ผู้เขียน | เมย์วิสาข์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ Burmannia coelestris D. Don
ชื่อวงศ์ BURMANNIACEAE
ชื่ออื่นๆ ดอกดิน (ภาคกลาง) หญ้าแลไข่กา, จำปีบะ (อุบลราชธานี) กล้วยเล็บมือนาง (ชุมพร) หญ้าหนวดเสือ (สุราษฎร์ธานี) เลื้อมนกเขา หญ้านกเขา
“มิใช่ดอกฟ้าสุดาสวรรค์ มิใช่แจ่มจันทร์พิมานแดนใดได้ แต่เป็นหญิงที่มีจิตใจมั่นคง แจ่มใสเหมือนเช่นคุณ มิใช่นางหงส์อ่าองค์สะคราญ สิงสู่สถานแห่งเนื้อนาบุญ ปรารถนาก็มีเหมือนคุณ หวังความเกื้อกูลหวังความอุ่นใจ หากเป็นเช่นดอกฟ้า คงคู่นภา มิมาเคียงใกล้ คงเคียงคู่หมู่ดาวไสว เคียงคู่ไฉไลแห่งรัชนี แต่ฉันก็เป็นเพียงหญิง ใจมั่นรักจริงฝังในฤดี เพียงคุณเอ่ยเปิดเผยวจี มอบใจภักดี นี้ให้กับคุณ”
บทเพลงแทนความรู้สึกของ “หญิง” ที่ทั้งรักทั้งชอบเพลงบทนี้อย่างสุดซึ้ง เพราะตรงใจ ถ่อมตัวสำนึกว่าตนคือใคร ชั้นสกุลใด แม้จะมีชื่อเรียกขาน เป็นดาวจรัสฟ้า คู่เวหากับดวงจันทร แต่ก็มิอาจเอื้อมยอมรับโดยตรง ยังเตือนตัวตนว่าเป็นเพียงหญิงที่มีใจรักจริง รอรับคำเปิดใจส่งรักมาด้วยวจีที่จะรับไว้ด้วยใจภักดีกับคุณคนนั้น
อยากจะขอเชิดชูครูเพลง ทั้งท่านผู้ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง คือ ครูเนรัญชรา และท่านผู้ขับร้อง คือ คุณสวลี ผกาพันธุ์ ซึ่งอายุเพลงนี้ ก็มากกว่า 60 ปีแล้ว แต่ความซาบซึ้งยังมีความหมายความไพเราะเยี่ยมยิ่ง เช่นเดียวกับชื่อเพลง ว่า “ดอกฟ้าผกาดิน” จึงเหมือนกับชีวิตของ “หญิง” ที่เบ่งบานจากพื้นดินแหล่งหล้า แล้วเข้าสู่เขตรั้วริมวัง กลายเป็น “ดอกฟ้า” ด้วยพระบารมี เป็น “บุปผางามนามพระราชทาน” จากสมเด็จพระพันปีหลวง พระราชทานชื่อว่า “สรัสจันทร”
แม้ว่าหญิงจะเป็น “บุปผาราชินี” ด้วยได้รับพระราชทานชื่อมานี้ แต่หญิงไม่เคยลืมชื่อเดิมๆ ของตัวเอง ที่อยู่กับพื้นหญ้าท้องนาพื้นบ้าน ที่เด็กๆ ชาวบ้านวิ่งเหยียบย่ำหรือเด็ดดอกฟาดปาเล่นกัน จะเห็นว่าเป็นชื่อเรียกของชาวบ้านท้องถิ่นจริงๆ เพราะเรียกกันว่า ดอกดิน หญ้านกเขา หญ้าแลไข่กา แม้แต่หญ้าหนวดเสือก็เรียกกัน จึงเห็นว่าต่างกันลิบลับกับชื่อพระราชทาน เป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง ที่ดอกหญ้าสามัญ อย่าง “หญิง” อยู่ในสายพระเนตรเป็นหนึ่งใน “พรรณไม้ทรงโปรด” ซึ่งคงจะทราบกันโดยทั่วไปว่า พรรณไม้ที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตตั้งชื่อ ตามพระนามาภิไธย หรือพระอิสริยยศ โดยมีนักพฤกษศาสตร์ไทยและต่างชาติขอพระราชทานในหลายโอกาส รวมทั้งดอกไม้ที่เกิดในทุ่งหญ้า ป่าเขาธรรมชาติ หรือเป็นพรรณไม้ประจำถิ่นหายาก เมื่อทอดพระเนตรเห็นตามเส้นทางเสด็จเยี่ยมราษฎร หลายชนิดพรรณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม เช่น มณีเทวา ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กล้วยไม้นิมมานรดี โมกราชินี มหาพรหมราชินี ทิพเกสร และ “สรัสจันทร” คือหญิงนี่แหละเจ้าค่า
หญิงถูกจัดในกลุ่มพืชหายาก หากไปที่ผืนป่า ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ช่วงปลายฝนต้นหนาว ก็จะเห็นชูช่อพลิ้วไหวตามสายลมขับผสานเสียงนกและสายหมอก เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก 10-30 เซนติเมตร ดอกสีชมพู-ม่วงอมฟ้า ส่วนปลายกลีบดอกมีสีเหลือง หรือครีม ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด โดยธรรมชาติก็พบตามบริเวณทุ่งหญ้า ชายป่าโปร่ง พบทั่วไปในภาคอีสาน ที่เขาใหญ่ นครราชสีมา แต่หากเป็นช่วงต้นฤดูหนาว ก็มีคนนำมาขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับจตุจักรด้วย จะเห็นลำต้นเล็กเรียวและบอบบาง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเป็นกระจุก ส่วนบริเวณโคนต้นมีใบย่อยขนาดเล็กมาก แต่ตามข้อส่วนบนมีใบเกล็ดขนาดเล็ก 2-3 ใบ
ฐานใบสอบขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก ดอกย่อย 2-6 ดอก เป็นช่อชูตั้งกลีบรวมเชื่อมเป็นช่อติดเป็นหลอดสั้น ดอกย่อยมี 3 ครีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน เกสรเพศเมีย มีก้านชูเกสร 1 ก้าน ผลแห้งรูปใข่ ภายในมีเมล็ดเล็กๆ จำนวนมาก แต่ไม่แตกเมื่อแก่ ใช้ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือแยกกอ ชอบดินสภาพชุ่มน้ำ หรือพื้นที่แฉะตื้นๆ จะเห็นดอกงามประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม สีสดเข้มประดับทุ่งหญ้าโปร่ง เป็นดาวประดับดินโดยธรรมชาติ เป็นดอกไม้ป่าที่ยังไม่มีใครนำมาปลูกเลี้ยงมากนัก แต่กระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยธรรมชาติมักจะพบขึ้นรวมกันเป็นทุ่งบนลานหิน ที่มีแสงแดดตลอดวัน และชอบที่มีน้ำท่วมขังหรือชายน้ำ แต่ถ้าใครมีโอกาสไปถึงพื้นที่หรือป่าธรรมชาติใกล้กับพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ก็จะพบหญิงได้ เห็นมั้ยหละหญิงก็อยู่ใกล้วังเหมือนกัน
หญิงภูมิใจมากแม้จะเป็นดอกไม้ป่า ก็เป็น 1 ใน 5 ชนิด ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานชื่อไว้ นอกจากความภูมิใจในพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อแล้ว ก็ยังได้เป็น “หมอยาสมุนไพร” สรรพคุณยาพื้นบ้านอีสาน โดยใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิตหลังการอยู่ไฟ ผสมน้ำผึ้งปรุงปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานแก้อัมพฤกษ์อัมพาต หรือนำมาต้มเป็นยาอายุวัฒนะบำรุงกำลัง หรือใช้ทั้งต้น มาขยำตำแล้ววางไว้ที่เล็บมือ ช่วยแก้โรคเล็บออกดอก หรือที่รู้จักกันว่า “โรคเล็บขาวซีด” เรียกว่าไม่ใช่สวยแต่รูป แต่ยังจูบหอมด้วย หน้าหนาวนี้คงจะได้เจอกับชาวบ้าน หรือนักท่องเที่ยวธรรมชาติมาเยี่ยมชม แล้วหญิงก็คง…คงถูก “เด็ดดอกดม” อีกแน่เลย คิดแล้วก็…สยิววว!
สิ่งที่หญิงดีใจมาก สำหรับสำหรับปี 2565 นี้คือการได้มีโอกาสส่งท้ายปีเก่า แล้วได้ส่งใจอำนวยพรต้อนรับปีใหม่สู่ทุกท่าน ที่เป็น FC หญิง ร่วมรับ ศุภดิถีปีใหม่ 2566 นี้ ด้วยขอให้ทุกท่านสดใส สดชื่น เหมือนหญิงที่ได้รับหยดน้ำค้างบริสุทธิ์ และอุ่นไอแดดยามเช้า เบ่งบานสู้แดดลม ได้ตลอดวันตลอดไป เป็นวัฏจักรแห่งความเจริญงอกงามยั่งยืนทุกรอบปี และยิ่งดีใจมากที่มีคนเขียนบทกลอนถึงหญิง บอกความเป็นตัวตนที่หญิงมีความสุขมาก จึงขอแบ่งความสุขนี้สู่ทุกท่าน ถือเป็นบทกลอนสวัสดีปีใหม่รับลมหนาวจาก “หญิง” นะคะ
“สรัสจันทร” พลิ้วลม ชวนชมนัก ดุจวงพักตร์ จันทรา สง่าศรี
เกิดบนดิน ถิ่นป่า ไร้ราคี แต่ศักดิ์ศรี เทียบเขต นิเวศน์วัง
หนาวน้ำค้าง หรือลมหนาว ไม่ร้าวจิต แม้ต้นน้อย ก้านนิด ไม่ผิดหวัง
จากดอกหญ้า เป็นดอกฟ้า ผกาวัง รับนามตั้ง ชื่อใครเห็น เป็นจันทรา.!