักษาความสดและคงสภาพไว้ รอไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือการนำมาแกะเนื้อปู

เนื้อปูก้อน

ห้องแกะเนื้อปูต้องสะอาด ปลอดภัย เพื่อคุณภาพที่ดีของปู จะมีการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องแกะปูทุกๆ สัปดาห์ พนักงานแกะปูมีเพียงจำนวน 20 คน เนื่องจากการแกะปูที่ให้ได้เนื้อสวยๆ จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีประสบการณ์ เพราะการแกะปูที่ให้ได้เนื้อสวยๆ ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย

ต้นทางการผลิตตั้งแต่เริ่มคัดไซซ์ปูจนจบวิธีการแกะเนื้อปู แพ็กเพื่อรอจัดส่งผู้บริโภค จะต้องใช้ระยะเวลาภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ปูถึงมือผู้บริโภคไวที่สุด ได้รับปูคุณภาพดี ที่มีความสดมากๆ

 

ตลาดปู เป็นตลาดที่ใหญ่

ตลาดค้าปลีก ตลาดค้าส่ง แต่ส่วนมากจะเป็นตลาดค้าส่งที่ซื้อจำนวนมากๆ มากกว่าฐานของลูกค้าเราหลักๆ ของแพปูจ๋า จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่รับแล้วไปส่งตามร้านอาหารและโรงแรม ทางแพปูจ๋าไม่ได้ทำการตลาดแบบเชิงรุกมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการพูดปากต่อปากของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าว่าสด คุณภาพดี

และนอกเหนือจากนั้น เรายังใช้วัตถุดิบที่เรามีมาใช้ในร้านอาหารของเราเอง ชื่อร้านอาหารบ้านปูจ๋า การที่ใช้วัตถุดิบของเราเองนั้น จะทำให้ต้นทุนไม่สูง ทำให้ราคาอาหารในแต่ละเมนู ไม่แพง สด สะอาด อร่อยกว่าที่อื่นๆ

ปูแพ็กเตรียมจัดส่งผู้บริโภค

ธุรกิจแพปูเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วมาก แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แพปูจ๋าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการขนส่ง ทำให้เกิดร้านอาหารบ้านปูจ๋า เพื่อช่วยชาวประมงรับซื้อของทะเลและสร้างอาชีพให้คนในชุมชน นำมาแปรรูปขายในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ปูเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่า สามารถสร้างรายได้ได้ทุกส่วน

“การเริ่มทำธุรกิจแพปูไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือ การจะทำอย่างไรที่จะให้วัตถุดิบมีคุณภาพมาตรฐานคงที่สม่ำเสมอ และต้องมีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา สิ่งที่สำคัญต้องมองภาพการทำงานให้รอบด้าน รวมถึงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติต่างๆ จะช่วยทำใหธุรกิจมีความมั่นคงไปอีกยาวนาน”

เมนูปูจ๋า
น้ำพริกจากเนื้อปู

สำหรับท่านใดที่สนใจวัตถุดิบจากปูในทุกๆ ส่วน, ร้านอาหารทะเลสดๆ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณฐิติรัตน์ แก้วสม โทรศัพท์ 082-691-9936 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก บ้านปูจ๋า

……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อ วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ.2566