“กะเพรา” พลิกชีวิต เกษตรมั่นคงชุมชนยั่งยืน

บริเวณพื้นที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของประเทศ เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานเกษตร จ.ปทุมธานี ระบุว่าปี 2558 มีอยู่กว่า 404,700 ไร่ หรือ 42% ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด แต่เกือบทั้งหมดยังเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีสูง ทำให้ประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิต และราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน

พื้นที่ดังกล่าว บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้เข้าไปจัดทำโครงการเรียนรู้คู่อาชีพ สู่วิถีเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนรอบโรงงานลาดหลุมแก้ว และสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักธรรมาภิบาลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรขึ้น

“สมคิด พานทอง” เกษตรกรในพื้นที่ เจ้าของแปลงกะเพราป่ากว่า 15 ไร่ เล่าว่าผมเข้าไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปลูกพืชภายใต้ GAP (Good Agricultural Practices) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสมมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นแนวทางการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม

“ตั้งแต่ลดการใช้สารเคมี แล้วหันมาใช้สารชีวภาพ หรือจุลินทรีย์เป็นส่วนผสมในการเพาะปลูกตามหลักจีเอพี กะเพราของเราปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ตัวผมและภรรยา รวมทั้งคนงานก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ ยังได้รับคำแนะนำให้ปลูกกะเพราป่าที่มีความหอมกว่ากะเพราพันธุ์อื่น โดยมีบริษัทมารับซื้อผลผลิตในราคาประกันที่เป็นธรรมกับเกษตรกร จึงทำให้ผมมีรายได้มั่นคง จัดการบัญชีก็ง่ายขึ้น รู้รายรับรายจ่ายแต่ละวันได้ทันที”

“ผมปลูกกะเพราป่าส่งขายได้สัปดาห์ละ 700 กิโลกรัม รวมกับกะเพราเกษตร และโหระพา หักต้นทุนแล้วมีกำไรประมาณเดือนละ 4-5 หมื่นบาท ที่สำคัญคือทุกอย่างรอบตัวดีขึ้นทั้งคุณภาพชีวิตที่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือสูง ๆ และยังส่งไปถึงผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดภัยอีกด้วย”

“วาสนา เปรียเวียง”เกษตรกรอีกหนึ่งรายที่ตัดสินใจทิ้งอาชีพพนักงานบริษัท เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับสามี และลูก ๆ รวมทั้งสานต่ออาชีพเกษตรกรของพ่อแม่ โดยได้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อปีที่ผ่านมา และเลือกนำความรู้ที่ได้รับมาทำเกษตรกรรมปลอดภัยแบบผสมผสาน

“แปลงของเราปลูกพืชหลายชนิด ทั้งกะเพราป่า กะเพราเกษตร ยอดมะรุม ใบชะพลู ใบบัวบก และผลไม้ เพื่อลดการพึ่งพาพืชตัวใดตัวหนึ่ง และมีการรวมกลุ่มกับเกษตรกรละแวกเดียวกันในนามวิสาหกิจปลูกผักปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือกันเรื่องราคาสินค้าที่ไม่แน่นอน และหาวิธีสร้างรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น”

“การเข้าร่วมโครงการช่วยให้เราทันต่อความเปลี่ยนแปลง เวลาเกิดปัญหาจะมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ เช่น ในช่วงที่เกิดโรคระบาด หรือการปรับปรุงให้สินค้าไม่มีปัญหาก่อนจัดส่ง ตอนนี้สามารถปลูกกะเพราป่าขายได้สัปดาห์ละ 200 กว่ากิโลกรัม รวมกับพืชตัวอื่นด้วยก็มีรายได้ตกเดือนละ 30,000 บาท เป็นรายได้ที่มั่นคงขึ้น และมีความสุขที่มีเวลาให้ครอบครัวตามที่เราฝันไว้”

ทั้งนั้น โครงการนี้เป็น 1 ใน 38 โครงการซีพีเพื่อชุมชนยั่งยืน ซึ่งได้รับรางวัล “ซีพี…เพื่อความยั่งยืน” ที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องโครงการเพื่อสังคมดีเด่น สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน และสังคม

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์