มช. เพิ่มมูลค่ารำข้าว เพิ่มสารพฤกษเคมีและต้านอนุมูลอิสระด้วยไมโครเวฟ

รำข้าว เป็นผลพลอยได้จากการสีข้าว โดยเป็นส่วนที่ได้จากการขัดข้าวกล้องให้เป็นข้าวสาร ที่ผ่านมาจะนิยมนำมาเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นทั่วไปมีราคาถูก แต่จากการศึกษาของทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือ มช. ได้พบว่า รำข้าวยังเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าอีกนานับประการ อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทั้งครัวเรือนและในหลายอุตสาหกรรม ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น เพิ่มเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีของรำข้าวและธัญพืช ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย นางสาวภิรมณ ปอกกันทา (นักศึกษาระดับปริญญาเอก) นางสาวจิตรกัญญา ยืนยง (นักศึกษาระดับปริญญาเอก) รศ.ดร.สุกัญญา มหาธีรานนท์ และ ผศ.ดร.ภูมน สุขวงศ์ ร่วมกับ รศ.ดร.สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในหัวข้อ การใช้กรรมวิธีไมโครเวฟกับรำข้าวและผลที่มีต่อปริมาณสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Microwave Treatment of Rice Bran and Its Effect on Phytochemical Content and Antioxidant Activity)

การวิจัย การใช้กรรมวิธีไมโครเวฟกับรำข้าวและผลที่มีต่อปริมาณสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้ประสบความสำเร็จ ได้วิธีการที่ช่วยลดการเหม็นหืน พร้อมได้ปริมาณของสารพฤกษเคมีที่ศึกษา และการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของรำข้าวสูงขึ้น ผลงานความสำเร็จนี้ จึงเป็นการสร้างประโยชน์ต่อการนำมาประยุกต์ใช้ทั้งครัวเรือนและหลายอุตสาหกรรมที่ใช้รำข้าวได้ในอนาคต

ทั้งนี้ กระบวนการนั้น ทางทีมนักวิจัยได้อาศัยการวิเคราะห์หลักโดยใช้เทคนิคยูวี-วิส สเปกโตรสโคปี (Uv-vis spectroscopy) อาศัยหลักการการดูดกลืนแสงที่อยู่ในช่วงอัลตราไวโอเลตและวิสิเบิล สำหรับการวิเคราะห์การออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การวิเคราะห์ปริมาณฟลาโวนอยด์ และการวิเคราะห์ปริมาณฟีนอลิกรวม และยังใช้การวิเคราะห์สารโดยเทคนิคโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (High Performance Liquid Chromatography (HPLC)) อาศัยความแตกต่างของอัตราการเคลื่อนที่ของสารประกอบที่ผ่านไปในคอลัมน์ โดยการพาของเฟสเคลื่อนที่ภายใต้ความดันสูง สำหรับการวิเคราะห์ปริมาณโทคอล แกมมา-ออไรซานอล สควอลีน ไฟโตสเตอรอล และกรดฟีนอลิก

Advertisement

การศึกษานี้ ได้รายงานผลของกรรมวิธีทางไมโครเวฟโดยใช้เตาอบไมโครเวฟสำหรับครัวเรือนต่อฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารพฤกษเคมีที่สำคัญในรำข้าวที่มาจากข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยมีจำนวนสารสำคัญที่วิเคราะห์หลากหลายที่สุด มากถึง 30 ชนิด

อีกทั้งยังพบว่า เมื่อรำข้าวผ่านกระบวนการทำเสถียรเพื่อลดการเหม็นหืนโดยกรรมวิธีนี้ ทำให้ปริมาณของสารพฤกษเคมีที่ศึกษา และการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของรำข้าวสูงขึ้น โดยสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการใช้เตาไมโครเวฟในการเตรียมรำข้าวที่ได้จากการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาประยุกต์ใช้ทั้งครัวเรือนและหลายอุตสาหกรรมที่ใช้รำข้าวเป็นองค์ประกอบ เช่น การผลิตน้ำมันรำข้าวเพื่อใช้สำหรับการปรุงอาหาร การผลิตอาหารเสริม ยา และเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง เป็นต้น

Advertisement

ผลของการทำวิจัยครั้งนี้สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่วงการการศึกษา เนื่องด้วยกรรมวิธีทางไมโครเวฟเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานน้อย ประหยัดเวลา และสะดวกในการใช้งาน อีกทั้งผลจากการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญของรำข้าวที่มาจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารพฤกษเคมีและการประยุกต์ใช้เชิงสุขภาพของรำข้าวชนิดนี้ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports จากสำนักพิมพ์ Nature Portfolio ปีที่พิมพ์ 2022 เล่มที่ 12 วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สำหรับการต่อยอดเพื่ออนาคตนั้น ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เพื่อคุณประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะคนไทยที่มีการผลิตและบริโภคข้าวเป็นหลัก ได้ใช้ประโยชน์ต่อการสร้างอาชีพและรายได้ ศึกษาวิจัยในหัวข้อ การใช้กรรมวิธีไมโครเวฟกับรำข้าวและผลที่มีต่อปริมาณสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงเป็นหนึ่งงานวิจัยที่สร้างประโยชน์อย่างมาก ทำให้รำข้าวที่เป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวที่มูลค่าน้อยสามารถนำไปต่อยอด เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มได้ และที่สำคัญ ยังทำให้ผู้บริโภคได้คุณค่าทางสารอาหารและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอย่างสูงสุด ปลอดภัย

………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566