สศก. ติดตามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ต่อเนื่อง เกษตรฯ พร้อมบูรณาการ

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนปฏิบัติงานด้านการเกษตรของโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ซึ่งโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติ ตามความสมดุลของระบบนิเวศ และพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชนนั้น

สศก. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ ปีงบประมาณ 2565 พื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และระยอง พบว่านอกจากสามารถช่วยแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าได้อย่างสมดุลแล้ว และยังช่วยด้านเศรษฐกิจ ให้เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกและการแปรรูปสมุนไพร เช่น แปรรูปน้ำพริกกระวาน น้ำมันหอมระเหย ลูกประคบสมุนไพรจำหน่าย เฉลี่ย 12,924 บาทต่อครัวเรือนต่อปี สามารถลดรายจ่ายจากการนำผลผลิตที่เพาะปลูกเอง เช่น ชะอม ตะไคร้ เห็ดนางฟ้า ขมิ้น กระชาย ทุเรียน เงาะ มาบริโภคในครัวเรือน เฉลี่ย 8,884 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และลดรายจ่าย โดยการใช้มูลสัตว์ทำปุ๋ยคอก และทำน้ำหมักชีวภาพใช้เองเฉลี่ย 3,853 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่ด้านสังคมมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการผลิตและการตลาด อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร กลุ่มปลูกผัก กลุ่มแปรรูปน้ำพริก เป็นต้น

จากการลงพื้นที่ของ สศก. ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 พื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยจัดเก็บข้อมูลจากเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ตัวอย่างรวม 51 ราย ในหมู่บ้านคชานุรักษ์ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอสอยดาว อำเภอเขาคิชฌกูฏ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ มักได้รับผลกระทบจากช้างป่าทำลายผลผลิต ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ทั้ง 8 หน่วยงาน ของกระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมให้การสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการปลูกพืชสมุนไพรที่ช้างไม่ชอบ เช่น กระชาย ไพล กระวาน ชะอม เป็นต้น เพื่อป้องกันการทำลายผลผลิตจากช้างป่า และให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตร มีการจัดทำแปลงเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ สนับสนุนพันธุ์โคเนื้อ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์และการตลาด อบรมให้ความรู้ด้านการสหกรณ์ แนะนำการทำบัญชีครัวเรือน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การปรับปรุงดินกรด/ดินเปรี้ยว และการผลิตกล้าหญ้าแฝก

ภายหลังที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการนำผลผลิตไปบริโภค เช่น พืชผัก พริก มะนาว ผักหวาน มะเขือ ชะอม ขมิ้น กระชาย ไก่ และปลา เฉลี่ย 5,200 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เช่น แปรรูปน้ำพริกกระวาน น้ำมันหอมระเหย ลูกประคบสมุนไพร เพาะเห็ดนางฟ้า จำหน่ายไข่ไก่ เฉลี่ย 6,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี อย่างไรก็ตาม พบว่าเกษตรกรบางส่วนยังขาดองค์ความรู้ในการปลูกพืชสมุนไพร และหน่วยงานไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานโครงการ ดังนั้น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรมีการส่งเสริมองค์ความรู้การปลูกพืชสมุนไพรแก่เกษตรกร ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตให้มากขึ้น และจัดทำคำของบประมาณสำหรับดำเนินงานโครงการไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีด้วย ซึ่ง สศก. มีแผนการติดตามโครงการ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว ในเดือนเมษายน 2566 โดยจะรายงานผลการดำเนินโครงการในระยะต่อไป