ผู้เขียน | วิภาวรรณ เพ็ชรศรี |
---|---|
เผยแพร่ |
อาจารย์วรพจน์ ตรีรัตน์ฤดี อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคตราด ร่วมกันคิดค้นและพัฒนา “เครื่องลอกเยื่อมะม่วงหิมพานต์” เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาโดยอาศัยหลักการไซโคลน (กระแสอากาศหมุนวน) นำอุปกรณ์ในระบบนิวแมติกส์มาใช้ในกระบวนการควบคุมการทำงาน มีระบบปรับตั้งเวลาและปรับปริมาณลมได้ตามจำนวนของปริมาณเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ลอกเยื่อ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการลอกเยื่อ ช่วยเพิ่มปริมาณในการลอกเยื่อ ลดระยะเวลาและต้นทุนในการแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ของเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
แรกเริ่มเดิมทีอาจารย์วรพจน์เดินทางไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดตราด และได้เห็นขั้นตอนการแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ ด้วยวิธีการใช้มีดปลายแหลมแกะเนื้อเยื่อที่หุ้มบริเวณเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวใช้แรงงานคนและกินเวลานานพอสมควร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นและพัฒนาเครื่องลอกเยื่อมะม่วงหิมพานต์ขึ้นมา เพื่อทดแทนแรงงานคนและเวลาที่เสียไป เพื่อตอบสนองการใช้งานของเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่แปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มากที่สุด
“จุดเริ่มต้น เราไปเห็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในจังหวัดตราด ที่มีการแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ขาย เพราะฉะนั้นขั้นตอนหรือว่ากระบวนการในการแปรรูปนั้น เราก็มองตรงจุดที่ว่าในส่วนของการลอกเยื่อบางๆ ที่ติดอยู่กับมะม่วงหิมพานต์ออก ทีนี้ปัญหาที่เราพบคือวิธีการลอกแบบเดิมที่มีการทำกันอยู่นั้น จะใช้แรงงานคนและก็ใช้วิธีการลอกด้วยการใช้มีดปลายแหลมค่อยๆ แกะเยื่อที่หุ้มบริเวณเมล็ดออก ซึ่งขั้นตอนนี้ค่อนข้างที่จะใช้เวลานาน เราก็เลยคิดที่จะทำเครื่องลอกเยื่อมะม่วงหิมพานต์ ขึ้นมาเพื่อทดแทนแรงงานคนครับ”
อาจารย์วรพจน์ เล่าว่า กลไกการทำงานภายในเครื่องนั้น ไม่มีความซับซ้อนใดๆ อาศัยหลักการไซโคลน หรือระบบอากาศหมุนวน นำอุปกรณ์ในระบบนิวแมติกส์มาใช้ในกระบวนการควบคุมการทำงาน มีระบบปรับตั้งเวลาและปรับปริมาณลมได้ตามจำนวนของปริมาณเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ลอกเยื่อ ซึ่งง่ายต่อการใช้งาน เพราะด้วยกระบวนการที่ถูกคิดค้นมา เพื่อตอบโจทย์ต่อการใช้งานนั่นเอง
“สิ่งแรกกลไกการทำงาน คือเครื่องลอกเยื่อมะม่วงหิมพานต์ จะใช้ระบบลมหมุนวน ทำให้เยื่อที่หุ้มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์หมุนวน และไปกระทบกันเอง ไม่ให้เยื่อนั้นหลุดออก อาศัยแรงลมครับ ต้นทุนการผลิตจะมีราคาแพงในเรื่องของอุปกรณ์ลม เพราะตัวนี้จะใช้ความดันลมให้คงที่ ตัวนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวผลิตลม ส่วนตัวเครื่องจริงๆ ถ้าเราตัดในส่วนของตัวที่ผลิตลมออก ก็จะอยู่ที่ราคาประมาณ 30,000-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปร่างปริมาณในการลอกเยื่อว่าเราจะเอาแค่ไหนครับ”
เมื่อสอบถามถึงเรื่องผลตอบรับของ “เครื่องลอกเยื่อมะม่วงหิมพานต์” นั้น อาจารย์วรพจน์ เล่าว่า อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ มีการนำไปทดลองใช้ในหลายพื้นที่ รวมถึงมีการเก็บข้อมูลตัวอย่างต่างๆ ทั้งจุดบกพร่อง ง่ายต่อการนำไปทำการแก้ไขต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบของเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และตอบโจทย์ทุกการใช้งานของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ นั่นเอง
“มีเอาไปทดลองนะครับ หลายที่อยู่ แล้วก็มีการเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งจุดบกพร่อง จุดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ตอนนี้กำลังคิดตัวใหม่ ก็คือพัฒนาตัวใหม่ขึ้นมานะครับ ก็กำลังอยู่ในช่วงทดลองอยู่ครับ ตอนนี้มีกำลังพัฒนาในส่วนของระบบการลอกเยื่อพร้อมด้วยการคัดขนาดของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ในกระบวนการเดียวเลยครับ ถ้าในตัวเก่าเป็นเครื่องที่ใช้ลมเพียงอย่างเดียว บางทีมันลอกไม่หมด พอลอกไม่หมด ก็ต้องกลับมาใช้แรงงานคนในการลอกเยื่ออีก เราก็เลยพัฒนาก็คือใช้แรงงานลมด้วย ในการลอก แล้วก็ใช้หลักการหมุนกระทบ เพื่อให้เยื่อที่เหลือนั้นหลุดออก ก็คือใช้ 2 ขั้นตอน คือลอกและกะเทาะเยื่อออกครับ”
ในด้านของราคาขายของ “เครื่องลอกเยื่อมะม่วงหิมพานต์” นั้น อาจารย์วรพจน์ เล่าว่า มีราคาที่ไม่แพง ลงทุนซื้อครั้งเดียว สามารถใช้งานในระยะยาว หากชิ้นส่วนของเครื่องส่วนใดเสียหรือขัดข้อง สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป สะดวกต่อการใช้งานอย่างครบครัน
“ราคาตัวนี้ ถ้าเป็นเครื่องตัวใหม่ ยังไม่ได้ประเมินราคาครับ แต่ราคาก็ไม่ได้สูงมากครับ เพราะว่าจุดมุ่งหมาย เราทำให้กลุ่มชุมชนใช้ ลงทุนครั้งเดียว สามารถใช้งานได้ตลอด ไม่มีจุดสิ้นสุดครับ”
สำหรับท่านใดที่สนใจ “เครื่องลอกเยื่อมะม่วงหิมพานต์” สามารถติดต่ออาจารย์วรพจน์ ตรีรัตน์ฤดี วิทยาลัยเทคนิคตราด ได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 081-940-4243