“หอมเหาะ” กาแฟเกรดคุณภาพ แม่ฮ่องสอน ฝีมือ วิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะ

กาแฟแม่ฮ่องสอน เป็นกาแฟสายพันธุ์คุณภาพที่ได้คัดเลือกให้สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ปลูก สูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 900-1,482 เมตร ชาวบ้านปลูกกาแฟแบบธรรมชาติและปลอดสารพิษ การเก็บเกี่ยวผลผลิต การคัดแยกเมล็ด การหมักบ่ม การตาก และการคั่วกาแฟ จะทำอย่างพิถีพิถันใส่ใจรายละเอียดในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้กาแฟแม่ฮ่องสอนเป็นกาแฟคุณภาพเกรดดี มีชื่อเสียง และได้มาตรฐานสากล

ชาวบ้านเก็บผลผลิต

ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือเป็นแหล่งปลูกกาแฟอะราบิก้า คุณภาพดีแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือกำเนิดจากศูนย์พัฒนาชาวเขา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับโครงการไทย-เยอรมันที่ต้องการให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริม เพื่อช่วยรักษาสภาพดินและผืนป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์แทนการทำไร่เลื่อนลอย เรียกได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการช่วยอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน กาแฟยังนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยยกระดับรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย

ชาดอกกาแฟ

พื้นที่ตำบลแม่เหาะ อยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 62 จำนวน 182,663 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ภูเขาและเทือกเขาซึ่งมีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ดินที่พบมีทั้งดินลึกและดินตื้น ลักษณะของเนื้อดินและความอุดมสมบูรณ์มีความแตกต่างกันตามธรรมชาติขึ้นอยู่กับชนิดของหินต้นกำเนิดในบริเวณนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังปกคลุมด้วยป่าไม้หลายชนิด เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังหรือป่าดงดิบชื้น

ขั้นตอนการคั่วกาแฟ

ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชหลักคือ ข้าว ข้าวไร่ และกะหล่ำปลี ด้วยสภาพอากาศและมีความสูงจากระดับน้ำทะเล ทำให้พื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงพื้นที่ในตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง มีความเหมาะสมในการปลูกกาแฟ

ห้องตากเพื่อลดความชื้นกาแฟโดยใช้เทคโนโลยี

ดังนั้น จึงจัดตั้งเป็นวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะ พร้อมกับการรวมเป็นกลุ่มแปลงใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ. 2560 สร้างแบรนด์กาแฟ “หอมเหาะ” ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เกรดพรีเมี่ยม ซึ่งได้รับการดูแลดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ตรวจเช็กและควบคุมอุณหภูมิถังหมัก ห้องหมัก

คุณมานพ เพียรชอบไพร ประธานกลุ่มวิสาหกิจและแปลงใหญ่ กล่าวถึงความเป็นมาว่า แต่เดิมชาวบ้านแม่เหาะทำเกษตรกรรมปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นปลูกกะหล่ำปลี มะเขือเทศ และหอมเป็นรายได้ แต่พืชอายุสั้นเหล่านี้กลับไม่ได้ตอบโจทย์ความมั่นคงทางรายได้ของชาวบ้าน จนเมื่อได้มีการส่งเสริมให้ปลูกอะโวกาโด ลูกเนียง กาแฟ และบุกเข้ามาทดแทน ถือเป็นการปรับแนวทางทำเกษตรกรรมมาปลูกไม้ยืนต้น

วัดแอลกอฮอล์และค่าความหวานในถังหมัก

ดังนั้น การทำเกษตรกรรมของชาวบ้านแม่เหาะจึงมาลงตัวที่การปลูกพืชผสมผสานเพื่อให้เกื้อกูลกันแบบ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสูงเป็นต้นอะโวกาโด รองลงมาระดับกลางเป็นต้นกาแฟที่อาศัยต้นอะโวกาโดบังแดด และระดับล่างพื้นราบเป็นบุก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากพืชทั้ง 3 ชนิดได้ตลอดทั้งปี เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการของตลาด อย่างอะโวกาโดเก็บผลผลิตประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน พอเดือนตุลาคมไปจนถึงปลายเดือนมกราคมเก็บผลผลิตกาแฟ แล้วเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เก็บผลผลิตจากบุก

สีกะลากาแฟเป็นสาร

แม้จะพยายามปรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมให้มีความเหมาะสมกับวิถีของชาวบ้าน แต่นั่นอาจยังไม่เพียงพอเนื่องจากพบว่าชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจทางด้านการปลูกพืชตามแนวทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกาแฟเพราะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ จึงควรส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ อาทิ การใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชให้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ตลอดจนการจัดการแปลงปลูกเพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพการผลิตพืช (GAP)

เกษตรกรและสมาชิกกลุ่มคัดกาแฟสารก่อนเข้าสู่ขั้นตอนคั่ว

“จึงรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ตำบลแม่เหาะ เพื่อเข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาแปลงใหญ่เพื่อให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มที่มีความเข้มแข็งพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อขยายตลาด ต่อรองราคาผลผลิตของเกษตรกร โดยพื้นที่แปลงใหญ่รวมกันมีทั้งหมดประมาณ 138 ไร่ จำนวน 42 ราย แต่ละรายมีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 3-4 ไร่ ปลูกไร่ละ 200 ต้น ปริมาณผลผลิตต่อไร่ประมาณ 500 กิโลกรัม หรือได้ผลผลิตต้นละ 2-3 กิโลกรัม มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาดโดยการแปรรูป ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดในประเทศและต่างประเทศ”

ดมกลิ่นกาแฟที่ตาก

กาแฟที่กลุ่มชาวบ้านแม่เหาะปลูกกันมีลักษณะพื้นที่ปลูกทั้งแบบพื้นราบและลาดเอียงขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูกของชาวบ้านแต่ละราย เป็นการปลูกแนวอินทรีย์ เนื่องจากผลดีของการปลูกพืชสามชนิดในแปลงเดียวกันช่วยให้เกื้อกูลกันทั้งในเรื่องแสงและร่มเงา ลดปัญหาเรื่องวัชพืชกับโรคพืชมารบกวนมากนัก จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดหรือป้องกัน

สีกะเทาะเปลือกกาแฟสด (เชอร์รี่)

การปลูกพืชแบบอินทรีย์ของชาวบ้านกลุ่มนี้ต่างจากระบบอินทรีย์ทั่วไปที่คุ้นเคยด้วยกระบวนการใช้มูลสัตว์หมักเพื่อผลิตปุ๋ยหมัก แต่เป็นอินทรีย์ตามธรรมชาติที่เกิดจากใบไม้ที่ร่วงหล่นมาทับถมที่โคนต้นและเพียงเติมปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ที่แต่ละครัวเรือนเลี้ยงไว้ลงไปต้นละ 2-3 กิโลกรัม ปีละ 1-2 ครั้ง ใช้น้ำฝนตามฤดูเท่านั้น

คัปปิ้ง หรือวิธีชิมกาแฟเพื่อให้คะแนนรสและกลิ่น

จากแปลงปลูกผ่านกระบวนการผลิตกาแฟในทุกขั้นตอนด้วยความมุ่งมั่นและเอาใจใส่ พิถีพิถัน ตลอดจนนำทักษะ ความรู้ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อตั้งเป้าหมายในการพัฒนาผลผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตากแห้งในห้องควบคุมความชื้น รักษาความชื้นของกาแฟให้มีความเหมาะสมส่งผลให้กาแฟมีกลิ่นหอมและรสชาติเข้มข้น, ตรวจเช็กและควบคุมอุณหภูมิถังหมัก, วัดแอลกอฮอล์และค่าความหวานในถังหมัก

หอมเหาะ ผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมจากบ้านแม่เหาะ แม่ฮ่องสอน

แนวทางการผลิตกาแฟตามมาตรฐานส่งผลให้กาแฟบ้านแม่เหาะได้มีโอกาสเข้าไปทดสอบจากสถาบันชื่อดังทั้งในและต่างประเทศสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานกาแฟ ผลักดันชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงการกาแฟระดับต้นในชื่อแบรนด์ “หอมเหาะ” สร้างความโดดเด่นจนมีผู้ประกอบการสนใจซื้อมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้น ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้น

ล้างทำความสะอาดผลกาแฟสด (เชอร์รี่) ก่อนนำไปหมัก

“การนำกาแฟของกลุ่มเข้าไปทดสอบไม่ได้ใช้เกณฑ์การวัดคุณภาพตัดสินเพียงกลิ่นและรสชาติ แต่ต้องถูกพิจารณาทางด้านกายภาพควบคู่ไปด้วยตั้งแต่แหล่งปลูก กระบวนการปลูกดูแล คุณภาพผลผลิต กระบวนการแปรรูป สถานที่ การบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ ทักษะ และเทคโนโลยี”

คัดเมล็ดกาแฟที่สุกไม่พร้อม หรือเกิดรา เน่า ออกก่อน

ด้านการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่า ทางกลุ่มนำเปลือกกาแฟที่เคยทิ้งเป็นขยะกลับมาทำปุ๋ยหมักสำหรับใช้ปลูกพืชในแปลงต่ออีก ถือเป็นการสร้างประโยชน์จากสิ่งของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้วยังลดต้นทุนได้มาก

นอกจากนั้น ยังเพิ่มมูลค่าด้วยการนำเปลือกเชอร์รี่มาเข้ากระบวนการทำเป็นชาเปลือกกาแฟหรือ Cascara Tea โดยการนำผลเชอร์รี่กาแฟมาแกะเมล็ดกาแฟออก นำไปตากหรืออบแห้ง ก่อนนำมาคั่วเพื่อเพิ่มความหวานและทำให้เก็บได้นานขึ้น รวมถึงทำชาดอกกาแฟหรือ Coffee Blossom tea เป็นดอกกาแฟที่ใกล้จะร่วงนำมาอบแห้งโดยเทคโนโลยี FIR (Far Infrared Radiation) ช่วยรักษาสี กลิ่น และรสชาติให้คงเดิม มีความหอม ชาดอกกาแฟเหมาะสำหรับจิบหลังดื่มกาแฟ

ผลกาแฟสุก (เชอร์รี่) มีความสมบูรณ์ เพราะมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

แบรนด์ “กาแฟหอมเหาะ” มีผลิตภัณฑ์กาแฟทั้งแบบเม็ดและคั่วบด มีจุดเด่นและจุดแข็งคือเป็นผลผลิตกาแฟที่ปลูกและแปรรูปจากชาวบ้านโดยตรงตามวิถีการปลูกและดูแลต้นกาแฟแบบธรรมชาติ แบรนด์นี้สามารถสืบค้นแหล่งที่มาของผลผลิตได้ มีช่องทางขายทางออนไลน์กับออกบูธ

ชั่งน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐานก่อนนำไปคั่ว

“กาแฟหอมเหาะเกิดจากความตั้งใจของชาวบ้านแม่เหาะโดยกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะที่ต้องการผลิตกาแฟดีมีคุณภาพ ปลอดภัย กับปณิธานร่วมกันของชาวบ้านว่า : ปลูกเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ ให้ป่าไม้เป็นลมหายใจของพวกเรา และผลผลิตกาแฟเป็นลมหายใจของชาวบ้าน สร้างความยั่งยืนชั่วลูกหลาน” ประธานแปลงใหญ่กล่าว

สอนวิธีคัดเมล็ดกาแฟสารที่ได้มาตรฐานให้กับสมาชิกกลุ่ม

สนใจสอบถามรายละเอียดติดต่อสั่งซื้อกาแฟ “หอมเหาะ” ได้ที่ คุณมานพ เพียรชอบไพร โทรศัพท์ 065-010-1697, 099-242-5395 เฟซบุ๊ก : Homhoh Coffee

ขอบคุณ : สำนักงานเกษตรอำเภอแม่สะเรียง และสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน