กระเทียมอินทรีย์น้ำแร่ ห้วยโป่ง แม่ฮ่องสอน

กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศหนาวเย็น อย่างที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นแหล่งปลูกกระเทียมใหญ่อีกแห่งของประเทศเนื่องจากลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง ที่ผ่านมาแม้ชาวบ้านหลายรายหันมาปลูกกระเทียมด้วยปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งให้กระเทียมหัวใหญ่ มีน้ำหนักมาก ขายได้ราคาดี หรือแก้ปัญหาเรื่องโรคและแมลง แต่ระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพผลผลิตและดิน ทั้งต้นทุนยังเพิ่มขึ้นทุกปี

คุณกรรณิกา ปัญญา กำลังจัดส่งกระเทียมให้ลูกค้าทางออนไลน์

อย่างที่เห็นชัดเจนคืออายุการเก็บรักษาหัวพันธุ์สั้นลง ถูกกดราคารับซื้อ และที่สำคัญคือขาดแคลนหัวพันธุ์ที่ต้องเก็บไว้สำหรับปลูกในฤดูถัดไปเพราะหัวพันธุ์ฝ่อ ขาดคุณภาพความแข็งแรง ทำให้ต้องเสียเงินซื้อหัวพันธุ์ทุกรอบ ดังนั้น จึงเกิด “การปลูกกระเทียมอินทรีย์” ขึ้นเพื่อพัฒนาด้านคุณภาพของกระเทียม สามารถลดต้นทุนของการใช้ปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลง ส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญสามารถเก็บไว้ได้นาน

แหล่งน้ำแร่ทางธรรมชาติ เรียกว่าน้ำแร่ห้วยโป่ง เพราะผุดขึ้นในบริเวณพื้นที่กลางทุ่งนาชาวบ้านเรียก “โป่งน้ำร้อน”

คุณกรรณิกา ปัญญา บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปลูกกระเทียมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลัก ปลูกตกทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กระเทียมที่ปลูกเป็นพันธุ์ดั้งเดิมพื้นบ้าน เป็นการปลูกแบบอินทรีย์จึงเก็บพันธุ์ไว้เพื่อปลูกรุ่นต่อไปเพราะมีความแข็งแรง ทนทาน ทำเช่นนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ใช้พื้นที่ปลูก 5 ไร่ (1 ไร่ใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 7 ถัง บรรจุถังละ 20 ลิตร) ปลูกปีละครั้ง เริ่มปลูกเดือนตุลาคม-ธันวาคม แล้วเก็บผลผลิตราวเดือนมีนาคม-เมษายน

มัดและชั่งตามน้ำหนักเพื่อส่งขาย 

ใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติผสมน้ำแร่รดต้นกระเทียม สร้างคุณภาพ

การปลูกกระเทียมที่บ้านห้วยโป่ง แม่ฮ่องสอน ไม่เพียงใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดเป็นสำคัญ แต่ยังใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีแหล่งน้ำแร่ไหลมาผสมเพื่อรดต้นกระเทียมด้วย จึงทำให้ผลผลิตกระเทียมมีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีสรรพคุณและคุณค่าด้านโภชนาการสูงกว่ากระเทียมที่อื่น

ตัดหัวพันธุ์กระเทียม

“ปกติน้ำที่ใช้รดพืชอินทรีย์ต้องมาจากแหล่งธรรมชาติที่ไม่ปนเปื้อนเคมี การปลูกกระเทียมบ้านห้วยโป่งได้นำน้ำจากห้วยมาใช้ แต่มีความพิเศษตรงที่น้ำจากห้วยมีส่วนผสมของน้ำแร่ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากในพื้นที่ที่เรียกว่าน้ำแร่ห้วยโป่ง เพราะผุดขึ้นในบริเวณพื้นที่กลางทุ่งนาชาวบ้านเรียก “โป่งน้ำร้อน” แล้วไหลมารวมกับน้ำในลำห้วย ชาวบ้านจึงนำน้ำดังกล่าวมาใช้ในกิจกรรมการเกษตร ไม่ว่าจะใช้รดต้นกระเทียม นาข้าว หรือในสวน”

กำลังคลุมฟางหลังปลูก 

การเตรียมพันธุ์กระเทียม

Advertisement

กระเทียมพันธุ์ที่จะใช้ปลูก ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน เพราะกระเทียมที่ใช้ปลูกควรมีระยะพักตัวอยู่สักระยะหนึ่ง แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน พันธุ์ที่ใช้ปลูกจะเก็บมาจากรอบการปลูกครั้งก่อนหน้านี้ ให้นำกระเทียมมาตัดแต่งทำความสะอาด ตัดเล็มรากเก่าและใบแห้งทิ้งให้หมด ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้กระเทียมพันธุ์ประมาณ 200 กิโลกรัม

ฝังหัวพันธุ์ลงในดินเพียงครึ่งเดียว 

การปลูก ดูแล และเก็บผลผลิต

Advertisement

สำหรับการปลูกกระเทียมของคุณกรรณิกาเป็นแนวทางอินทรีย์ ดังนั้น พื้นที่ปลูกกระเทียมจะไม่ทำนา แต่จะปลูกถั่วเหลือง พอถึงเดือนตุลาคมจะเก็บถั่วเหลือง ตัดหญ้าในแปลง แล้วไถพรวน รดน้ำ ปล่อยให้หญ้าโต แล้วใช้รถไถพรวนอีกครั้ง เนื่องจากการปลูกกระเทียมอินทรีย์ไม่ได้ใช้สารกำจัดหญ้า แต่ใช้วิธีไถกลบ ดังนั้น จึงต้องเสียเวลาไถพรวนถึง 2 ครั้ง จากนั้นตากดินไว้ 5 วัน

คลุมฟางเสร็จ

ก่อนปลูกจะรดน้ำแปลงปลูกให้ดินชุ่มชื้นไว้ล่วงหน้า นำหัวกระเทียมพันธุ์มาปลูกลงในแปลง โดยเอาส่วนโคนหรือที่เคยออกรากเก่าจิ้มลงไปในดินประมาณครึ่งหัว ระวังอย่ากดแรงจะทำให้ลำต้นหรือหัวช้ำ จะทำให้ไม่งอกหรืองอกรากช้า เว้นระยะห่างแต่ละจุดประมาณฝ่ามือ เมื่อปลูกทั่วทั้งแปลงให้คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งหนาพอสมควร เป็นการรักษาความชุ่มชื้นและคุมวัชพืช พอต้นกระเทียมสูงประมาณ 3-4 นิ้วแล้วค่อยรดน้ำ รดให้ชุ่มไม่ต้องแฉะ เว้นช่วงรดน้ำสัปดาห์ละครั้ง

กระเทียมที่รอบรรจุใส่กล่องเพื่อส่งขาย

ปุ๋ยที่ใส่เป็นปุ๋ยมูลไก่หรือค้างคาวแบบเม็ด ใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกหว่านตอนอายุต้น 1 เดือนครึ่ง ครั้งที่สอง 2 เดือนครึ่ง การใช้ปุ๋ยในพื้นที่ 5 ไร่ใช้ประมาณ 2 กระสอบต่อรอบปลูก (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) สำหรับน้ำที่ใช้รดมาจากน้ำในห้วยที่ผสมกับน้ำแร่ตามธรรมชาติรดต้นกระเทียมผ่านระบบสปริงเกลอร์

กระเทียมที่เริ่มแก่สามารถสังเกตได้จากสีเขียวของใบจางลง ปลายใบเริ่มเหลืองและใบมักจะถ่างออก เอนล้มลงมากขึ้น เมื่อบีบส่วนคอหรือบริเวณโคนใบต่อกับกระเทียม จะอ่อนนิ่ม ไม่แน่นแข็ง แสดงว่ากระเทียมแก่แล้ว จึงเริ่มเก็บผลผลิตด้วยการถอนต้นมากองรวมกันที่แปลงแล้วมัดขนาดกำมือ นำมาผึ่งลมในที่ร่มให้ใบเหี่ยวแห้ง

จากนั้นมัดเป็นจุก คัดขนาด และทำความสะอาด คัดพันธุ์แล้วนำไปแขวนไว้ในที่ร่ม เช่น ใต้ถุนบ้าน ให้มีลมโกรก เพื่อระบายความชื้นจากหัวและใบ ไม่ให้ถูกแดด ฝน หรือน้ำค้าง เมื่อเข้าช่วงเดือนพฤษภาคมจึงนำมาคัดแยกเกรด 2 ขนาด คือ ใหญ่ กับเล็ก แต่ละกำมีน้ำหนักกำละครึ่งกิโลกรัม

คัดเลือกหัวพันธุ์ 

การขาย

แบ่งช่องทางขายเป็น 2 ส่วน อย่างแรกขายให้กับลูกค้าในพื้นที่ชุมชนกับขายทางออนไลน์ โดยขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท (ปี 2565) ค่าขนส่งลูกค้ารับผิดชอบ ลูกค้าส่วนมากเป็นรายย่อยที่ซื้อไปใช้เอง มาจากหลายจังหวัด อย่างกรุงเทพฯ นนทบุรี ระยอง ฯลฯ โดยมักเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ

การปลูกกระเทียมอินทรีย์ของชาวบ้านห้วยโป่งจัดตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตรบ้านห้วยโป่ง” มีคุณกรรณิกาเป็นประธาน ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน กลุ่มนี้มีกิจกรรมปลูกกระเทียมและผักอินทรีย์ส่งขายเอกชน นอกจากนั้น ยังร่วมกับ สสส. ทำโครงการปลูกผักปลอดภัยส่งโรงเรียนแล้วนำผักบางส่วนส่งขายให้เอกชนด้วย

กระเทียมที่เก็บมา นำมาผึ่งลมในที่ร่มให้ใบเหี่ยวแห้ง

อย่างไรก็ตาม ยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาคราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือด้านความรู้และปัจจัยการปลูก ตลอดจนส่งเสริมการตลาดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับชาวบ้าน

สนใจสั่งซื้อกระเทียมอินทรีย์น้ำแร่ได้ที่ โทรศัพท์ 087-183-4248 เฟซบุ๊ก : กรรณิกา

ขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน