เลี้ยงหนูพุกใหญ่ ส่งออก สร้างเงินแสน มิติใหม่แห่งอาหารพื้นถิ่น

คุณมนตรี ชูกำลัง วัย 41 ปี จากอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก อดีตผู้รับเหมาก่อสร้างที่กรุงเทพฯ ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมางานน้อย จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดและทดลองเลี้ยงหนูพุกใหญ่ จนปัจจุบันหันมาทำอาชีพนี้เต็มตัว และขยายตลาดสู่ต่างประเทศ

ปัจจุบันคุณมนตรีเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงหนูพุกใหญ่อำเภอพรหมพิราม

“ที่ฟาร์มได้ปรับรูปแบบโดยการเลี้ยงเป็นส่วนของทีมงาน ส่วนผมเน้นเรื่องการตลาดและแปรรูป ทางผมจะไปรับหนูเป็นจากลูกฟาร์ม นำมาแปรรูปที่ฟาร์มหลักของผมหรือเรียกว่าฟาร์มส่วนกลาง และเป็นส่วนหาองค์ความรู้เพื่อที่จะมาพัฒนาในองค์กรที่รวมกลุ่มกันเลี้ยงโดยมีผู้ร่วมโครงการวิสาหกิจชุมชนมีทั้งหมด 20 ฟาร์ม มีผู้ร่วม 5 จังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ที่เกษียณอายุ โดยตอนนี้มีผู้ร่วมจากจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุโขทัย และพิจิตร” คุณมนตรี กล่าว

การพัฒนาพันธุ์ ปัจจุบันการเกษตรก้าวหน้า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สามารถเลี้ยงให้มีน้ำหนักถึง 3 กิโลกรัม หนูที่จะอบโอ่งจะต้องมีน้ำหนักตั้งแต่ 1-3 ตัวต่อกิโลกรัม ถ้าขนาดมากกว่านั้น อัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อจะน้อย จะไม่ได้คุณภาพ (หนู 1 กิโลกรัม ชำแหละแล้วจะเหลือ 7-8 ขีด)

คุณมนตรี ชูกำลัง กับฟาร์มหนูพุกใหญ่ที่สะอาดและอากาศถ่ายเทได้ดี 

สร้างเงินแสนเงินล้านจากการเลี้ยงหนูพุกใหญ่ 

การเลี้ยงหนูพุกมีมากมายหลายฟาร์ม แต่การตลาดเป็นเรื่องใหญ่ เลี้ยงอย่างไรให้ได้คุณภาพและหาตลาดอย่างไรให้ได้ลูกค้า รวมถึงการสร้างรสชาติให้ถูกปากคนไทย นอกจากไทยแล้วทำอย่างไรจะส่งออกไปยังต่างประเทศที่มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ให้หันมากินอาหารที่เป็นสัตว์ที่ต้องกำจัดให้มาเป็นอาหารที่สะอาดและได้คุณค่ามากมาย รสชาติอร่อยโดยเฉพาะเนื้อหนูพุกใหญ่เราเลี้ยงแบบเลียนแบบธรรมชาติ กินอาหารพวกผักพวกหญ้าทำให้ไขมันไม่มาก เนื้อแน่น และยังมีการแปรรูปเป็นอาหารที่เก็บไว้ได้นาน

ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มถือว่าครบวงจร เราได้โอท็อป 3 ดาวทุกตัว แม้กระทั่งอาหารสำหรับหนูก็ผลิตขึ้นมาใช้ในเฉพาะกลุ่มเราเอง ใช้พืชผักที่ปลูกขึ้นมาในกลุ่มเราเองภายใต้ชื่อ ดีโคต้า (Deecota)

หนูพุกจากลูกฟาร์มเตรียมนำมาแปรรูป

ผลิตภัณฑ์แปรรูป มีหนูอบโอ่ง สามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องปกติ 3 วัน แต่ถ้าแช่ตู้เย็น สามารถเก็บไว้กินได้ 1 เดือน มีหนูอบแห้งหรือเนื้อหนูเจอร์กี้ ขายกล่องละ 100 บาท มี 10 ชิ้น สามารถเก็บได้นานเป็นปี หนูสดแช่แข็งเก็บในอุณหภูมิแช่แข็งได้นาน 2 ปี หนูแผ่น หนูผัดเผ็ดกึ่งสำเร็จรูป เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมปรุง เหมาะสำหรับลูกค้าที่อยู่หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม 1 เซ็ต ราคา 100 บาท เหมาะสำหรับ 2 ท่าน ประกอบด้วยเนื้อหนูสับและรวนสุก พริกแกง (สนับสนุนกลุ่มแม่บ้าน) กะเพรา ใบมะกรูด ใบยี่หร่า การส่งออกต่างประเทศ โดยการส่งเสริมขององค์กรภาครัฐ และได้โอท็อประดับ 3 ดาว โดยทำแพ็กเกจที่มาตรฐานทั่วไป การชำแหละหนูก็ทำโดยมาตรฐานที่ไม่เป็นการทรมานสัตว์ และไม่ทำให้เนื้อสัตว์ช้ำในการที่ได้หนูแปรรูป และยังสร้างตัวแทนขายทั่วไปเพื่อเพิ่มยอดขายอีกด้วย โดยใครก็ได้ที่สนใจที่จะขายก็ติดต่อทางเรามาได้เลย

หนูพุกใหญ่อยู่ในระยะหนูขุน ในบ่อเลี้ยงที่แห้งและสะอาด 

ทำไมสนใจเลี้ยงหนูพุกใหญ่

เพราะว่าได้น้ำหนักดีกว่าสายพันธุ์อื่นที่เลี้ยงโดยใช้เวลาเลี้ยงเท่ากัน แต่รสชาติก็เหมือนกัน และตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ หนูพุกใหญ่เลี้ยงง่าย หนูเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีมาช้านานแล้ว คนมักจะหาหนูจากแหล่งที่ธรรมชาติที่ไม่เกี่ยวกับหนูบ้าน หนูบ้านก็มีขนาดตัวใหญ่ก็มี แต่แหล่งธรรมชาตินั้นอยู่ตามทุ่งนาก็หากินแต่พวกต้นข้าวรวงข้าว ตามป่าก็พืชผล รากไม้บางชนิดที่อยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น มีรสชาติดี เหมือนสัตว์ที่อยู่ตามป่าละเมาะ ป่าโปร่ง เช่น กระต่าย อ้น นก งู เหล่านี้เป็นอาหารได้หมด หนูก็เช่นกัน

ปัจจุบันนี้หากินยากแล้ว และหนูบางเจ้าก็มาจากแหล่งไม่ทราบได้ จึงเป็นที่มาของหนูฟาร์ม เป็นหนูเลี้ยงที่จำกัดอาหาร เลี้ยงปิด จึงเป็นแหล่งอาหารที่สะอาด รสชาติดี และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง และยังสร้างรายได้ดีอีกด้วย หนูพุกใหญ่เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่กว่าหนูชนิดอื่นทำให้มีเนื้อเยอะกว่า ในขณะที่ใช้เวลาเลี้ยงเท่ากัน เนื้อหนูพุกใหญ่ไม่น่าเชื่อว่าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากยอดขายของผมที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน แม้กระทั่งยอดขายจากวัยรุ่นก็ยังชอบเมนูเนื้อหนูโดยเฉพาะผัดเผ็ด จะมียอดขายค่อนข้างดี จึงคิดว่าถ้าเลี้ยงมาก วางระบบการเลี้ยงให้ดี จะมีรายได้เข้าทุกสัปดาห์

หนูพุกใหญ่ระยะหนูขุนหรือหนูเดือนที่เริ่มคัดแยกขนาดออกมา

สำหรับราคาขายหนูสด กิโลกรัมละ 250 บาท หนูอบโอ่งชั่งน้ำหนักก่อนอบ ราคากิโลกรัมละ 250-300 บาท โดยหนูที่อบแล้วน้ำหนักจะลดลงเหลือประมาณ 600 กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ลูกค้าจากประเทศฮ่องกงนิยมประมาณ 3 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งชาวฮ่องกงจะนำไปขายต่อเฉลี่ยตัวละ 100 เหรียญฮ่องกง หรือตกตัวละประมาณ 476 บาท นอกจากหนูอบโอ่งแล้ว ยังได้แปรรูปเนื้อหนูอบแห้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา และพนักงานออฟฟิศ ซึ่งเนื้อหนูอบแห้งจะทำเป็นแผ่นอบกรอบ บรรจุใส่กล่อง กล่องละ 10 แผ่น น้ำหนักประมาณ 70 กรัม จำหน่ายกล่องละ 100 บาท นอกจากนี้ เวลาทำความสะอาดบ่อมูล สามารถนำมาทำปุ๋ยอัดเม็ดเหมาะสำหรับพืชให้ใบ ลำต้น จำหน่ายถุงละ 20 บาทต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม นับเป็นสินค้าโอท็อปที่สร้างชื่อให้จังหวัดพิษณุโลก

หนูอบภายใต้ชื่อการค้าดีโคต้า เตรียมส่งฮ่องกง

เลี้ยงฟาร์มปิดสะอาดปลอดภัย โดยเลี้ยงในท่อซีเมนต์

การเลี้ยงหนูพุกใหญ่ในปัจจุบัน การเลี้ยงในท่อซีเมนต์นั้นถือว่าสะอาดที่สุดแล้ว และยังทำให้หนูไม่เครียด ที่ฟาร์มจะแนะนำให้เลี้ยงในท่อซีเมนต์โดยใช้ท่อที่มีขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ใช้ 2 วงต่อกันความสูงรวม 80 เซนติเมตร บ่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 1 บ่อ ใช้ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1-4 ตัวก็ได้ บ่อหนูขุนก่อด้วยอิฐบล็อกความสูง 80 เซนติเมตร กว้าง 90 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร ฝาปิดบ่อเจาะช่องระบายอากาศ แม่พันธุ์เราจะใช้แค่ให้ลูก 4 คอกต่อปี เพื่อให้ได้คุณภาพของลูกหนูที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรง

หนูพุกใหญ่ที่มีขนาดใหญ่เข้าอบตามกระบวนการแปรรูป 

การผสมพันธุ์และการเลี้ยงหนู

นำพ่อพันธุ์ลงบ่อเลี้ยงก่อน ให้พ่อพันธุ์อยู่ในบ่อเลี้ยงก่อน 1-3 วัน เพื่อให้พ่อพันธุ์เป็นเจ้าของบ่อ พ่อพันธุ์ต้องมีขนาดใหญ่กว่าแม่พันธุ์เสมอ พ่อพันธุ์มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป หลังจากนั้นนำแม่พันธุ์ที่มีอายุประมาณ 3 เดือนครึ่ง-4 เดือน จำนวน 1-4 ตัวต่อตัวผู้ 1 ตัวลงผสม เมื่อจับลงผสมพันธุ์แล้ว 25-30 วัน หนูจะมีการคลอดลูก เราจะให้แม่หนูเลี้ยงลูก 25-45 วัน อาหารมีเพียงหัวอาหาร ข้าวโพด หญ้าหวานเนเปียร์ หญ้าหวานอิสราเอล เลี้ยงเพียง 3 เดือนก็ได้หนูที่มีขนาดน้ำหนักครึ่งกิโลกรัมแล้ว ส่วนพ่อแม่พันธุ์จะให้อาหารประมาณ 18-20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้อ้วนจนเกินไปจนมีผลต่อร่างกาย

ในกรณีที่มีการคลอดลูกออกมาจำนวนน้อย เราให้แม่หนูเลี้ยงลูก 25-30 วัน แต่ในกรณีที่มีการคลอดลูกออกมาจำนวนเยอะ เราจะให้แม่หนูเลี้ยงลูก 45 วัน (สังเกตความสมบูรณ์ของลูกหนูและการหาอาหารกินเองได้) การคลอดลูกของหนูโดยเฉลี่ย 1 ครั้งประมาณ 5-9 ตัว

ต้องทำฝาปิดปากท่อซีเมนต์และเจาะที่ระบายอากาศ 

การแยกลูกหนูออกมาขุน

มีการนำลูกหนูออกมาจากหลายๆ แม่ ออกมาขุนรวมกันในช่วงอายุไม่ห่างกันเกิน 15 วัน และมีขนาดใกล้เคียงกัน เราเรียกหนูชุดนี้ว่า “หนูขุนหรือหนูเดือน” หนูขุนหรือหนูเดือน เมื่อมีอายุได้ 2 เดือน สามารถมองเห็นเพศได้ชัดเจน เราจะทำการแยกเพศออกมาขุนต่อ แต่ละบ่อแยกเพศชัดเจน เพราะเพศผู้และเพศเมีย กินอาหารเก่งต่างกัน เพศผู้จะกินเก่งกว่า และป้องกันการผสมพันธุ์กันเอง หลังจากแยกเพศในการขุนหนูแล้ว เราสามารถดูความแตกต่างในเรื่องความสมบูรณ์ของหนูแต่ละตัว ว่าตัวไหนสามารถทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ก็จะแยกออกไป เมื่อหนูมีขนาดตั้งแต่ 4 ขีดขึ้นไป สามารถนำมาแปรรูปได้เลย หรือใช้ขนาดตามน้ำหนักที่ตลาดต้องการได้ครับ

คุณมนตรี กับพ่อพันธุ์หนูพุกใหญ่

หนูพุกใหญ่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าหนูนาหรือหนูพุกเล็ก อาหารที่เราใช้เลี้ยงหนูคือข้าวโพดเม็ด หญ้าหรือพืชผักทั่วไปที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่น มีการให้อาหารหมูเล็กเสริม ใช้เวลาในการเลี้ยง 3 เดือนหนูพุกใหญ่ก็จะโตเต็มวัย สามารถผสมพันธุ์และจับขายได้ ตอนนี้เรามีหนูพุกใหญ่หลายร้อยคู่ ซึ่งได้จากฟาร์มลูก ตอนนี้ที่พิษณุโลกก็ 7 ราย ส่วนขยายไปจังหวัดใกล้เคียงอีกหลายที่ โดยที่คุณภาพเหมือนกันเพราะมีการตรวจทุก 3 เดือน โดยที่เราจะไปรับด้วยตนเองและนำมาแปรรูปที่ฟาร์มใหญ่ที่บ้าน เพื่อให้ได้รสชาติออกมาเหมือนกัน โดยเฉพาะสูตรการปรุงการหมักเนื้อหนูนั้นจะต้องออกจากฟาร์มแม่เท่านั้น

หนูพุกใหญ่ที่ไปรับด้วยตนเองจากลูกฟาร์ม

ตอนนี้กำลังขยายโรงเรือนทั้งเพาะเลี้ยงและโรงเรือนแปรรูป

จากจุดเริ่มต้นเลี้ยงหนูพุกใหญ่จนถึงวันนี้ คุณมนตรีได้ขยายการเลี้ยงหนูพุกใหญ่เพิ่มไปถึงหลายร้อยบ่อและขยายจนต้องสร้างโรงเรือนแปรรูปเพิ่มเติม จากความหวังที่ต้องการเพียงแค่เป็นรายได้เสริม จึงแปรเปลี่ยนมาเป็นรายได้หลักเพราะทำเงินได้เดือนละหลักเฉียดแสนบาทเลยทีเดียว

ในการเลี้ยงหนูพุกใหญ่ ต้องอาศัยความอดทน ความขยัน ความรับผิดชอบ และรักษาความสะอาด ก็มีความเหมาะสมกับพื้นที่ในการเลี้ยงและอาหารที่เราจะหาได้ในท้องถิ่น ไม่ทำให้เราลำบากในการดูแล เราเลี้ยงหนูพุกเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอาชีพ ในการขายพ่อแม่พันธุ์และขายเนื้อ พวกเราต้องมีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันดูแล และให้อาหารอย่างสม่ำเสมอ

ภายในบริเวณโรงเรือนเลี้ยงหนูพุกใหญ่ที่แห้งและสะอาด

ที่ฟาร์มเลี้ยงหนูในวงท่อซีเมนต์ เราจะปล่อยหนูตัวผู้และตัวเมียรวมกัน ในแต่ละบ่อคือ ตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 4 ตัว เพื่อให้มีการผสมพันธุ์กันเอง เมื่อตัวเมียตัวใดออกลูกก่อนเราจะจับแยกให้หนูเลี้ยงลูก เราจะให้แม่หนูกับลูกหนูอยู่ด้วยกัน ส่วนตัวผู้และตัวเมียที่เหลือก็จะยังให้อยู่รวมกันจนกว่าหนูตัวเมียจะท้องเพิ่มอีก

เมื่อหนูพุกโตเต็มที่เราจะได้หนูพุกที่พร้อมเป็นพ่อแม่พันธุ์ สามารถนำไปขาย ทำให้เรามีเงินมาใช้หมุนเวียนในกิจกรรม เราได้ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การดูแลและรักษาความสะอาดของโรงเรือนเลี้ยงหนูพุกก็สำคัญมากทำให้ปลอดภัยและลดการเกิดโรค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหนูพุกที่เราเลี้ยงนำมาทำอาหารบริโภคได้ เป็นอาหารพื้นบ้านของท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีการบริโภคอย่างแพร่หลาย มีการแปรรูปหนูนาหลายอย่าง ขนาดที่ตลาดต้องการ ขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 4 ขีดขึ้น หรือขนาด 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม

หนูพุกใหญ่อบสีสันน่ากิน

สำหรับท่านที่สนใจสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อทางเพจ Deecota หนูพุกใหญ่พรหมพิราม หรือ คุณมนตรี ชูกำลัง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนูพุกใหญ่พรหมพิราม โทรศัพท์ 099-359-6131

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566