“กล้วย” กับ พิธีกรรมความเชื่อ

ในเอเชีย กล้วย เป็นสัญลักษณ์แห่งจริยธรรม คุณความดี ความงาม ความเจริญงอกงาม

หลายประเทศในเอเชียถือว่า กล้วยเป็นผลไม้สำหรับเซ่นสังเวยผีและเทวดา และมีความเชื่อลึกๆ ว่า กล้วยเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตและการเจริญเติบโต

ในหมู่ชาวอาหรับ ถือว่ากล้วยเป็นพันธุ์ไม้แห่งสวรรค์ หรือ พันธุ์ไม้แห่งปัญญา ที่รู้แยกแยะความดีกับความเลว

ตำนานอินเดีย ถือว่า กล้วยเป็นผลไม้ของผู้มีปัญญา โดยเล่าขานถึงฤาษีในดงกล้วย ผู้กินกล้วยเป็นอาหาร จนเกิดกำลังและปัญญาเป็นที่อัศจรรย์

ความเชื่อเรื่องกล้วยของคนไทยมีอยู่มาก เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนาน มีความผูกพันในวิถีชีวิตของคนไทย คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากกล้วย นอกจากบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งในชีวิตประจำวันด้วย

ในพิธีทางศาสนา เช่น การเทศน์มหาชาติ การทอดกฐิน มักใช้ต้นกล้วยประดับธรรมาสน์และองค์กฐิน

ในพิธีตั้งขันข้าว หรือค่าบูชาครูหมอตำแย สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และไปขอให้หมอตำแยทำคลอดให้ จะต้องใช้กล้วย 1 หวี พร้อมทั้งข้าวสาร หมากพลู ธูปเทียน สำหรับการทำพิธีบูชาครูก่อนคลอด และเมื่อคลอดแล้วจะต้องอยู่ไฟ ก็ยังใช้ต้นกล้วยทำเป็นท่อนล้อมเตาไฟ ป้องกันการลามของไฟ

ในพิธีทำขวัญเด็ก เมื่อเด็กอายุได้ 1 เดือน กับ 1 วัน มีการทำขวัญเด็กและโกนผมไฟ จะมีกล้วย 1 หวี เป็นส่วนประกอบในพิธีด้วย

ในพิธีแต่งงาน มักมีต้นกล้วยและต้นอ้อยในขบวนขันหมาก พร้อมทั้งมีขนมกล้วย และกล้วยทั้งหวี เป็นการเซ่นไหว้เทวดาและบรรพบุรุษ ซึ่งกล้วยในพิธีแต่งงาน ยังมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง และความสงบร่มเย็น

หน่อกล้วย ในพิธีแต่งงาน หมายถึงความเจริญงอกงาม การขุดต้องให้ติดรากหรือมีตา และเลือกเอาต้นหรือหน่อที่สมบูรณ์ โดยขุดมาเป็นคู่ นำมาประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีให้ดูสวยงาม ซึ่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องปลูกร่วมกัน คล้ายกับเป็นการเสี่ยงทานอย่างหนึ่ง หากต้นกล้วยเจริญเติบโตออกดอกออกผลสมบูรณ์ และต้นอ้อยเติบโตหอมหวาน เชื่อกันว่าความรักของหนุ่มสาวคู่นี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ความรักจะสดชื่นหอมหวานอยู่มิรู้คลาย ฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจก็สมบูรณ์พูนสุข

ในการปลูกบ้าน เมื่อมีพิธีทำขวัญยกเอก จะใช้หน่อกล้วยผูกมัดไว้ที่ปลายเสาร่วมกับต้นอ้อย และเมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการลาต้นกล้วยและต้นอ้อยนั้น นำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จากนั้นประมาณ 1 ปี หรือเมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วพร้อมอาศัยอยู่ ก็มีกล้วยไว้กินพอดี

พอถึงคราแยกเรือน ยกเสาเอก ก็ใช้กล้วยในพิธีทำขวัญเสาเอก ทั้งยังเป็นเครื่องสังเวย พอถึงคราวตายใบตองส่วนหนึ่งของต้นกล้วยก็จะถูกนำมาพับเป็นกรวย ใส่ธูปเทียนลาตาย พอนำศพลงโลง พื้นโลงก็ต้องรองด้วยใบกล้วยอีกด้วย

ในงานศพสมัยโบราณ มีการนำใบตองมารองศพ ก่อนนำศพวางลงในโลง นอกจากนี้ใบตองยังมีบทบาทสำคัญมากในพิธีกรรมต่างๆ โดยการนำมาทำกระทงใส่ของ ใส่ดอกไม้ และประดิษฐ์เป็นกระทงบายศรี กาบกล้วยแห้งใช้ทำเชือก กาบสดใช้สำหรับการแทงหยวกประกอบเมรุในการฌาปนกิจศพ

ศิลปะการแทงหยวกไว้ที่เชิงตะกอนเวลาเผาศพ ส่วนใหญ่ใช้กาบกล้วยตานี เพราะกาบกล้วยตานีขาวสะอาด ทำให้หยวกที่แทงมีลวดลายสวยงาม งานแทงหยวกเป็นงานที่ต้องทำหลายคนแล้วนำมาประกอบกัน โดยช่างผู้ทำต้องสลักเป็นลายไทยต่างๆ เช่น กระจังตาอ้อย กระหนกเปลว ครีบสิงห์ แข้งสิงห์ รักร้อย และเครือเถา

ภาคอีสาน ใช้กล้วยทั้งต้นมาทับโลงศพลนกองฟอน (เชิงตะกอน) เรียกว่า ไม้ข่มเหง

ในชีวิตประจำวัน ใช้ใบตองในการห่อผักสดและอาหาร เนื่องจากใบตองสดมีความชื้น ดังนั้น เมื่อใช้ห่อผักสดหรืออาหาร ความชื้นจะช่วยรักษาผักหรืออาหารให้สดอยู่เสมอ นอกจากนี้ใบตองยังทนทานต่อความเย็นและความร้อน ดังนั้น เมื่อนำใบตองมาห่ออาหารแล้วนำไปปิ้ง นึ่ง ต้ม ใบตองก็จะไม่สลายหรือละลายเหมือนเช่นพลาสติก จึงมีอาหารหลายอย่างที่ห่อใบตองแล้วนำไปนึ่ง เช่น ห่อหมก ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมใส่ไส้ หรือนำไปปิ้ง เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง หรือนำไปต้ม เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวต้มจิ้ม อาหารเหล่านี้ เมื่อนำไปต้ม ปิ้ง หรือนึ่งแล้ว ยังทำให้เกิดความหอมของใบตองอีกด้วย

สำหรับใบตองแห้งนำมาใช้ทำกระทงเพื่อใส่อาหาร ห่อกะละแม มวนยาสูบ โดยใบตองแห้งก็มีกลิ่นหอม เช่นกัน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการทดลองนำเอาใบตองแห้งมาอัดกันแน่นหลายๆ ชั้น ทำเป็นภาชนะใส่ของแทนการใช้โฟมได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ใบตองยังมีบทบาทสำคัญมากในพิธีกรรมต่างๆ โดยการนำมาทำกระทงใส่ของ ใส่ดอกไม้และประดิษฐ์เป็นกระทงบายศรี วัยหนุ่มอายุครบบวช ใบตองจากต้นกล้วยก็จะนำมาใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ หรือขวัญนาค และเมื่อลาสิกขา

ในหญิงมีครรภ์ ไม่รับประทานกล้วยแฝด เพราะมีความเชื่อว่าจะได้ลูกแฝด แต่ถ้าบ้านไหนอยากได้ลูกแฝดก็รับประทานกล้วยแฝด สำหรับหญิงแม่ลูกอ่อน ถ้ารับประทานแกงหัวปลี จะมีน้ำนมมาก ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว หัวปลีเป็นพืชที่มีธาตุเหล็กสูง บำรุงเลือดดี จึงทำให้มีน้ำนมมากนั่นเอง

ต้นกล้วยที่ขาวเนียนสะอาด ไม่มีกาบใบแห้ง มักเชื่อว่า เป็นที่สิงสถิตของนางพรายตานี เป็นผีผู้หญิง ที่มีหน้าตาสวยงาม ผิวขาว จะปรากฏตัวตอนกลางคืน โดยยืนอยู่ใต้ต้นกล้วยนั้นๆ

ในสมัยก่อน คนที่เป็นโรคฝีดาษ มีแผลพุพอง ก็มักให้นอนบนใบตอง เพราะจะทำให้น้ำเหลืองไม่ติดกับเสื้อผ้าบังเกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย ส่วนการประหารชีวิตนั้น ก่อนลงมือประหารจะมีการนำใบตองมาปูรองก่อน เพื่อกันเลือดไหลลงดิน

ในด้านยาอายุวัฒนะ หากนำกล้วยแช่น้ำผึ้งปิดไห แล้วใช้ปูนแดงทาก่อนฝาปิด จากนั้นนำไปไว้ใต้ฐานพระในวันเข้าพรรษา ปล่อยไว้นาน 3 เดือน ก็สามารถนำมารับประทานได้ ทั้งนี้ เป็นแนวคิด ด้านการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่งด้วย

งูแพ้เชือกกล้วย เชื่อสืบต่อกันมาว่า เชือกกล้วยที่ทำจากกาบกล้วยตากแห้ง ถ้าทำเป็นบ่วงคล้องคองูหรือนำมามัดงู จะทำให้งูตัวอ่อนและหมดแรง ยอมให้ลากไปโดยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งูเขียวกับงูเหลือม

สำหรับคนที่ถืออาคมขลัง จะมีข้อห้ามไม่ให้ลอดต้นกล้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นกล้วยที่กำลังมีผลออกเป็นเครือและมีใบตองกล้วยงำเครือ เพราะเชื่อว่าอาคมจะเสื่อมถอย

ผลกล้วยแก่ที่จะนำไปบ่มให้สุก ท่านให้ไหว้วาน “แม่มาน” คือ คนท้องแก่มาลูบคลำก่อนนำไปบ่ม เชื่อว่าผลกล้วยนั้นจะสุกเหลืองงามน่ารับประทาน

ในสังคมไทย กล้วยยังถูกใช้เชิงเปรียบเทียบ แสดงถึงคุณลักษณะทำได้ง่าย เช่น ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก หรือ เรื่องกล้วยๆ