จับตา! สินค้าเกษตรร่วงยกแผง รัฐเอาไม่อยู่-ทุบกำลังซื้อ

จับตาราคาสินค้าเกษตรดิ่งเหว ทั้งข้าว-มันสำปะหลัง-ยางพารา-ข้าวโพด-ผลไม้ ทุบกำลังซื้อรากหญ้าไตรมาส 3 วูบ ชาวสวน-ชาวไร่ โอดรัฐบาล “หมดมุข” เอาแต่อัดมาตรการเดิม ๆ เหมือนให้ยาแก้ปวด ไม่แก้ปัญหาตรงจุด ทั้งการลักลอบนำเข้ามันเส้นแนวชายแดน นอมินีจีนสวมรอยตัดราคา เปิดนำเข้าข้าวสาลีกดราคาข้าวโพด ปาล์มสต๊อกล้น โรงสีมีปัญหาสินเชื่อยางถูกลอยแพ มังคุดราคาดิ่งเหว ทำรายได้เกษตรกรหดลงต่อเนื่อง

แม้ว่าสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สคก.) จะเผยแพร่รายงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นก็ตาม สวนทางกับสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังต่อไตรมาส 1/2561 ต้องเผชิญกับภาวะราคาตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว-มันสำปะหลัง-ข้าวโพด-ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ตามฤดูกาล ส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มรากหญ้าโดยตรง

ขณะที่รัฐบาลดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ “ล่วงหน้า” แต่เลือกที่จะใช้วิธีรอจนเกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาเกิดขึ้นแล้ว จึงเข้ามาดำเนินการแก้ไข โดยตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือ การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แถมมาตรการที่รัฐนำออกมาใช้ก็เป็นมาตรการเดิม ๆ การต่ออายุโครงการเดิม ๆ ซึ่งถูกพิสูจน์ในครอปที่ผ่านมาแล้วว่า ใช้ไม่ได้ผล

ข้าวผันผวนหนัก

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึงสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ขณะนี้ได้ลดลงเหลือตันละ 8,000 บาท หลังจากที่ปรับขึ้นมาเพียง 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ชาวนา “ยังต้องลุ้น” ต่อไปว่า

ผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังปี 2560 รอบที่ 2 ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีราคาลดลงต่อเนื่องหรือไม่ (ผลผลิตใกล้เคียงกับปี 2559) โดยเป็นที่น่าสงสัยก่อนหน้านี้ ผู้ส่งออกข้าวได้ออกมาแถลงราคาส่งออกข้าวปรับตัวสูงขึ้น 20-30% สวนทางกับราคาข้าวเปลือกในประเทศ ทำให้ “ราคาข้าวขึ้นไปในระยะสั้น ๆ แล้วก็ปรับลดลงมา”

ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่ประกาศออกมา ส่วนใหญ่ใช้มาตรการเช่นเดียวกับปี 2559/2560 โดยมุ่งชะลอการขายข้าวด้วยการให้เก็บไว้ในยุ้งฉาง (มาตรการจำนำยุ้งฉางของ ธกส.) แต่ชาวนาอยากจะให้รัฐบาลช่วยประกาศราคาขั้นต่ำที่จะซื้อข้าวเปลือกให้ทราบล่วงหน้า ก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปีจะออก จะได้ไม่ไปขายราคาต่ำ แหล่งข่าวจากโรงสีข้าวยอมรับว่า ราคาข้าวที่ปรับตัวลดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ปรับตัวลงไปตันละ 1,000-2,000 บาท โดยข้าวเปลือกที่เคยขึ้นไปตันละ 9,500 บาท ลดเหลือ 8,100 บาท ส่วนราคาข้าวสารจากตันละ 14,000 บาท ลดลงเหลือ 12,000 บาท สาเหตุสำคัญมาจากผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ไปขายตัดราคากันเอง ทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานขนข้าว ทำให้ส่งมอบข้าวล่าช้า และปริมาณฝนที่ตกลงมามากในช่วงนี้ ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง จึงส่งผลกระทบทำให้ราคาข้าวปรับลดลงอย่างรวดเร็ว

“โรงสีข้าวก็ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากถูกธนาคารจำกัดวงเงินให้สินเชื่อ เรื่องนี้ร้องเรียนไปยังรัฐบาลแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข” ล่าสุด ในที่ประชุมรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นชอบ โครงการปรับลดพื้นที่ปลูกพืชให้เหมาะสมภายแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/2561 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 1,296.53 ล้านบาท เป้าหมาย 700,000 ไร่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ จากก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือในการทำการตลาดข้าวอินทรีย์

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวว่า “ตอนนี้กำลังติดตามสถานการณ์ราคาข้าวอย่างใกล้ชิด” จากช่วงก่อนหน้าที่ราคาข้าวปรับสูงขึ้น แต่ต้องหารือภายใน นบข. ก่อนว่า จะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไรสำหรับข้าวทั่วไป ส่วนโรงสีจะใช้โครงการชดเชยดอกเบี้ย 3% ซึ่งเป็นมาตรการเดิมที่ผ่าน นบข. การชะลอขายในยุ้งฉางก็คงเดิม

ไร่มันฮือราคาร่วงเหลือ 90 สต.

นายราศี ไผ่สะอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ทำหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหาราคาหัวมันสดตกต่ำภายใน 30 วัน โดยหัวมันในพื้นที่อีสานตอนบน ขายกันอยู่เพียง กก.ละ 0.90-1.10 บาทเท่านั้น ถ้ารัฐบาลยังไม่เร่งออกมาตรการช่วยเหลือก็จะกระทบกับผลผลิตมันสำปะหลังในฤดูกาล 2560/2561 แน่นอน

“ราคามันสำปะหลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2559 ทั้ง ๆ ที่ปริมาณความต้องการใช้มันสำปะหลังมี 42 ล้านตัน หรือเกินกว่าผลผลิตที่ไทยผลิตได้ ประมาณ 31 ล้านตัน จนต้องนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ปีละ 4 ล้านตัน แต่กลับเกิดปัญหาราคาปรับตัวลดลง จากสาเหตุสำคัญมีผู้ส่งออกมันเส้นที่เป็นนอมินีของบริษัทจีนเข้าไปแข่งขันขายมันเส้นในราคาต่ำแล้วมากดราคารับซื้อภายในประเทศ ยกตัวอย่าง ราคา FOB เคยสูงถึง 195 เหรียญ แต่ขณะนี้เหลือเพียง 141-144 เหรียญ หรือเท่ากับว่าขายมันเส้นได้ราคาแค่ กก.ละ 4.50 บาท จากที่เคยขายได้ 6.20 บาท เมื่อคิดทอนเป็นราคาหัวมันเหลือ กก.ละ 1.10-1.20 บาท เกษตรกรขาดทุนจากต้นทุนการเพาะปลูก กก.ละ 1.90 บาท รวมค่าขนส่ง-ค่าขุดจะมีต้นทุนสูง กก.ละ 2.40 บาท” นายราศีกล่าว

ดังนั้น สมาคมชาวไร่มันฯจึงยื่นข้อเสนอ 6 ข้อ ให้รัฐบาล ได้แก่ 1) ขอให้ยกเลิกการนำเข้าข้าวสาลี 2) ขอให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตเอทานอลจากมันเส้นจาก 34% เป็น 50% 3) ขอให้ยกเลิกการใช้เบนซิน 91 และเพิ่มการใช้ อี 20 4) ขอให้ควบคุมการนำเข้ามันเส้นคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน และควบคุมการส่งออกมันเส้นโดยบริษัทจีนที่ไปขายราคาต่ำ 5) ควรมีการขึ้นทะเบียนและติดตามสถานการณ์ส่งออก และ 6) กำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกและราคาที่รับซื้อจากเกษตรกร โดยคำนวณจากราคาที่ควรจะขายมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ให้กับประเทศจีนขณะที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เห็นชอบ 14 มาตรการดูแลชาวไร่

มันสำปะหลัง วงเงิน 616 ล้านบาท แต่ “มาตรการเหล่านี้เกษตรกรยังไม่ได้ประโยชน์” ด้าน นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เตรียมประกาศเพิ่มมาตรการการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการให้ผู้ประกอบการนำเข้าต้องแจ้งวัตถุประสงค์การนำเข้า

สต๊อกปาล์มล้น 4.5 แสนตัน

ด้านมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเก็บสต๊อกไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 90 ล้านลิตร (หรือคิดเป็นผลปาล์มประมาณ 7.6 ล้านตัน) จากเดิมที่สต๊อก 50 ล้านลิตร เพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มออกจากตลาดจากปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด 11.7 ล้านตันนั้น ปรากฏสถานการณ์ราคาผลปาล์มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ใช่มาจากการกำหนดมาตรการข้างต้น เพราะผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถสต๊อกไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นได้ แต่เป็นเพราะปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดลดลง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าห่วงก็คือ ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่ยังคงค้างอยู่ในประเทศในเดือนมิถุนายน น่าจะมีมากถึง 454,070 ตัน หรือสูงกว่าปริมาณสต๊อกเพื่อความปลอดภัยที่กำหนดไว้ ประมาณ 200,000 ตัน ในขณะที่สามารถส่งออกได้เพียง 4,632 ตัน ตรงนี้จะ “กดดัน” ราคาผลปาล์มในครอปหน้า

ด้านนายบุญรักษ์ อุ่นยวง กรรมการผู้จัดการ บริษัทเพื่อกระบี่ปาล์มออยล์ กล่าวว่า ตอนนี้ราคาปาล์มลดลงเหลือ 3.5 บาท เนื่องจากปัจจัยนโยบายนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบรัฐบาล ทำให้โรงสกัดกดราคารับซื้อปาล์มทะลายจากเกษตรกรที่อยู่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาเดิม ๆ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา

ข้าวสาลีทุบราคาข้าวโพดดิ่ง

นายทรงศัก ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวถึงราคาข้าวโพดที่ตกต่ำลงมาว่า มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) โดยให้ซื้อราคา กก.ละ 8 บาทนั้น แม้จริงแล้วเกษตรกรขายได้ราคาแค่ กก.ละ 7.20-7.70 บาท/กก.เท่านั้น หรือไม่ถึง 8 บาท เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์ใช้มาตรฐานจัดเกรดข้าวโพด จนกระทั่งตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2560 ราคาข้าวโพดหน้าโรงงานปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ กก.ละ 8.50 บาท

ดังนั้น สมาคมการค้าพืชไร่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการเพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยขอให้เพิ่มมาตรการทางภาษีนำเข้าข้าวสาลี-DDGS (กากข้าวโพด)-รำข้าวสาลี-ปลายข้าวสาลี ในอัตราที่เคยใช้ก่อนมีการปรับลดภาษีนำเข้ามาเป็น 0% ในปัจจุบัน

สถาบันชาวสวนยางขาดทุนยับ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ราคายางพาราทุกชนิดทั้งน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันตกต่ำและผันผวนต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา โดยเฉพาะราคาน้ำยางสด (ท้องถิ่น) ที่ลดลงใกล้จะถึง 3 กก. 100 บาท (37-39 บาท/กก.) ส่วนยางแผ่นดิบในบางวันลดลงมาอยู่ที่ 47-48 บาท/กก., ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 52-53 บาท/กก. ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีมาตรการใหม่ ๆ ออกมา เพียงแต่ใช้ “ต่ออายุ” มาตรการเดิม อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกร, โครงการสร้างความเข้มแข้งให้เกษตรกรชาวสวนยาง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความผันผวนของราคายางได้

นายสมพร ศรียวง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนชาวสวนยางบ้านพรุนายขาว จำกัด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงขณะนี้ ผู้ประกอบการยาง-กลุ่มเกษตรกร-สหกรณ์-วิสาหกิจชุมชน ประสบภาวะขาดทุนจากราคายางพาราที่ตกต่ำและผันผวนอย่างหนัก เนื่องจากรับซื้อจากสมาชิกในราคาที่สูงแล้วขายออกได้ราคาต่ำ

โดยกลุ่มยางขนาดใหญ่ขาดทุนแห่งละ 2-3 ล้านบาท ส่วนกลุ่มยางขนาดเล็กขาดทุนกว่า 1 ล้านบาท ขณะเดียวกันหลายกลุ่มก็กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางในฤดูกาลนี้ สำหรับจังหวัดพัทลุงมีกลุ่มยางไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท

สอดคล้องกับ นายชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) กล่าวว่า สมาชิกของ ชสยท. ประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศ จะมีกำไรและขาดทุนในบางช่วงโดยเฉพาะปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา กลุ่มสถาบันเกษตรกรยางยังประสบภาวะขาดทุนอยู่

มังคุดราคาดิ่งเหว

นายธานินทร์ ยิ่งสกุล เกษตรกรบ้านหนองแฟบ จ.ตราด กล่าวว่า ราคามังคุดลดลงมากในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โดยล้งรับซื้อมังคุดคละกิโลกรัมละ 8-10 บาท ซึ่งราคานี้ชาวสวนอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าเก็บสูงถึง 5-6 บาท/กก. จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐช่วยหาตลาดระบายผลผลิต หรือมีห้องเย็นให้เก็บชะลอไม่ให้มังคุดล้นตลาดเพื่อจะได้ดึงราคาขึ้น

เช่นเดียวกับ นายบรรจบ สงัดศรี ชาวสวนมังคุดจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ขณะนี้ราคามังคุดหน้าสวนอยู่ที่ 5-7 บาท/กก. ราคาจำหน่ายที่ตลาด 12-13 บาท/กก.เท่านั้น ถือว่าเป็นราคาต่ำที่สุดเท่าที่เคยทำสวนมา โดยเมื่อ 2 ปีก่อนราคาขึ้นสูงสุดถึง 130 บาท/กก.

ยาง-ปาล์มฉุดเชื่อมั่น ศก.ใต้

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เดือนมิถุนายนว่า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม เนื่องมาจากความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยราคายางพาราเดือนมิถุนายนปรับตัวลง 14 บาท/กก. ส่งผลให้รายได้ลดลง การจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัวและลดลง

 

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์