ผู้เขียน | ทิดโส โม้ระเบิด |
---|---|
เผยแพร่ |
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เผลอแป๊บเดียวเองย่างเข้าปลายปีอีกแล้ว วันเวลากลืนกินทุกสรรพสิ่งจริงๆ กระทั่งตัวเองก็ถูกกลืนกินไป มีคนอีกมากมายติดกับดักกับคำว่า “จะ” จนไม่ได้ลงมือ ครั้นจะลงมือทำก็จะหมดเวลาอยู่แล้ว ลองถามตัวเองสักนิดครับ เรายังอยากจะทำอะไรอีกไหม และพร้อมลงมือแล้วหรือยัง วันนี้ก็เป็นวันวานของพรุ่งนี้แล้วนะครับ อยากทำอะไรเร่งลงมือเถิด
ในพี่น้องเกษตรกรของเรา ไม่ว่าสภาพดินฟ้าอากาศจะเป็นเช่นไร เราก็ยังต้องทำมาหากินตามอาชีพของเรา บางคนทำเพราะชอบ เพราะรัก บางคนทำเพราะเป็นอาชีพเดียวที่ถนัด บางคนทำเป็นงานอดิเรก และมีอีกหลายคนทำเพราะเป็นกระแส แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อเราได้ก้าวเข้าสู่วงจรของเกษตรกรแล้ว ยากที่จะถอนตัวออกจากตรงนี้ได้
ลองหลับตาสิ แล้วนึกถึงต้นกล้าต้นแรกที่เราเพาะขึ้นมา เฝ้าถนอมดูแลจนเติบโต ในแต่ละวันคือพัฒนาการของต้นกล้าและตัวเรา ได้เรียนรู้กันไปตามวันเวลาที่เคลื่อนผ่าน หากประสบผลก็ถือเป็นชัยชนะ หากไม่ประสบผลก็ถือเป็นการเรียนรู้ให้เราได้จดจำว่าสิ่งที่ทำมาก่อนหน้านั้นยังไม่ถูกต้อง หากจะทำอีกครั้งก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ผมรู้จักสาว (เหลือ) น้อยนางหนึ่งครับ คุณมนธิตา อยู่หนู ที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อดีตเป็นพนักงานในบริษัท ชีวิตเวียนวนอยู่เหมือนหนูถีบจักร เช้ามาทำงาน ตกเย็นก็เลิกงาน สิ้นเดือนรับเงินเดือนเพื่อนำเงินนั้นไปซื้ออาหารหรือสิ่งของที่ต้องใช้ เฝ้าถามตัวเองเสมอว่า หากวันหนึ่งไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว ไม่ได้เป็นพนักงานที่นี่แล้ว ฉันจะไปทำอะไรที่ทำแล้วมีรายได้และมีความสุข โดยที่ความสุขนั้นต้องก่อเกิดรายได้ และรายได้นั้นก็ยังประโยชน์เพื่อเลี้ยงตัวเองและคนในครอบครัวให้เดินหน้าไปได้อย่างมีความสุข แต่ละคนก็คงมองไปในทิศทางที่ต่างกัน แต่กับเธอคนนี้เธอเลือกการปลูกผัก
“ถามจริงๆ ครับ ตอนทำงานบริษัทไม่ดีเหรอ”
“ดีค่ะ แต่เรากังวลหลายอย่าง ชีวิตตอนนั้นยอมรับว่าแม้รายได้จะดี แต่เราเองไม่มีความสุขมากกว่า”
“ประเด็นคืออะไรครับ”
“คิดไปถึงอนาคตค่ะ สักวันหนึ่งเราก็ต้องปลดระวางจากงานประจำ เราจะทำงานจนรอปลดระวางแล้วไปต่อไม่ไหวอย่างนั้นหรือ แก่ตัวแล้ว ไม่มีอาชีพได้ทำต่อ เราจะอยู่อย่างไร”
“แล้วที่เลือกปลูกผัก”
“เริ่มจากความชอบของตัวเองนี่เลยค่ะ ตั้งแต่ปี 2562 เริ่มปลูกผักสลัดอินทรีย์ไว้กินเอง ด้วยความเชื่อว่าเราปรุงดินเอง เพาะกล้าเอง ปลูก ดูแลเอง จะไม่ใช้เคมีในกระบวนการใดๆ”
“สำเร็จไหมครับ”
“ทุกอย่างออกมาสวยงามตามที่หวังเอาไว้เลยค่ะ ผักสวยงาม กินอร่อย สด สะอาด ปลอดภัยที่เรามั่นใจจริงๆ แต่อุปสรรคใหญ่ก็มีมาให้ตอบโจทย์อีกแล้ว”
“อะไรครับ”
“เราต้องอยู่กับแปลงผัก ต้องก้มๆ เงยๆ ลุกนั่งอยู่ตลอด ความปวดเมื่อยก็มาเยือน จึงต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงในการปลูกรอบต่อไป”
“จ้างเขาหรือทำเองครับ”
“ทำเองค่ะ ดูยูทูบบ้าง ดูเพื่อนๆ ในเฟซบ้าง ก็หันมายกพื้นปลูกทำเป็นแคร่ไม้ สำเร็จออกมาสวยงาม ปลูกผักได้ผลผลิตดี เราเองก็สบายๆ ด้วย แต่อยู่ได้ 6 เดือนแคร่ผุ ปลวกยกโขยงมาบุก”
“พับโครงการไปเลย”
“เปล่าค่ะ หาทางปรับแก้กันต่อไป”
จากการลงมือในปีแรก ปลูกผักกับแปลงบนดินมาถึงยกแคร่ไม้สำเร็จมาด้วยดี ก็มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะตอนนี้นอกจากจะปลูกกินเองแล้ว เริ่มมีลูกค้าจากชาวบ้าน จากเพื่อนในบริษัทเดิม จากเพื่อนในเฟซมาขอซื้อผลผลิต ก็เริ่มคิดปลูกขายอย่างจริงจัง คิดปรับปรุงโครงสร้างแปลงปลูกให้ใช้งานได้สะดวก มีอายุการใช้งานนานขึ้น ลดต้นทุนได้มากที่สุด ก็เลยมาลงตัวเป็นใช้เสาปูนทั้งหมด ใช้พื้นที่หลังบ้านประมาณ 1 งาน สร้างแปลงผักได้ 5 แปลง ปลูกหมุนเวียนสลับกันตลอด โดยอายุการปลูกผักสลัดในแต่ละรอบก็ประมาณ 30-35 วัน อาศัยการเพาะเมล็ด 5 วัน อนุบาลต้นกล้า 15-20 วัน มีการบำรุงดินและปรุงดินในทุกรอบการปลูก ทำให้ผลผลิตมีต่อเนื่องและสมบูรณ์ถูกใจผู้บริโภค
“เรียกว่าลองผิดมาก่อนจึงมาลองถูกจนถึงปัจจุบัน”
“ใช่ค่ะ การยกแปลงแบบนี้ทำให้เราทำงานได้ง่าย สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ ให้ปวดหลัง การกำจัดศัตรูพืชก็ง่าย เก็บเกี่ยวก็สะดวก เรียกว่าเป็นพื้นที่ๆ อยู่ได้ทั้งวันไม่มีเบื่อเลยค่ะ”
“ผลผลิตที่ได้และราคาขายเป็นอย่างไรครับ”
“ต่อแปลงก็ประมาณ 20 กิโลกรัมค่ะ เราขายราคาเดียวทั้งปีที่ กิโลกรัมละ 120 บาท”
“เรียกว่ามีกินมีขายอย่างสบาย แล้วรายได้มาจากแหล่งอื่นอีกไหมครับ”
“ที่นี่เราทำกล้าถาดขายด้วยค่ะ ถาดละ 200 บาท ในหนึ่งถาดก็มี 105 ต้น นำไปปลูกต่อได้สบาย และที่สำคัญที่นี่ยังมีผู้คนแวะเวียนมาแลกเปลี่ยนความรู้ จนเป็นรายได้อีกทางด้วยค่ะ”
“มีอบรมแบบนั้นเหรอครับ”
“มีเป็นคณะมาชมสวน มาขอเรียนแบบให้เราคิดเงินด้วยเลยค่ะ”
“คิดว่าทิศทางตลาดผักสลัดจะไปยังไงต่อครับ”
“เชื่อว่ายังไปได้เรื่อยๆ ค่ะ ในกลุ่มคนรักสุขภาพ ในกลุ่มคนชอบกินผักสลัด เพราะเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้ต้องผลิตตอบสนองความต้องการตลอดเวลา ที่สวนเราเองตอนนี้ก็มีคนติดต่อให้ปลูกส่ง แต่เราทำให้ไม่ได้เพราะแรงงานเรามีจำกัดค่ะ”
“หากมีคนสนใจอยากเรียนรู้ จะติดต่อยังไงครับ”
“โทร.มาได้เลยค่ะ 089-744-9592 ยินดีต้อนรับทุกท่าน”
เป็นอีกหนึ่งคนหนึ่งเรื่องราวที่ผมชื่นชมครับ มีความหวังและกล้าเดินไปตามทางเส้นนั้น ซวนเซไปบ้างแต่ไม่นานก็กลับมาเดินได้อย่างสง่าผ่าเผย เป็นเส้นทางแห่งอาหารเพื่อสุขภาพและความยั่งยืน มีเพื่อนในแนวทางเพิ่มมากขึ้น มีลูกค้าที่รอผลผลิตอยู่เสมอ มีรายได้ที่พอดูแลครอบครัว ที่สำคัญ มีความสุขในทางที่เลือกเดินเส้นนี้ ขอบคุณครับ…