เที่ยวสนุกได้ความรู้เกษตร กับแหล่งวิจัยพืชสวนทั่วไทย

ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน หากใครยังไม่มีแผนท่องเที่ยวที่ไหน อยากชวนไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร ในแหล่งวิจัยพืชสวน 24 แห่งทั่วไทยของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวธรรมชาติที่ได้รับความรู้ ความสุข เพลิดเพลิน เสมือนการพักผ่อนที่ได้รับการลับสมองไปในตัว

กรมวิชาการเกษตร มีศูนย์วิจัยตั้งอยู่ในแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ศูนย์วิจัยฯ ทุกแห่งมีภารกิจสำคัญด้านการศึกษาวิจัย พัฒนาแปลงการผลิตพืช ขยายพันธุ์ การอารักขาพืช การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แปลงต้นแบบการผลิตพืชทฤษฎีใหม่ แปลงรวบรวมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช เรียกว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรอย่างครบวงจร

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

ดร.ชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในแต่ละปีมีเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปสนใจเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยทั่วประเทศกว่าแสนราย เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจรที่สนุกได้ความรู้ นำไปพัฒนาต่อยอดพัฒนาอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวัน

นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรได้ตลอดทั้งปี โดยศูนย์วิจัยฯ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ เช่น ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) จัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ (Countdown) ในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จัดกิจกรรมตามรอยกาแฟ แลดอกนางพญาเสือโคร่ง ช่วงเดือนมกราคม 2566 ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีอะโวกาโด ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้น

ดอกนางพญาเสือโคร่ง

ข้อมูลการท่องเที่ยวของศูนย์วิจัยฯ 24 แห่ง

1. ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย

สัมผัสทัศนียภาพที่สวยงามและความหลากหลายของพรรณไม้ดอกไม้ประดับ ไม้เมืองหนาวนานาชนิด กล้วยไม้หายาก ชมทุ่งดอกปทุมา กระเจียว ศูนย์เรียนรู้แปลงต้นแบบการผลิตพืชตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” สนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การผลิตชาเขียวกู่หลาน การเพาะเห็ด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีหมุนเวียนตามฤดูกาล

Advertisement

2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย

แหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรบนยอดดอยที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เป็นที่ศึกษาดูงานการผลิตพันธุ์พืชที่ปลูกบนพื้นที่สูง อาทิ มะคาเดเมีย ชาจีน ชาอัสสัม ไม้ผลเมือง เช่น สาลี่ ท้อ บ๊วย การผลิตกาแฟแบบครบวงจร พร้อมสัมผัสวิถีชาวเขาท่ามกลางอากาศเย็นสบายตลอดปี ชมไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว สวยสดใส แปลกตา พร้อมชง ชิม ชาพันธุ์ดี

Advertisement

3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่

เป็นแหล่งศึกษาวิจัยพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเกษตรในเขตภาคเหนือตอนบน รวบรวมและปรับปรุงพันธุ์พืช เช่น ลิ้นจี่ มันฝรั่ง ชา กาแฟ หน้าวัว มะคาเดเมีย พืชผัก ชมแปลงสาธิตการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สนุกกับกิจกรรม walk rally และการเดินป่าชมทัศนียภาพความงามของขุนเขาที่โอบล้อมรอบอำเภอฝาง

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง)

4. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

เป็นศูนย์วิจัยพัฒนาพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่รวบรวมไว้มากที่สุดของประเทศไทย เป็นแหล่งวิจัยทดสอบและพัฒนาพันธุ์พืชจากต่างประเทศ เช่น มะคาเดเมีย กาแฟอาราบิก้า ไม้ผลเมืองหนาว อาทิ พีช เน็คทารีน บ๊วย พลับ ชมสีสันของไม้เมืองหนาว และดอกนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งทั้งดอยขุนวาง ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

5. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง)

ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งขุนเขา อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี สัมผัสกับความงดงามไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผลเมืองหนาวหลากหลายชนิด เป็นศูนย์วิจัยและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร สามารถชมทะเลหมอก ดูพระอาทิตย์ตก พร้อมจิบชา-กาแฟ ในบรรยากาศอันน่าประทับใจ

6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน

ชมไม้ดอกเมืองหนาว แปลงรวบรวมพันธุ์มะคาเดเมีย ไม้ผลและพืชผัก ชมศูนย์เรียนรู้แปลงต้นแบบการผลิตพืชตามแนวพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้เอื้องแซะตามพระราชเสาวนีย์ ชมการแปรรูปและชิมกาแฟอาราบิก้า บรรยากาศสวยงามสงบติดลำน้ำปาย ล่องเรือชมธรรมชาติและทัศนียภาพริมน้ำปาย และภายในศูนย์วิจัยฯ ได้ตลอดทั้งปี

ค่ำคืนที่งดงาม ณ ศูนย์วิจัยฯ แม่จอนหลวง

7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่

ตั้งอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติห้วยเปิ้ล เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืช มีการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ให้ท่องเที่ยวในด้านต่างๆ เช่น ศึกษาพันธุกรรมและการขยายพันธุ์พืช การเพาะเห็ด สาธิตการแปรรูปผลผลิตการเกษตรและไวน์ผลไม้ที่หมุนเวียนตามฤดูกาล ชมทุ่งดอกกระเจียวในเดือนสิงหาคม-กันยายน และสวนส้มเขียวหวานในเดือน พฤศจิกายน

8. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก

บนพื้นที่เกือบ 3,000 ไร่ ณ ดอยมูเซอ สวยงามด้วยภูมิทัศน์ธรรมชาติ แปลงปลูกไม้ดอกไม้ประดับ แปลงไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ อะโวกาโด มะคาเดเมีย มะเดื่อฝรั่ง สตรอเบอร์รี่ ชมแปลงกาแฟอาราบิก้า พร้อมสาธิตการเก็บเกี่ยวและแปรรูปกาแฟ สัมผัสวิถีชีวิตชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ สัมผัสอากาศที่เย็นสบายในทุกฤดู

9. ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย

เป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชสวน เช่น ไม้ผลพื้นเมือง ได้แก่ มะตาด มะดัน มะไฟ และไม้ผลอื่นๆ เช่น มะปราง มะยงชิด กระท้อน แปลงวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตพืช เช่น มะม่วง ส้มโอ กล้วย และรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์กล้วยแปลกๆ ไว้จำนวนมาก รวมทั้งเป็นศูนย์ขยายพันธุ์พืชสวนที่สำคัญ เช่น มะม่วง และรวบรวมพันธุ์กล้วยแปลกๆ ไว้จำนวนมาก สามารถเข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาหาความรู้ พร้อมชม ชิม ซื้อผลผลิตได้ตามฤดูกาล

ดร.ชูชาติ วัฒนวรรณ (เสื้อสีน้ำตาล) เยี่ยมชมผลงานศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง

10. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย

ชมแปลงงานทดลอง งานทดสอบ และงานวิจัยพืชเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่าง อาทิ แปลงงานวิจัยกล้วยตานี งานวิจัยละมุด แปลงผลิตพันธุ์พืช แปลงตัวอย่างระบบเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” จังหวัดสุโขทัย แปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์ครบวงจร พิพิธภัณฑ์โรงหีบฝ้ายและเครื่องมือการเกษตรของภาคเหนือตอนล่าง

11. สถานีทดลองพืชสวนร่มเกล้า สวพ.2

ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งเรียนรู้แปลงต้นแบบการปลูกพืชผสมผสานและพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น มะคาเดเมีย อะโวกาโด หน้าวัว ฟักข้าว มะนาว แปลงต้นแบบการผลิตพืช เช่น มะพร้าว กาแฟ ไผ่ ชมสีสันของไม้ดอกและผลผลิตตามฤดูกาล ได้แก่ ไม้ดอกเมืองหนาว สตรอเบอร์รี่

12. ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์

เขาค้อ ดินแดนแห่งขุนเขา “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมในศูนย์วิจัยฯ ได้ตลอดทั้งปี ชมแปลงปลูกพืชผักเมืองหนาว สตรอเบอร์รี่ มะคาเดเมีย กาแฟอาราบิก้า อะโวกาโด พลับ บ๊วย ไม้ดอกไม้ประดับ สัมผัสบรรยากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ตามสโลแกน “พักเขาค้อ 1 คืน อายุยืน 1 ปี”

13. ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย

สัมผัสธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศทิวทัศน์ภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี ชมสีสัน ความงามของไม้ดอกไม้ประดับ ความหลากหลายของไม้ผลเมืองหนาว พืชผักสมุนไพร ท่องเที่ยวงานเทศกาลไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณ เทศกาลกินผักเมือง สตรอเบอร์รี่ มะคาเดเมีย แปลงสาธิตเรียนรู้การปลูกพืชบนที่สูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ต้นท้อ

14. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย

ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำโขง ภายในศูนย์วิจัยปลูกรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ไม้ที่หลากหลาย เช่น ไม้ผลพื้นบ้าน ผักพื้นบ้าน สมุนไพร นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมและศึกษาความรู้ศูนย์วิจัยฯ ยังอยู่ใกล้จุดชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เพียง 2 กิโลเมตร

15. ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

เป็นแหล่งศึกษาด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตพืชสวนสำคัญหลายชนิด เช่น มะม่วงหิมพานต์ มะละกอ มะขามเปรี้ยว หอมแดง พริก มะเขือเทศ ฟักทอง แปลงรวบรวมพันธุ์มะม่วงมากกว่า 100 สายพันธุ์ พืชสมุนไพรและผักพื้นบ้านมากกว่า 500 ชนิด มีกิจกรรมเรียนรู้ตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การผลิตกาแฟครบวงจร บัว พืชชุ่มน้ำและผักพื้นเมือง ในกิจกรรมเส้นทางเดิน-ปั่นจักรยาน และมีจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชผัก ต้นพันธุ์ไม้ผลหลายชนิด

16. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี

เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี ศูนย์เรียนรู้ด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจของภาคตะวันออก การผลิตตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ แปลงต้นแบบเทคโนโลยี การผลิตเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมเส้นทางจักรยานและเส้นทางเดินชมศึกษาธรรมชาติและแหล่งน้ำธรรมชาติคลองทุ่งเพล

17. ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ชมแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้ผลเขตร้อน เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต เช่น การผลิตเงาะนอกฤดู แปลงอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์โบราณและทุเรียนลูกผสมพันธุ์ใหม่กว่า 500 สายพันธุ์ แปลงรวบรวมกล้วยไม้ป่าในภาคตะวันออก แปลงพืชสมุนไพรหลากชนิด ชม ชิม ซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพ

สตรอเบอร์รี่

18. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี

ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดเพื่อการวิจัยและทดลองที่ปลูกรวบรวมพันธุ์สับปะรดมากกว่า 50 สายพันธุ์ ชม ชิม สับปะรดฉีกตา (พันธุ์เพชรบุรี ได้ทุกฤดูกาล มีจุดชมวิวอยู่บนยอดเขาปัญญา เรณู ที่แวดล้อมด้วยป่าโปร่งและป่าปลูก บริเวณบนยอดเขาเป็นแหล่งอาหารของนกนานาชนิด มีทิวทัศน์สวยงาม สามารถมองเห็นบรรยากาศของศูนย์ได้รอบทิศ

19. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

แหล่งรวบรวมความหลากหลายของพันธุ์มะพร้าว ชมทิวทัศน์ของทุ่งกาแฟโรบัสต้า สวนพรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พืชสมุนไพรและเครื่องเทศกว่า 1,000 ชนิด พืชผักพื้นเมืองไม่น้อยกว่า 200 ชนิด กล้วยไม้พื้นเมืองของภาคใต้มากกว่า 100 ชนิด อาคารแสดงนิทรรศการจัดแสดงข้อมูลพันธุ์กาแฟโรบัสต้า มะพร้าว โกโก้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าว

แปลงอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์โบราณ ของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

20. ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี

แปลงรวบรวมเชื้อพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ปาล์มน้ำมัน การวิจัยศักยภาพของพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี ภายใต้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แปลงผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมัน แปลงรวบรวมพันธุ์ปาล์มประดับ แปลงรวบรวมพันธุ์ไม้ผลเมือง พืชในตระกูลลางสาด ลองกอง พืชสมุนไพรและไม้หอม

21. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่

ภายในศูนย์วิจัยฯ มีป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาหินปูน ถ้ำหินย้อย ลำห้วยน้ำใส มีแปลงปลูกรวบรวมพันธุ์ยางพารา ชมต้นยางเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดกระบี่ ไม้ผลเมืองร้อน ไม้ดอกไม้ประดับ กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ สวนป่าสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ แปลงไม้หอมมากกว่า 100 ชนิด กิจกรรมเดินป่า ปีนเขา ปั่นจักรยาน ชมทัศนียภาพสวยงาม

อะโวกาโด

22. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต

ชมแปลงยางพาราและการผลิตยางคุณภาพอย่างครบวงจร การสาธิตการกรีดยางจนถึงขั้นตอนการผลิตเป็นยางแผ่นชั้นดี การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา ศึกษาดูงานการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ตัดใบ เพื่อเสริมรายได้ในสวนยาง กิจกรรมเดินเที่ยวชมสวนป่า ปาล์มหายาก กล้วยไม้ป่าหลายชนิด เป็นแหล่งหากินของนกนานาชนิด

23. ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง

เป็นแหล่งวิจัยและแหล่งเรียนรู้การผลิตพืชสวนในภาคใต้ เช่น สะตอ ดาหลา ขมิ้นชัน เนียง หมาก อบเชย เร่ว กระวาน แปลงรวบรวมพันธุ์ผักพื้นเมือง กล้วยพื้นเมือง ไม้ผลเมืองร้อน พรรณไม้หอม กิจกรรมปั่นจักรยานตามรอยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชมวิวสวนควนหละ ป่าเขาหวง เดินป่าปกปักอนุรักษ์ผืนป่าพื้นที่ 296 ไร่

24. ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา

เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจด้านการวิจัยพืชเศรษฐกิจในภาคใต้ เช่น ทุเรียน กล้วยไม้ ดาหลา แปลงอนุรักษ์พันธุ์พืช ความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตด้านเกษตร โครงการส่งเสริมและดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบกับทิวทัศน์ที่สวยงาม บรรยากาศดี เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา

ทั้งนี้ ผู้สนใจกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร (Agro-Tourism) ของสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://www.doa.go.th/agrotour/   

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สถาบันวิจัยพืชสวน