“กาลักน้ำ ประปาภูเขา” นวัตกรรมสูบน้ำจากที่สูง ลดค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์เกษตรกร

“เราใช้วิธี น้ำแลกป่า เพื่อหยุดการบุกรุกป่าของชาวบ้าน หากชาวบ้านเข้าถึงน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรอย่างทั่วถึงก็ไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ทำกินเข้ามา เราใช้ระบบกาลักน้ำประปาภูเขาเพื่อการกระจายน้ำอย่างเท่าเทียมให้กับชาวบ้านกว่า 1,000 ครัวเรือน และไม่ต้องใช้พลังงานในการสูบน้ำให้สิ้นเปลือง จากนั้นมาต่อยอดด้วยการใช้เซ็นเซอร์ติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อวัดปริมาณน้ำและอัตราการไหลของน้ำซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้เราบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนได้ดีขึ้น”

คุณขวัญประชา วังสนิท

นวัตกรรม “กาลักน้ำ ประปาภูเขา” เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการสูบน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำซึ่งอยู่บนพื้นที่สูง ในการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงมีความยุ่งยาก จึงเปลี่ยนไปใช้หลักการของ “กาลักน้ำ” ซึ่งช่วยให้สามารถสูบน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำที่อยู่ห่างไกลได้ ลดการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกด้วย

นวัตกรรม “กาลักน้ำ ประปาภูเขา”

คุณขวัญประชา วังสนิท ช่างฝีมือดี ในพื้นที่ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ที่ประดิษฐ์และคิดค้นนวัตกรรม “กาลักน้ำ ประปาภูเขา” เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรที่ทำการเกษตรพืชรูปแบบต่างๆ แต่ประสบปัญหาในเรื่องของการสูบน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำที่อยู่บนพื้นที่สูง รวมถึงในเรื่องการใช้ระยะเวลาและแรงงานคนที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตอบโจทย์การใช้งานกับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านลงพื้นที่

“จริงๆ แล้ว เป็นปัญหาของชาวบ้านก็คือฝายกั้นน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่ทำไว้โดยด้วยงานของรัฐทางภาคเหนือตามร่องห้วย ที่มีภูเขาล้อมและน้ำไหลลงมาตามร่องห้วย ซึ่งออกแบบด้วยการสามารถปิดและเปิดผ่านร่องเหมือง เหมืองก็กระจายอยู่ในพื้นที่ต่ำอยู่แล้วครับ แต่ว่าทีนี้พอพื้นที่ต่ำแบบนั้น ร่องเหมืองจึงไหลไปตามลำห้วยหรือพื้นที่ที่มันต่ำมาก แต่ว่าพอชาวบ้านจะใช้น้ำในพื้นที่ทางภาคเหนือที่ที่เป็นพื้นที่ชันเชิงเขา ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่ตรงนั้นต่ำกว่าระดับฝาย แต่ร่องเหมืองของฝายจริงๆ นั้นใช้ได้เฉพาะกลุ่มชาวนาที่เป็นผู้ใช้น้ำนะครับ แต่ว่าเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่เชิงเขานั้น เขาจะไม่สามารถใช้น้ำได้ หรือว่าถ้าเขาจะใช้ต้องมีการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อสูบน้ำขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการทำเกษตรกรรมต่างๆ ครับ”

ประชุมหารือติดตั้ง “กาลักน้ำ”

ด้านกลไกการทำงาน คุณขวัญประชา เล่าว่า ใช้หลักการการทำงานของระบบแบบเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน คือใช้ระบบแรงดึงดูดและแรงโน้มถ่วง เปรียบเทียบลักษณะการทำงานของการลักน้ำ เสมือนการใช้หลอดดูดน้ำขึ้นจากแก้วน้ำนั่นเอง

ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

“ผมก็เลยมีความคิดว่าในเมื่ออยู่ต่ำกว่าระดับน้ำของฝายอยู่แล้ว ถ้าเราทำกาลักน้ำ โดยดึงน้ำแต่ใช้ในระบบท่อ ก็สามารถกระจายให้กับคนที่ในพื้นที่ชันเชิงเขาได้ด้วย ก็จะเพิ่มกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ให้กับตัวฝายตัวนั้นครับใช้ระบบแรงดึงดูดและแรงโน้มถ่วงครับ ใช้ระบบเดียวกับการที่เราดูดน้ำขึ้นจากแก้วน้ำ ลักษณะการทำงานคือตอนแรกเราใช้ปากดูดน้ำก่อน ให้น้ำที่อยู่ในสายเป็นสุญญากาศ ทีนี้เราก็วางลงในพื้นที่ต่ำกว่าระดับข้างบนครับ น้ำก็จะไหลตามแรงโน้มถ่วง เหมือนเราดูดน้ำจากแก้วครับ ส่วนที่เราลงไปทำคือออกแบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้นครับ”

เมื่อสอบถามถึงด้านต้นทุนการผลิต ในช่วงแรกของการทำนวัตกรรม “กาลักน้ำ ประปาภูเขา” ได้ใช้วัสดุที่เป็นเหล็ก ทำให้มีราคาสูงถึงหลักแสน จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นท่อพีวีซีในการผลิตแทน สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตให้อยู่ในหลักหมื่นและหลักพันเท่านั้น และสามารถใช้งานได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน คุ้มค่าต่อการใช้งานอีกด้วย

“ต้นทุนการผลิตขึ้นอยู่กับขนาดครับ สามารถทำได้ตั้งแต่ท่อพีวีซีหรือท่อเหล็ก ตอนแรกที่ผมทำก็ใช้ท่อเหล็กขนาด 6 นิ้วครับ เป็นท่อน ท่อนละ 6 เมตร ก็ใช้เกือบ 10 ท่อนครับในการทำ งบประมาณที่ใช้ทำจะอยู่ที่ 1 แสนกว่าบาท แต่ช่วงหลังพอรู้ว่าใช้ท่อพีวีซีทำได้และราคาถูกกว่าและง่ายกว่าด้วย ง่ายกว่าเยอะมาก ก็เปลี่ยนมาใช้ ลดต้นทุนเยอะมาก ต้นทุนก็จะไปอยู่ที่ขนาดท่ออยู่ที่หลักหมื่นครับ หรือท่อเล็กๆ ก็สามารถทำได้ ก็จะอยู่ที่หลักพัน ก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ทำครับ”

ด้านผลตอบรับ คุณขวัญประชา เล่าว่า อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ รู้สึกดีใจที่นวัตกรรมของตนเองที่ได้ออกแบบประดิษฐ์คิดค้นขึ้น จะสามารถช่วยเหลือ แก้ปัญหา และลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

“ในตอนแรกเราทำเป็นท่อเหล็กนะครับ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ก็มีความตื่นเต้นกับตัวนวัตกรรม เพราะคิดว่าไม่มีอะไรที่จะสามารถดึงน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ ชาวบ้านเขาก็ตื่นเต้น เราก็ทำออกมา ดึงน้ำและไปพักที่เนินเขาใกล้ๆ กันที่มันต่ำกว่า ก็ทำไปเรื่อยๆ ครับ”

การพัฒนาในอนาคต คุณขวัญประชา บอกต่ออีกว่า อาจจะมีการทำกาลักน้ำให้อยู่ในส่วนของการย่อขนาด เพื่อออกแบบให้ตอบโจทย์ต่อการใช้งานในสถานที่และการใช้งานของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

“จริงๆ แล้ว สามารถย่อขนาดได้ ทำเป็นระบบท่อพีวีซีที่ท่อเล็กได้ และมีระบบเติมน้ำอัตโนมัติ โดยใช้ตัววาล์วที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า แล้วเราก็ใช้โซลาร์เซลล์ ตัวกาลักน้ำจะมีปัญหาตอนช่วงหน้าแล้ง น้ำแห้งเยอะๆ สมมติว่าเราเติมน้ำให้เป็นสุญญากาศ 1 ครั้งแล้วก็ปล่อย ก็สามารถใช้ได้ 1-2 อาทิตย์ มันก็ต้องกลับไปเติมน้ำอีกครั้ง เพราะว่าต้องใช้แรงดึงน้ำสูง ถ้าเราจะแก้ ก็สามารถแก้ได้ เราก็ทำเป็นตัวระบบคือใช้ตัววาล์วที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า แล้วก็ทำถังน้ำเล็กไว้ใกล้ๆ ก็จะสามารถเติมน้ำอัตโนมัติ โดยการตั้งเวลาไว้ก็ได้ เปิดเติมทุก 5 วัน เติมแล้วก็ปิด เพราะด้วยระบบอัตโนมัติก็สามารถทำได้”

ในด้านของราคาของนวัตกรรม “กาลักน้ำ ประปาภูเขา” จะมีราคาที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่หลักพัน จนถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับวัสดุและขนาดที่ต้องการนั่นเอง

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับนวัตกรรม “กาลักน้ำ ประปาภูเขา” สามารถติดต่อ คุณขวัญประชา วังสนิท ได้ที่หน่วยงานผู้ให้ข้อมูลเรื่องกาลักน้ำศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน หรือทางเบอร์โทรศัพท์ 091-071-8902 คุณขวัญประชายินดีให้คำปรึกษาค่ะ