กะเจียน ดื่มน้ำกะเจียน ได้พลังกระโจน เหมือนกระต่ายกระโดด

ชื่อวิทยาศาสตร์     Polyalthia cerasoides (Roxb.) Bedd.

ชื่อวงศ์               ANNONACEAE

 ชื่อสามัญ           Cherry Ashok

ชื่ออื่น                พญารากดำ (ชลบุรี) โมดดง (ระยอง) แคหาง (ราชบุรี) จันทร์ดง ทรายเด่น (ขอนแก่น) ไชยเด่น (อุบลราชธานี) ไม้เหลือง (ลำปาง) ค่าสามซีก (เชียงใหม่) สะบันงาป่า (ภาคเหนือ) เสโพลล่า (ไทใหญ่-แม่ฮ่องสอน)

ฉันต้องรีบเสนอตัวเอง ให้คนรู้จักทันกับปีใหม่ ปี 2566 นี้ เนื่องจากเป็น “ปีกระต่าย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งปี ความน่ารักของกระต่าย ความปราดเปรียว ว่องไว และ

“กระโจน-กระโดด” แสดงถึงพลังขา-ข้อเข่า แข็งแรง ด้วยเหตุนี้เองที่กลายเป็น “ภัย” แก่ตัวฉันโดยตรง เพราะคุณสมบัติ สรรพคุณของฉันนี่แหละเป็นที่รู้จักกัน นมนานมาแล้ว ว่าตำรับยาโบราณดั้งเดิมบันทึกว่าถ้าใช้รากต้นกะเจียน ต้มน้ำดื่ม 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน เป็นยาบำรุงเกี่ยวกับพลังทางเพศ ทุกวันนี้จึงมีผู้คนเสาะหากันมาก โดยวิถีโบราณนั้น ไม่ได้มุ่งให้คนแสวงหาความสำราญทางเพศ แต่เชื่อกันว่าจะช่วยแก้ปัญหา “นกเขาไม่ขัน” และบางรายที่ชีวิตสมรสครอบครัวเกิดความหมางเมิน

ที่ฉันพูดว่า “เป็นภัยแก่ตัวฉัน” ก็เพราะฉันถูก “ขุดรากถอนโคน” จนเหลือญาติพี่น้องน้อยลงทุกวันทุกวัน แล้วพบว่ามีผู้ตัดโค่นต้นกะเจียนออกไปจากพื้นที่มาก โดยไม่ได้ส่งเสริมการปลูกทดแทน รู้เพียงว่ามีประโยชน์ มีคุณค่าก็เก็บเกี่ยวอย่างเดียว แต่ก็ยังดีนะเป็นบุญที่ “มูลนิธิสุขภาพไทย” ได้เชิญชวนให้ช่วยกันส่งเสริมการปลูก และคงยังไม่สายที่จะช่วยกันขยายพันธุ์ให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป รู้จักสรรพคุณสมุนไพรนำใช้ประโยชน์จริง ไม่ใช่รู้จักกันเพียงเรื่องเล่า ฟังต่อกันมา

ฉันโอดครวญด้วยความน้อยใจว่า “ของดีๆ ของฉัน” มีการศึกษาตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิม แม้จะดีเด่นแค่ไหนหากไม่ช่วยกันเพาะขยายพันธุ์แล้ว อีกไม่นานอาจเหลือเพียง “ตำนานเล่าสู่กันฟัง” แม้แต่เรื่องชื่อของฉันก็เขียนไม่ตรงกัน มีทั้ง “กะเจียน และ กระเจียน” แต่ฉันไม่ถือสาหรอก จะเรียกอะไรฉันก็เป็นที่ต้องการของทุกคน เพราะปัจจุบันฉันก็ก้าวย่างผ่านยุค digital ที่ชอบเถียงกันว่าจะอ่านว่า “ดิจิตอล หรือ ดิจิทัล” เข้าสู่ Metavese (เมตาเวิร์ส) แล้ว มีคำภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” อย่างเป็นทางการ แต่สำหรับตัวฉันอยากจะเรียกเป็นคำศัพท์ ส่วนตัวว่า “ทิพย์เนตร” เพราะรู้เห็นไปหมดทุกอย่าง

ด้วยฉันได้เข้าสู่วงวิชาการมุมการศึกษางานวิจัย ที่สนับสนุนว่าสารสกัดเปลือกลำต้นของฉัน มีคุณสมบัติในการต่อต้านกระบวนการที่เซลล์ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ (Oxidative Stress) เป็นสาเหตุของโรคแห่งความเสื่อมเรื้อรัง มากกว่า 70 ชนิด นั่นแสดงให้เห็นว่า “กะเจียน” เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ เห็นไหมล่ะว่า โลกยังต้องการฉันเหมือนกัน

ตัวฉันถูกจัดอยู่ในสมุนไพรหายาก ซ้ำชื่อก็ไม่เข้า (คุ้น) หูใครๆ พอเอ่ยชื่อฉัน บางคนไปคิดถึง “กระเจียว-กระเจี๊ยบ” ซึ่งเป็นคนละทรงต้นเลย ฉันเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เพราะมีความสูงตั้งแต่ 5-15 เมตร ทรงพุ่มเรือนยอด เป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกต้นเรียบสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม กิ่งออกเกือบตั้งฉากกับต้น ใบเดี่ยวรูปรียาวเรียงสลับ ปลายใบแหลมเรียว โคนใบมนเว้าขอบใบเรียบ ท้องใบมีขนนุ่มก้านใบสั้น ใบอ่อนมีขนนุ่มและขนร่วงเมื่อใบแก่ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกไม่เกิน 3 ดอก กลีบดอกชั้นในจะใหญ่กว่า

ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะบาง เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ก้านดอกยาว 3 เซนติเมตร มีขนประปราย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากชิดแน่นเป็นพุ่มกลม ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ผลกะเจียนออกเป็นช่อหรือกลุ่มเป็นกระจุกบนแกนตุ้มกลม มีผลย่อย 10-20 ผล ก้านผลเรียวเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีแดงส้ม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ออกผลประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน นำไปเพาะขยายพันธุ์ได้โดยปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิดที่ไม่มีน้ำท่วมขัง สู้แสงแดด ระยะปลูกควรห่างต้นแถวละไม่น้อยกว่า 5 เมตร เป็นไม้ใบดกให้ร่มเงาได้ดี นำปลูกประดับ จัดสวน มีทรงพุ่มแปลกตา เนื้อไม้มีสีเหลืองหรือขาวเหลือง ใช้ทำด้ามเครื่องมือเกษตรกรรม จักสาน ก่อสร้างได้ดี พบทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง และเป็นหนึ่งพรรณไม้ในพระจุฑาธุชราชฐาน

ฉันยังมีญาติพี่น้องกระจายอยู่ในอินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน สำหรับในเมืองไทย จัดเป็นสมุนไพรโบราณมีคุณค่า ทั้งรากและเนื้อไม้แม้มีรสขม นิยมต้มดื่มบำรุงธาตุ แก้วัณโรคในลำไส้ วัณโรคปอด บางท้องถิ่นใช้ทั้งเนื้อและกิ่งต้มดื่ม แก้กระษัย ปวดเมื่อย ปัสสาวะพิการ

ส่วนใบสดมีรสเฝื่อนเย็น ตำพอกฝี แก้ปวด อักเสบ ดอกมีกลิ่นหอม ในวงการเครื่องหอมนำไปสกัดทำน้ำหอม ได้กลิ่นดี เปลือกด้านในจะมีเส้นใยละเอียดอ่อน แปรรูปทำเชือกหรือทอทำเป็นถุงได้ ส่วนผลกะเจียนมีรสหวานอร่อย สำหรับส่วนรากซึ่งเป็นที่ต้องการ ที่เสาะหากันมากเพราะเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำหนัด ให้พลังทางเพศดังที่กล่าวไว้ จึงเป็นยาดีสำหรับบุรุษ ส่วนสตรี ใช้รากต้มดื่ม 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาเกี่ยวข้องด้านกำเนิดบุตรได้ ขณะที่ “คุณผู้ชาย” ใช้รากต้มดื่ม คลายเส้น คลายเอ็น แก้ปวดเอวปวดหลัง ช่วยให้ข้อเข่าคล่องตัว ปราดเปรียวดุจกระต่าย กระโจนเป็น “พญาเทกระจาด” อย่างนี้แล้วคงต้องหาปลูกกันคนละต้นแล้วล่ะ

ฉันภูมิใจกับชื่อของฉัน แม้จะไม่ค่อยไพเราะ แต่ละชื่อแปลกๆ และข้องใจหรือดีใจก็ไม่รู้ ที่ทางภาคเหนือเรียกฉันว่า “สะบันงาป่า” ที่ว่าข้องใจเพราะชื่อนี้ฟังแล้ว น่ารักเป็นหญิงสาวเหนือ งามกับคำว่า “สะบันงา” แต่พอมีคำว่า “ป่า” ต่อท้าย ฉันไม่รู้ว่างามหรือไม่? ส่วนดีใจที่มีคำนำหน้าว่า “สะบันงา” เพราะรู้ว่าคือ “ดอกกระดังงา” นั่นเอง บางคนนำดอกบานมาอบเสื้อให้หอมระรวย บ้างก็นำมาอบใบตองใช้มวนบุหรี่

เนื้อไม้ทำฟืนไม้หอมเผาศพพระเถระได้อานิสงส์สูงเป็นไม้มงคล หากปลูกในบ้านก็เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ส่วนตัวฉันชอบฟังเพลง “กระดังงาลนไฟ” มาก ทั้งของ ทูล ทองใจ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ฟังแล้วไพเราะหูเหมือนได้กลิ่นหอมกระดังงา แต่ตอนนี้ฉันได้ยินเขาพูดถึงละครทีวีเรื่อง “สร้อยสะบันงา” ฉันจึงอยากเป็นพระเอก ละครเรื่อง “สร้อยสะบันงาป่า” จังเลย