ต้องเริ่มเพื่อรอด เมื่อรอดแล้วค่อยคิดเรื่องจะรวย

ในตอนนี้ ก็จะเป็นอีกตอนหนึ่งที่จะกล่าวถึงการทำเกษตรของเกษตรกรรายย่อย รายเล็กรายน้อย กลุ่มที่มีที่ทำกินไม่มากนัก เพราะคอลัมน์นี้เราจะเน้นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือกลุ่มชั้นเล็กและยังมีรายได้น้อย ให้อยู่รอดในทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริง เราจะยังไม่กล่าวถึงรายใหญ่ๆ มากนัก เพราะรายเหล่านั้น เขารอดได้ด้วยเงินทุนที่มากพอ ด้วยเทคโนโลยีที่เพียบพร้อม ด้วยงานเกษตรแผนใหม่ที่เขาสามารถซื้อหาได้ด้วยทุนที่เขามีมากมาย แต่เกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศนั่นยังต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เพราะเขามีโอกาสน้อยกว่า แต่ทว่าเราก็มีทางเลือกบนทางรอดให้ได้ขบคิดอยู่เสมอในคอลัมน์นี้ ซึ่งต่อไปนี้เราจะกล่าวถึงทางรอดของเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินน้อยๆ ครับ

การจะทำการเกษตรบนพื้นที่ผืนเล็กๆ 1-3 ไร่ หรือไม่เกิน 5 ไร่ เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี เราจะมีเส้นทาง และวิธีทางอย่างไรได้บ้าง เราลองมาดูกันครับ

ช่วงในระยะ 2-3 ปีที่ผ่าน เริ่มด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนทำงานประจำประเภทแรงงานผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างฝีมือต่ำ ลูกจ้างชั่วคราว คนทำงานจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องตกงานจากงานเดิม ต้องใช้ทุนเก่าเลี้ยงชีพ และบางคนก็ไม่มีทุนเก่าด้วยก็ยิ่งจะลำบากมากเป็นสองเท่า กลุ่มคนเหล่านี้จึงมีความจำเป็นต้องการสร้างรายได้จากอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งหลายคนคิดไม่ออกว่าจะหันไปในทิศทางใดเลย เรียกกันว่ามืดรอบด้านกันไปหมด ดังนั้น ในตอนนี้เราจึงอยากแนะนำอาชีพง่ายๆ ที่สร้างรายได้พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ด้วยการสร้างวิธีคิดแบบธรรมดาๆ นี่เอง ที่หลายคนอาจจะไม่ได้คิด และหลายคนลืมมองไป จนกลายเป็นคนที่กักขังโอกาสของตนเองไปในที่สุด หาทางออกและทางรอดไม่เจอ ซึ่งต่อไปนี้ เราจะเสนอหนทางที่จะฝ่าทางตันเหล่านั้นให้เกษตรกรรายย่อยๆ หรือคนที่อยากทำเกษตรเพื่อเป็นทางรอดกันดูนะครับ

1. สร้างจุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นนั้น อย่าเริ่มอะไรที่มันยาก ในที่นี้เราขอเสนอให้เริ่มจากรอบๆ ตัวเราเองก่อน…ให้มองใกล้ๆ ตัวเรานี่ล่ะเป็นที่แรกเริ่มเลย ซึ่งในตอนผ่านๆ มาได้เคยบอกไปแล้วว่าให้เริ่มจากการตลาด นั้นคือ คนซื้อเขาต้องการอะไรก็ให้ทำสิ่งเหล่านั้นเพื่อตอบสนอง และการจะทำตลาดก็ให้เรามองตลาดใกล้ๆ ตัว ใกล้ๆ บ้านเรา ตลาดในตำบล ตลาดในอำเภอ หรือตลาดในเมืองที่เป็นท้องถิ่นของเรา ที่เราจะสามารถเอาของไปส่งได้ง่ายๆ อย่าเพิ่งมองตลาดไกลเกิน เช่น ถ้าเราอยู่นครสวรรค์ก็ให้มองตลาดในนครสวรรค์นั่นแหละ ยังไม่ต้องมองข้ามจังหวัด หรือข้ามภาค หรือมองมากรุงเทพฯ เลยทันที การเริ่มใหม่ๆ ถ้ามองไกลถิ่นที่อยู่เรามันจะมีค่าใช้จ่ายทั้งการเดินทางไปศึกษาข้อมูล ไปติดต่อพูดคุย การไปส่งสินค้า ล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะระยะทางมันไกล เกิดค่าใช้จ่ายตามมา แม้จะมีรถขนส่งให้เลือกมากมาย แต่ก็มีต้นทุนเพิ่มทั้งนั้น เราจึงมองดูใกล้ตัวนั่นล่ะดีที่สุด

2. จุดสำรวจ

จุดเริ่มต้น ขอแนะนำว่าให้ไปเดินดูแถวร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวต้ม ร้านขายผัก ร้านขายสลัด ร้านข้าวแกง ร้านอาหารพื้นเมือง อาหารใต้ อาหารเหนือ อาหารอีสาน เราต้องกล้าๆ หน่อย ไปลองนั่งสั่งกินอาหารที่ร้านเหล่านี้ แล้วถามเลยว่าเขาซื้อผักจากไหน ราคาเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นผักอะไรก็ตาม กะเพรา โหระพา ผักบุ้ง ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี พริก ข่า ตะไคร้ มะเขือ แตงกวา และพวกผักพื้นเมืองต่างๆ ถามเพื่อเป็นข้อมูลไว้ เพื่อเราลองมาดูว่าเราจะตอบสนองร้านค้าเหล่านี้อย่างไร แต่อย่าเพิ่งคิดจะขายของในทันทีทันใดนะครับ ถามมาเพื่อจะเตรียมตัวกันก่อนครับ

3. เตรียมการปลูก

เมื่อเราพอรู้แล้วว่าพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้น เขาซื้อหาของเหล่านั้นมาจากไหน ราคาเท่าไร ซื้อครั้งละมากน้อยแค่ไหน ซื้อในระดับคุณภาพอย่างไรแล้ว เราก็เริ่มเลย โดยให้เราเริ่มต้นคิดการเล็กๆ ก่อน อย่างเพิ่งคิดการใหญ่ นั้นคือเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ก่อน เช่น มีพื้นที่ 1 ไร่ ก็เริ่มที่ละ 1 งาน (100 ตารางวา) แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 1 งาน โดยทำทีละส่วน สมมุติว่าแม่ค้าพ่อค้าต้องการอะไรบ้างตามที่กล่าวมาแล้ว เราก็ปลูกพืชผักชนิดนั้นล่ะ โดยปลูกอย่างละไม่ต้องมากให้เต็มพื้นที่ 1 งานนั้น ส่วนอีก 3 งานยังไม่ต้องเริ่ม เพราะเราไม่ควรทำใหญ่ทีเดียว เราค่อยๆ ทำ และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อการเรียนรู้และบริหารความเสี่ยงไปด้วยในตัวครับ

4. การปลูกและดูแลรักษา

การลงมือปลูกอะไร เราต้องมีความรู้ แม้จะไม่ยากนัก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับมือใหม่ แต่ปัจจุบันมีให้ศึกษากันมากมาย หาได้ในสื่อดิจิทัล ในเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย พืชแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติและการดูแลรักษาไม่เหมือนกัน ต้องมีความรู้ และที่สำคัญอีกอย่างคือ เรื่องปัจจัยการผลิต นั่นคือต้องมีน้ำที่เพียงพอ ไม่ว่าจะแหล่งน้ำจากระบบชลประทาน แหล่งกักเก็บ สระน้ำ บ่อบาดาล หรือระบบน้ำอัตโนมัติ จำเป็นต้องมีให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะน้ำคือปัจจัยหลักที่สำคัญยิ่ง ที่ทั้งพืชและสัตว์ต้องการใช้ทั้งนั้น และจำเป็นยิ่งที่ควรจะมีให้เพียงพอตลอดการผลิตด้วย

ดังนั้น หากเกษตรกรรายใดได้ศึกษา “โครงการ โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำแนวคิดทฤษฎีใหม่มาให้คนไทยน้อมนำไปประยุกต์ใช้กันนั่นเอง คือมีแหล่งน้ำ มีที่ดอนปลูกไม้ผลและพืชผัก มีนาหรือที่ลุ่มปลูกข้าว ปล่อยปลา หรือแม้กระทั่งหัวคันนาก็ใช้ประโยชน์ปลูกพืชบางอย่างได้

5. ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น

เราต้องรู้และเข้าใจด้วยว่าพืชทุกชนิดต้องการธาตุอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เราจึงต้องมีความรู้เรื่องปุ๋ยด้วย ไม่ว่าจะปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยธรรมชาติอะไรก็ตาม พืชย่อมมีความต้องการทั้งนั้น แต่อาจจะต้องการแตกต่างกันไป เราต้องมีความรู้ และหากทำได้เองก็ยิ่งจะลดต้นทุนได้เป็นอย่างดีด้วย เช่น การคิดข้อมูลสูตรปุ๋ยง่ายๆ จากมูลสัตว์

ถ้าพืชกินใบให้ใช้มูลวัว ถ้าพืชพวกกินหัวให้ใช้พวกขี้หมู แต่ถ้าพวกกินผลก็ควรใช้พวกปุ๋ยจากขี้ไก่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถหาได้จากแหล่งวิชาการของทางราชการ สถาบันการศึกษา และตามเว็บไซต์ต่างๆ ได้ครับ

6. การเตรียมอาหารพืช หรือปุ๋ยจากธรรมชาติ

จากที่เราทราบแล้วว่าพืชกินใบ พืชกินหัว และพืชที่กินผล เราจะใช้มูลหรือขี้จากสัตว์อะไรมาเป็นวัตถุดิบหลักแล้ว เราก็ต้องนำวัสดุเหล่านั้นมาเตรียมทำปุ๋ย ไม่ใช่เอามูลสัตว์เหล่านั้นไปราดรดต้นพืชโดยตรงเลย ไม่ใช่แบบนั้น ดังนั้น เราก็ต้องทราบว่าการทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอย่างง่ายๆ ก็ต้องมีส่วนผสมที่จะทำเป็นดินเพื่อปลูกพืช โดยต้องมีส่วนผสม ได้แก่ 1. ดิน 2. มูลสัตว์ 3. ขี้เถ้าแกลบ 4. แกลบดิบ 5. ขุยมะพร้าว ซึ่งต้องใส่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และหมักทิ้งไว้ในระยะเวลาตามสมควร จนกว่าวัสดุทุกอย่างจะผุสลายเป็นเนื้อเดียวกันจึงจะพร้อมใช้งานต่อไป

7. การตลาดในแบบของเกษตรกร

เมื่อเราปลูกพืชแต่ละชนิด ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนแนะนำว่าการจะปลูกอะไร ก็ควรปลูกทุกอย่างที่เราได้ไปถามและสำรวจไว้แล้วตามข้อ 2 แต่ปลูกอย่างละน้อย ยังไม่ต้องมาก ปลูกผสมให้เป็นแบบเกษตรผสมผสานเลย จะ 5 ชนิด หรือ 10 ชนิดก็ไม่แปลกอะไร และเมื่อพืชที่เราปลูกแล้วเริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว ต่อไปนี้คือจุดไฮไลต์ของเรื่องนี้คือ เราไม่ควรเริ่มต้นจากการขาย…เรายังไม่ต้องขาย เราควรเริ่มจากการแบ่งปัน หรือแจกให้ร้านค้าไปทดลองใช้เป็นวัตถุดิบในร้านเขาเลย เรียกกันว่าให้ฟรีๆ ไปสักครั้งหนึ่งหรือสองครั้งก็ไม่แปลกอะไร เราปลูกเอง แม้จะมีต้นทุนแต่ก็ต้องมีการทำการตลาด ฝากให้ทดลองเอาไปทำอาหารขายในทุกร้านค้า ร้านอาหารที่มีในตลาดท้องถิ่นหรือใกล้เคียงเลย ไม่ต้องไปเสียดายครับ เพราะคนทำอาหารเขาจะรู้ว่าวัตถุดิบเหล่านี้ดีหรือไม่ดี คุณภาพเป็นอย่างไร เขาจะบอกเราได้ เพราะเขาเป็นเจ้าของร้าน เป็นคนทำอาหารเขาย่อมจะเข้าใจมากกว่าใคร และเขาย่อมจะสัมผัสกับคนกินอาหารมามากมาย และนี่คือการทำวิจัยแบบบ้านๆ ของเกษตรกรวิถีใหม่นั่นเอง ถ้าดีก็ขายได้ ถ้าไม่ดีก็ต้องปรับปรุงให้ดีให้ได้ แล้วเชื่อว่าเราจะได้ประโยชน์จากการเริ่มต้นด้วยการแจกฟรีครับ

8. การรับรู้การตลาดเพื่อการตลาดและไปต่อ

เมื่อเราทราบแล้วว่าร้านค้าส่วนใหญ่เขาบอกเราว่าพืชผักอะไรที่ผ่านมาตรฐาน อะไรที่ยังต้องปรับปรุงแยกแยะพืชผักของเรา ที่ดีแล้วเราก็เสนอขายให้ร้านค้าเหล่านั้นได้เลย หรือนำเสนอในตลาดอื่นได้ด้วย เพราะของเราได้มาตรฐานแล้ว และก็ตกลงราคากันตามความเหมาะสมต่อไป พืชชนิดอะไรที่ต้องนำมาปรับปรุงใหม่ ก็ปลูกรอบใหม่ ดูแลให้ได้มาตรฐาน แล้วก็นำไปลองให้ฟรีใหม่อีกรอบ จนกว่าจะได้มาตรฐานในที่สุด เท่ากับเราใช้ร้านค้าร้านอาหารเป็นแหล่งทดสอบมาตรฐานสินค้าของเราไปในตัวครับ

9. การพัฒนาเพื่อขยายผล

จากข้อ 1 ที่เรากล่าวถึงการแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วนนั้น ก็เพื่อจะทำการผลิตไปรอบละส่วน รวม 4 รอบ เพื่อให้มีวัตถุดิบสามารถนำออกขายได้แบบรอบชนรอบ หมุนเวียนให้เพียงพอต่อความต้องการด้วย ไม่ใช่ผลิตรอบเดียวเต็มแปลง ผลผลิตออกมาเกินไปก็ขายไม่หมด เกินความต้องการอีก เราจึงต้องทำให้สมดุลกันระหว่างดีมานด์ (Demand) และซัพพลาย (Supply) ในแต่ละช่วงด้วย จึงจะมีความยั่งยืน และเพิ่มทางรอดให้เกษตรกรได้

อย่างไรก็ดี บทความตอนนี้ เป็นบทความที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรายย่อยๆ ที่จะนำไปประยุกต์ เพื่อสร้างทางเลือก บนทางรอดของเกษตรกรไทย ได้เป็นอย่างดี ขอเพียงกล้าคิด กล้าทำ และกล้าสู้ รับรองว่า รอดแน่ครับ