“ส.ผู้เลี้ยงหมู” ยื่นหนังสือค้านนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ชี้อาจทำราคาตก-เนื้อหมูล้นตลาด

ส.ผู้เลี้ยงหมู ยื่นหนังสือคัดค้านนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ ต่อกระทรวงพาณิชย์ ยันหากนำเข้ากระทบผู้เลี้ยง เกษตรกร ราคาตกต่ำ เนื้อสุกรล้นตลาด วอนให้รัฐออกยืนยันนำเข้าชัดเจน

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังเข้ายื่นหนังสือขอคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐอเมริกาต่อรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุกรไทยมีการพัฒนาการผลิตตลอดห่วงโซ่ และมีการปรับปรุงมาตรฐานการเลี้ยง เพื่อเป็นไปตามนโยบายอาหารปลอดภัย และมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด อีกทั้งเพื่อการยอมรับในตลาดต่างประเทศและการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะการใช้สารเร่งเนื้อแดง ทั้งนี้ หากมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ ซึ่งขัดต่อกฎหมายของไทยในการใช้สารเร่งเนื้อแดง จะเป็นการสร้างผลกระทบต่อผู้เลี้ยง และราคาเนื้อสุกรในตลาดด้วย

 ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงฯจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ และชิ้นส่วนเครื่องในสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในการด้านเกษตรที่เป็นรากฐานของประเทศ ตลอดห่วงโซ่การผลิตมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกว่า 10 ล้านคน ตั้งแต่เกษตรกรพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมไปถึงผู้เลี้ยงสุกรด้วย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็มีมาตรการเข้มงวดในการตรวจจับ ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างจริงจังด้วย

นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศที่มีการห้ามนำเข้าสารเร่งเนื้อแดงในปศุสัตว์เช่นกัน ทั้งสหภาพยุโรป รัสเซีย จีน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องการให้รัฐบาลยืนยันในการห้ามนำเข้าเนื้อสุกร หรือแม้กระทั่งเนื้อไก่จากสหรัฐ เพื่อป้องกันเนื้อสุกรล้นตลาด ราคาตลาดตกต่ำเช่นเดียวกับเวียดนาม แม้สหรัฐจะมีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐ ตามนโยบายของประธานนาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างแรงกดดันทางการค้าที่ต้องการให้ประเทศที่สหรัฐขาดดุลมีการนำเข้าสินค้า

“ไทยที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ โดยพยายามให้ไทยมีการนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงนั้นขัดต่อข้อห้ามภายในประเทศที่ไม่ให้ใช้ อีกทั้งการนำเข้าเนื้อไก่ มองว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อไข้หวัดนกมายังไทย จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยพิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจังด้วย”

อย่างไรก็ดี สำหรับการผลิตเนื้อสุกรภายในประเทศยังเพียงพอต่อความต้องการบริโภค ซึ่งต่อปีผลิตมากกว่าความต้องการ 4-5% และยังสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ปัจจุบันมีการเลี้ยงสุกรทั่วประเทศอยู่ที่ 15 ล้านตัน ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ปัจจุบันอยู่ที่ 55-58 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยผู้เลี้ยงยังสามารถอยู่ได้ อีกทั้งก็พยายามลดต้นทุการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์