เกษตรกรเพชรบูรณ์ เผยเทคนิค เพาะเลี้ยงกบในคูน้ำระบบฟาร์ม ด้วยวิธีธรรมชาติ

กบ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง บางคนพอได้ยินชื่อ คงมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป ทั้งชอบและไม่ชอบ แต่หากใครที่ใช้ชีวิตตามชนบทมาก่อน หรือชอบกินอาหารป่า คงคุ้นเคยกับกบเป็นอย่างดี เพราะกบจัดเป็นอาหารและกับแกล้มชั้นดี เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่หาได้ง่ายในพื้นที่ชนบท

กบเนื้อ ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างดีให้กับเกษตรกรไทย เลี้ยงง่าย โตไว และยังเป็นโปรตีนทางเลือกที่มีรสชาติไม่แตกต่างจากเนื้อไก่ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ซึ่งโปรตีนนี้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติในการยับยั้งและป้องกันเส้นเลือดงอกเอง โดยปกติแล้วก้อนเนื้อมะเร็งจำเป็นต้องมีเส้นเลือดเพื่อนำเลือด ออกซิเจน และสารอาหารมาหล่อเลี้ยงให้ก้อนเนื้องอกเจริญเติบโต การที่สามารถยับยั้งการงอกและเจริญเติบโตของเส้นเลือดงอกเอง อาจจะใช้รักษาโรคมะเร็งได้ในอนาคต

คุณเฉลิมยศ บุญเสริม

นอกจากนี้ ผิวหนังของกบยังสามารถผลิตสารที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อรา ต่อต้านเชื้อโรคและไวรัสต่างๆ ซึ่งค้นพบจากการทดลองในกบ กบสามารถรักษาแผลตัวเองได้อย่างดี โดยไม่มีการติดเชื้อ ปัจจุบันจึงนำสารชนิดนี้มาศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นยาที่สามารถใช้กับคนได้

เนื้อกบ 100 กรัม สามารถให้โปรตีนสูงถึง 22 กรัม แต่กลับมีปริมาณไขมันต่ำมาก เพียง 0.4 กรัมเท่านั้น และในเนื้อกบ 100 กรัม ให้พลังงานได้ถึง 99 กิโลแคลอรี โดยได้จากโปรตีน 89.2 กิโลแคลอรี ไขมัน 3.6 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 1.2 กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นอาหารที่ดีต่อร่างกายไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ หรือผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก

คุณเฉลิมยศ บุญเสริม หรือ คุณเกมส์ อายุ 37 ปี อาศัยอยู่ที่ 259 หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว และเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงกบระบบฟาร์ม คุณเฉลิมยศ เล่าว่า ฟาร์มกบแห่งนี้เริ่มต้นทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 คุณพ่อคุณแม่ซื้อลูกกบมาทดลองเลี้ยง 500-1,000 ตัว ตอนนั้นหวังเพียงแค่ต้องการนำมากินในครัวเรือน

กระชังผ้าใบ

ตอนนั้น คุณเฉลิมยศยังคงทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ มีโอกาสได้กลับมาบ้านได้เพียงแค่ช่วงวันหยุดยาว ตามเทศกาลต่างๆ เท่านั้น กบถือเป็นสัตว์ที่โตไวมากๆ ทำให้เกินความต้องการของครอบครัว เลยนำไปขายในตลาดของชุมชน มีการตอบรับจากผู้บริโภคในชุมชนเป็นอย่างดี

Advertisement
กระชังในคูน้ำ

คุณเฉลิมยศมองเห็นช่องทางของรายได้จึงซื้อลูกกบเข้ามาเลี้ยงอีก จำนวน 2,000 ตัว ในตอนนั้น คุณเฉลิมยศก็ยังคงทำงานประจำอยู่ แต่ก็ทำให้ได้กลับบ้านบ่อยมากขึ้น เพราะต้องมาช่วยคุณพ่อคุณแม่ดูแลกบในฟาร์ม ทั้งลองผิดลองถูก เกิดเป็นประสบการณ์ที่สั่งสม ทำให้คุณเฉลิมยศสามารถลดต้นทุนเองได้ด้วยการเพาะพันธุ์ลูกกบเอง

โดยเริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 18 คู่ จากตอนแรกสามารถเพาะลูกกบได้ 2 กระชัง ก็เริ่มขยายมาเรื่อยๆ จนได้ 5 กระชัง และทางฟาร์มใช้ระบบเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยการเลี้ยงในคูน้ำที่มีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอด

Advertisement

คุณเฉลิมยศจึงลาออกจากงานประจำในช่วงโควิดระลอกแรก และเข้ามาทำฟาร์มกบอย่างเต็มตัวในต้นปี พ.ศ. 2564

การเพาะเลี้ยงกบในคูน้ำระบบฟาร์ม ด้วยวิธีธรรมชาติ

การเพาะพันธุ์ลูกกบ โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยกระชังของพ่อแม่พันธุ์จะเป็นกระชังผ้าใบที่มีลักษณะครึ่งบก-ครึ่งน้ำ ฤดูเพาะพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม จะเริ่มให้อาหารเมื่อกบออกจากการจำศีล โดยให้อาหาร 2 ครั้ง เช้า-เย็น แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ ด้านข้างลำตัวจะมีแถบสีแดง ผิวหนังจะสาก พ่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ จะต้องกอดรัดแน่น 3 นิ้วมือ

ลูกกบในกระชังคูน้ำ

กระชังเพาะพันธุ์ (บ่อผ้าใบ) จะมีขนาด 2×3 เมตร ทำความสะอาดบ่อและตากบ่อไว้ 1 แดด กระชังเพาะพันธุ์ต้องอยู่ในพื้นที่ที่แดดสามารถส่องลงมาได้ เพราะกบเป็นสัตว์ที่ชื่นชอบแดด แต่ก็ต้องมีซาแรนกันความร้อนจากแดด เพื่อไม่ให้แดดแรงไป ก่อนเติมน้ำเข้าบ่อ ระดับน้ำอยู่ที่ 10 เซนติเมตร น้ำที่ปล่อยเข้าบ่อจะเป็นน้ำในคูน้ำเพื่อให้กบได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ระยะเวลาในการเติมน้ำเข้าบ่อควรอยู่ที่เวลา 17.00-18.00 น.

กบขายเนื้อในกระชังคูน้ำ

จากนั้นทำการปล่อยแม่พันธุ์ทั้งหมด 6 ตัว พ่อพันธุ์ทั้งหมด 8-10 ตัว การใส่แม่พันธุ์น้อยกว่าพ่อพันธุ์ เนื่องจากแม่พันธุ์บางตัวก็ไม่ผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์ในทุกๆ ตัว แม่พันธุ์จะทำการเลือกพ่อพันธุ์เอง และเมื่อไข่กบที่ออกมาจะได้มีจำนวนไม่มากเกินไป เพราะหากไข่กบมีจำนวนที่มากไปจะทำให้กินกันเองได้

เมื่อปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงบ่อแล้ว ช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ต้องมาเช็กที่บ่อเพาะพันธุ์อีกครั้ง เพื่อแยกคู่ เพราะในบางครั้งพ่อพันธุ์ก็ไปจับคู่พ่อพันธุ์ด้วยกันเอง และในช่วงเวลา 05.00-06.00 น. แม่พันธุ์จะออกไข่เรียบร้อยแล้ว มีบางตัวที่อาจจะออกไข่ช้า แต่ก็ไม่เคยเกินช่วงเวลา 08.00 น. เมื่อแม่พันธุ์ออกไข่เสร็จแล้ว จะทำการแยกพ่อแม่พันธุ์ออกมายังอีกบ่อ เพื่อพัก 15 วัน ก่อนจะนำมาเพาะพันธุ์อีกครั้ง

เตรียมส่งลูกกบให้ลูกค้า

ทำการแยกพ่อแม่พันธุ์ออกจากกระชังเพาะพันธุ์แล้ว ต้องเติมน้ำลงในอีก 10 เซนติเมตร ระดับน้ำตอนนี้จะอยู่ที่ 20 เซนติเมตร หรือระดับน้ำไม่ควรเกิน 30 เซนติเมตร เนื่องจากกระชังเพาะพันธุ์จะอยู่กลางแจ้ง แสงแดดทำให้ไข่กบฟักตัวได้เร็ว และทำให้ลูกกบเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ไข่กบจะฟักในช่วง 1-2 วัน หรือบางครั้งอาจจะ 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและแสงแดด เมื่อกบฟักออกจากไข่แล้วจะกลายเป็นลูกอ๊อด ลูกอ๊อดจะกินไข่ที่ไม่ฟักเป็นตัว เป็นอาหารมื้อแรก และจะกินอยู่แบบนั้นประมาณ 3 วัน หลังจากฟักออกจากไข่

อาหารลูกอ๊อด จะให้เป็นไข่ต้ม โดยให้แต่ไข่แดง 1 วัน จะให้ 4-5 มื้อ (ลูกอ๊อดจะกินเยอะมาก อาจตายได้จึงต้องแบ่งมื้ออาหาร ให้อาหารไม่มากแต่ให้บ่อยๆ) ลูกอ๊อดจะกินไข่แดงต้มจนกว่าจะเริ่มมีขาและหางเกือบหาย จะทำการลดมื้ออาหารลง และให้อาหารเม็ดแช่น้ำแบบบดผสมกับไข่แดง เมื่ออายุครบ 7 วัน ก็จะให้อาหารเม็ดล้วนๆ

ลูกค้าเข้ามาชมฟาร์มกบ

เมื่อลูกกบอายุครบ 12-14 วัน ก็สามารถย้ายจากกระชังลงมาเลี้ยงในคูน้ำได้แล้ว การเลี้ยงในคูน้ำทำให้กบโตเร็ว แข็งแรง เพราะใกล้ชิดกับธรรมชาติ และในคูน้ำก็ยังมีการเลี้ยงปลา ปลาจะกินขี้กบเป็นอาหาร ทำให้ปลาก็โตเร็ว ถือเป็นการสร้างรายได้ 2 ต่อ ลูกกบจะขายได้ไซซ์ใหญ่เหรียญ 5 บาท ก็ต่อเมื่อมีอายุ 1 เดือน 10 วัน ถือว่าอยู่ในช่วงวัยที่แข็งแรง

คุณเฉลิมยศ กล่าวว่า ราคากบถือว่าเป็นราคาที่ดีมาก ปัจจุบัน ค้าปลีก กิโลกรัมละ 100 บาท หรือเนื้อกบที่ชำแหละแล้ว ราคาอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม กลุ่มตลาดของทางฟาร์มอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ชุมชน ร้านอาหาร และลูกค้าทางออนไลน์ มีทั้งขายเนื้อและลูกกบ

ข้อควรระวังในการเลี้ยงกบ น้ำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะลูกอ๊อดจำเป็นต้องอยู่ในน้ำที่ไม่มีคลอรีน น้ำในแหล่งเพาะเลี้ยงต้องเป็นน้ำที่ไม่เย็นหรือร้อน อยู่ในอุณหภูมิปกติ กบเป็นสัตว์ที่ชอบอากาศร้อน แสงแดด แต่ต้องไม่ร้อนจนเกินไป กบของทางฟาร์มไม่มีโรค เพราะด้วยระบบการเลี้ยงในคูน้ำด้วยวิธีธรรมชาติ ทำให้กบแข็งแรง และในส่วนของอาหารต้องให้อย่างเพียงพอ เพื่อกบจะไม่กินกันเอง

จัดส่งกบเนื้อให้กับลูกค้า

“เกษตรกรผู้เลี้ยงกบ หรือผู้ที่สนใจ หากมีเป้าหมายในการเลี้ยงอย่างชัดเจน ต้องการเลี้ยงเพื่ออะไร หากเป้าหมายที่ตั้งไว้มันใหญ่ เช่น ยึดถือป็นอาชีพหลัก ควรศึกษาการเลี้ยง วิธีการจัดการ ปัญหาต่างๆ ให้ครบทุกด้าน เพื่อรับมือและรู้วิธีการแก้ไข และที่สำคัญคือตลาดต้องมีตลาดรับซื้ออย่างชัดเจน เพื่อสร้างรายได้ที่ดีให้ผู้เลี้ยง”

สำหรับท่านใดที่สนใจลูกกบ กบเนื้อ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเฉลิมยศ บุญเสริม โทรศัพท์ 064-925-2697 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก รุ่งโรจน์ ฟาร์มกบ หล่มสัก