นโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรที่ควรมี

สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งกับการนำเสนอแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยอยู่รอด มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเดินต่อไปได้ในท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับฉบับนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะในเวลานี้ใกล้จะถึงเวลาเลือกตั้งใหม่กันอีกครั้ง เพราะอายุสภาผู้แทนราษฎรใกล้จะครบวาระ 4 ปีในเดือนมีนาคม 2566 นี้แล้ว ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ คงจะมีการนำเสนอนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรเพื่อให้เกษตรกรได้พิจารณากัน ซึ่งในฉบับนี้ผมจะขอนำเสนอแนวทางดังกล่าวควบคู่ไปด้วย ในประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

1. การสนับสนุนที่ต้นน้ำ

2. การสนับสนุนที่กลางน้ำ

3. การสนับสนุนที่ปลายน้ำ

1. การสนับสนุนที่ต้นน้ำ ในวงจรธุรกิจภาคการเกษตรนั้น เกษตรกรไทยจะมีความถนัดที่สุดก็คือการผลิตที่ต้นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ก็ตาม แต่ไม่น่าเชื่อว่าเกษตรกรไทยยังไม่สามารถจะยกระดับตนเองให้การผลิตมีความพร้อมด้วยคุณภาพที่ดีที่สุดได้ ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรไทยยังคงต้องการการสนับสนุน ยังมีปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.1 ความรู้ ความรู้ที่กล่าวนี้ หมายถึงความรู้จริงด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ด้านการเตรียมดิน ด้านการวิเคราะห์ดิน ด้านการจัดการน้ำ ตลอดจนการใช้ปุ๋ยและสารเคมี สารชีวภาพ รวมถึงธรรมชาติของผลผลิตนั้นๆ ด้วย เกษตรกรไทยไม่น้อยที่ใช้วิธีการทำตามๆ กันมา ทำจากความความรู้และประสบการณ์เดิมๆ ยังขาดด้านการพัฒนาด้านลดต้นทุน ด้านเพิ่มผลผลิต และด้านอื่นๆ ในการผลิตอีกไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ผมขอเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องทำหน้าที่สนับสนุนเติมเต็มให้เกษตรกรด้วย เพราะมิเช่นนั้นในระยะยาว เกษตรกรไทยเราจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างแน่นอนครับ

1.2 ปัจจัยการผลิต ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีพื้นที่การผลิตลดลง เช่น เกษตรกรชาวนาไทยมีพื้นที่ทำกิน เกณฑ์เฉลี่ยไม่เกินรายละ 15 ไร่ ดังนั้น การจัดซื้อจัดหาเครื่องมือและปัจจัยถาวรจะไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะซื้อมาใช้เองได้ เพราะจะไม่คุ้มทุน จึงมักจะใช้การจ้างผู้ประกอบการมาดำเนินการให้ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถปลูกข้าวได้ในเวลาที่เหมาะสมเพราะผู้รับจ้างไม่ว่าง

Advertisement

ดังนั้น หากภาครัฐสามารถจัดการปัจจัยการผลิตแบบเครื่องจักรรวมเป็นของส่วนกลางได้ อาจจะให้องค์การบริหารส่วนตำบล หรือสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มวิสาหกิจบริหารจัดการ โดยการสนับสนุนไว้ประจำที่องค์กรของเกษตรกร แล้วมีกรรมการบริหารให้ไปรับจ้างในกลุ่มหรือยืมให้กันเองในพื้นที่ ก็จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และสามารถลดต้นทุนและลดการลงทุนเองลงได้ด้วย ส่วนรายละเอียดการบริหารจัดการอาจจะใช้รูปแบบงานสหกรณ์หรืองานบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจชุมชน หรือรูปแบบอื่นๆ ก็ตามความเหมาะสม แต่ให้สามารถกระจายการใช้ได้สะดวกและทั่วถึงก็จะดีที่สุด

1.3 เงินทุนเพื่อการผลิต การสนับสนุนเงินทุนนี้ นับว่าสำคัญยิ่ง เพราะภายหลังที่ประสบภาวะโควิด-19 ระบาดมา 3 ปีแล้ว ทำให้เกษตรกรมีปัญหาทางด้านรายได้และค่าครองชีพ มีภาระหนี้สินจนสถาบันการเงินต้องใช้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกือบทั้งประเทศ จนทำให้เกษตรกรไทยไม่น้อยที่ไม่สามารถจะกู้เงินมาลงทุนใหม่ได้ รัฐบาลคงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินบางส่วนมาให้เกษตรกรทำทุนบ้าง อาจจะผ่านสถาบันการเงินของรัฐในเกณฑ์ลดหย่อน เพราะถ้าเป็นเงินของธนารัฐเองอาจจะกู้ไม่ได้ เพราะเกษตรกรที่มีภาระหนี้เดิมที่เป็นภาระหนักก็จะกู้ไม่ได้ หรือผ่านองค์กรของเกษตรที่เข้มแข็งเพื่อนำไปบริหารจัดการ ก็จะช่วยทุเลาข้อจำกัดเรื่องไม่มีทุนทำการผลิตลงไปได้บ้าง

Advertisement

2. การสนับสนุนที่กลางน้ำ

2.1 การปรับปรุงคุณภาพ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะผลิตได้แล้วก็ขายเลย ไม่มีกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ เช่น เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกแล้ว ก็จะขายให้ผู้รับซื้อไปทันที ไม่มีกระบวนการอบความชื้น ไม่มีกระบวนการคัดสิ่งเจือปนออก ดังนั้น ผู้ซื้อจึงกดราคาได้ง่าย เพราะเขาต้องไปเข้ากระบวนการปรับปรุงคุณภาพเอง เกษตรกรส่วนมากไม่มีการดำเนินการในขั้นตอนนี้ ซึ่งต่อไปนี้คงจะต้องมาขบคิดเรื่องดังกล่าวนี้กันจริงจังมากขึ้นแล้วครับ

2.2 การแปรรูป เรื่องนี้ก็สำคัญมากๆ เคยมีคำถามว่าทำไมชาวนาต้องขายข้าวเปลือก ทำไมไม่ขายข้าวสาร คำตอบคือ ยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่มีเครื่องสี ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น สารพัดปัญหาและข้ออ้าง ต่อไปคงต้องมาคิดและทำใหม่บ้าง ชาวนาจะนำข้าวเปลือกไปจ้างสีเป็นข้าวสาร แล้วนำมาจำหน่ายบ้างได้หรือไม่ ต้องหาทางรอดกันครับ

2.3 การจัดเก็บและคลังสินค้า เกษตรกรไทยผลิตอะไรก็ขายผลผลิตนั้นให้พ่อค้าทันที ตามที่เราพบเห็นและได้สัมผัสกันมาแล้วมากมาย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น นอกจากจะรู้สึกว่ายุ่งยากแล้ว ปัญหาต่อมาคือ เกษตรกรไม่มีสถานที่เก็บรักษา ไม่มียุ้งฉางหรือโกดัง จะชะลอสินค้าเพื่อให้ทยอยออกสู่ตลาดก็ทำไม่ได้ จึงต้องขายไปพร้อมๆ กัน ทำให้ราคาตกต่ำลงอีก และถ้าเป็นสินค้าสดประเภทพืชผัก ผลไม้ หรืออาหารสด ก็จะบอกว่า ไม่มีห้องเย็นที่จะเก็บรักษา จึงทำให้เสียโอกาสไปมากมาย ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนสร้างฉางรวม สร้างโกดังให้องค์กรของเกษตรกรอย่างเพียงพอด้วย จึงจะช่วยเกษตรกรได้ เพราะลำพังเกษตรกรรายย่อยลงทุนเองจะไม่คุ้มทุนแน่นอน

3. การสนับสนุนที่ปลายน้ำ

3.1 ข้อมูลการตลาด จากข้อ 1 และ ข้อ 2 ที่เรากล่าวถึงการสนับสนุนที่ต้นน้ำและกลางน้ำมาแล้ว พอมาถึงปลายน้ำ เราจึงต้องสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีข้อมูลที่เพียงพอว่า ความต้องการทางการตลาดนั้น เขาต้องการสินค้าในรูปแบบใดบ้าง ในอัตราเท่าไร เช่น กรณีผลไม้ ตลาดต้องการขนาดเท่าไร ต้องการเป็นวัตถุดิบแบบไหน ให้แพ็กกิ้งอย่างไร แต่ถ้าเป็นมันสำปะหลัง ผู้ซื้อตลาดต้องการอย่างไร เปอร์เซ็นต์แป้งที่เท่าไร ต้องการหัวมันสดหรือต้องการเป็นมันเส้น เป็นต้น รวมไปถึงข้อมูลราคาซื้อ ข้อมูลทั่วไป แนวโน้มราคาในอนาคตด้วย ซึ่งเกษตรกรอาจจะหาได้เองในเว็บไซต์ต่างๆ ได้ไม่ยาก หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เกษตรกรจังหวัด เกษตรอำเภอต้องให้ความรู้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องด้วย

3.2 ช่องทางการตลาด เรื่องช่องทางการตลาดก็สำคัญ นั่นคือผู้ซื้อเป็นใคร อยู่ที่ไหน เกษตรกรต้องนำไปขายเอง หรือว่ามีผู้มารับซื้อ มีจุดรับซื้อ และหากเป็นสินค้าเกษตรที่มีขนาดไม่มากเหมือนผลผลิตหลักอย่าง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ มีช่องทางออนไลน์ตรงไหนที่จะเข้าถึงผู้ซื้อ และสามารถใช้ช่องทางออนไลน์จำหน่ายได้บ้าง รวมถึงการชำระเงิน และความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อด้วย ข้อมูลตรงนี้มีความสำคัญมากๆ ที่หน่วยงานรัฐอาจต้องให้การสนับสนุนเกษตรกรให้ทั่วถึงด้วยครับ

3.3 เงื่อนไขพิเศษอื่นๆ การค้าขายที่ปลายน้ำ อาจจะมีข้อมูลอื่นๆ ที่เกษตรกรควรจะรู้และเข้าใจไว้ด้วย เช่น การสนับสนุนของภาครัฐในการสนับสนุนต้นทุนการผลิต สนับสนุนการจัดเก็บ หรือสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เพราะหากภาครัฐไม่ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจ เกษตรกรจะไม่สามารถรับรู้ได้ เช่น จะมีการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรเมื่อใด ขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง หรือช่วงไหนที่รัฐบาลจะสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร หรือสนับสนุนอะไรแก่เกษตรกรกลุ่มไหน อาชีพไหน ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก็สำคัญ เพราะนั่นคือช่องทางของการได้ลดต้นทุน หรือช่องทางของการที่เกษตรกรไทยเราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนั่นเองครับ

ทั้งนี้ ก็หวังว่าผู้อ่านบทความนี้ น่าจะมีบุคคลในหลายวงการ ทั้งภาคเกษตรและภาคราชการ รวมถึงบุคคลที่สนใจทั่วไป ซึ่งหากได้สื่อสารกันไปในวงกว้าง ได้ศึกษาแลกเปลี่ยน ผลักดันให้เป็นรูปธรรม ก็จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยของประเทศได้มากขึ้น ยิ่งหากเป็นแนวทางที่พรรคการเมืองใดจะนำไปประยุกต์และดำเนินการได้บ้าง และถ้าได้รับเลือกตั้งไปเป็นรัฐบาลก็นับว่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปครับ

แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไป

ด้วยความขอบคุณอย่างยิ่งครับ