สศท.1 เกาะติดสถานการณ์หอมหัวใหญ่ 3 จังหวัดภาคเหนือ แหล่งผลิตสำคัญ

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2565/66 ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกหอมหัวใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ และเป็นพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของ สศท.1 โดยปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้อมูลของ สศท.1 ณ วันที่ 1 มกราคม 2566) คาดว่ามีเนื้อเพาะปลูกรวม 3 จังหวัด 7,581 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 8,519 ไร่ เนื่องจากสภาพอากาศและมีฝนตกช่วงต้นกล้ากำลังเจริญเติบโต ส่งผลให้ต้นกล้าเน่าได้รับความเสียหายบางส่วนทำให้พื้นที่ปลูกลดลง ด้านผลผลิตรวม 3 จังหวัด 28,716 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 31,298 ตัน เนื่องจากพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงและบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคหมานอน (โรคแอนแทรกโนส) รวมถึงโรคเน่าที่เกิดจากแบคทีเรีย

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1)

ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปีนี้ยังคงมีทิศทางดี โดยราคาหอมหัวใหญ่สดของทั้ง 3 จังหวัด ขายแบบแบ่งเกรดคือ หอมหัวใหญ่ เบอร์ 0 ราคา 21 บาท/กิโลกรัม, หอมหัวใหญ่ เบอร์ 1 ราคา 20 บาท/กิโลกรัม, หอมหัวใหญ่ เบอร์ 2 ราคา 18 บาท/กิโลกรัม และแบบคละเกรด ราคา 16 บาท/กิโลกรัม

ด้านการจำหน่ายผลผลิตในภาพรวม ประเทศไทยมีการส่งออกทั้งในรูปแบบหอมหัวใหญ่สด และหอมหัวใหญ่แห้ง ไปยังตลาดคู่ค่าสำคัญในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ได้มีการรวมกลุ่มผลิตหอมหัวใหญ่ จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ผาตั้ง จังหวัดเชียงราย กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 5 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมีศักยภาพการผลิต และเป็นจุดจำหนายเมล็ดพันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตรกร

หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2565/66 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร 059-121-318-9 หรือ อีเมล [email protected]