บ้านผักเติมสุข

การเขียนคอลัมน์เกษตรอินทรีย์มาหลายปี ทำให้มีความเข้าใจในเรื่องผักปลอดภัยอยู่พอสมควร ยิ่งรู้มากยิ่งกินผักลำบากขึ้น จิตค่อยข้างวิตกทุกครั้งที่กินผักที่ไม่รู้ที่มา เพราะส่วนหนึ่งใช้ผักอินทรีย์ที่ปลูกเองหรือซื้อผักอินทรีย์จากสวนที่มั่นใจว่าเขาไม่ได้ใช้สารเคมีแน่ 

คุณปุ้ย หรือ คุณจุฑามาศ บุญเคลือบ

วันนี้พอเห็นผักจากเมืองจีนที่เข้าเมืองไทยมาวันหนึ่งเป็นร้อยเป็นพันตันยิ่งขยาด จากที่เห็นในข่าวที่พ่อค้าเอามือลูบต้นหอมแล้วหงายฝ่ามือให้ดูเห็นเป็นผงสีฟ้าๆ ติดมือมามากพอสมควร มีอาจารย์มหาวิทยาลัยบอกว่าเป็นยาป้องกันเชื้อราชื่อแมนโคเซบ ยิ่งผวาเข้าไปใหญ่ เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่นำผักมาประกอบอาหารมักจะไม่ล้างก่อน ตอนนี้ถ้าเป็นไปได้ต้องใช้ความระมัดระวังผักที่ซื้อในตลาดให้มากยิ่งขึ้นกว่า ผักพื้นบ้านส่วนใหญ่จะปลอดสาร เลี่ยงผักจีนได้ก็ควรเลี่ยง

ยินดีต้อนรับ
ส่วนนี้อยู่ในมุ้ง

“คนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก” เป็นความจริงเมื่อผู้เขียนมาอยู่ในดงผัก คราวหนึ่งจะไปขอซื้อผักคะน้าต้นงามมากของสวนใกล้ๆ กัน เจ้าของสวนเห็นเราชี้ผักคะน้าแปลงด้านหน้า เขาบอกว่า ไปเอาแปลงหลังขนำโน่น เราเดินไปดูพบว่าคะน้าแปลงนั้นขี้เหร่กว่าแปลงข้างหน้าเยอะ ก็ทำให้ไม่พอใจไม่อยากซื้อ เจ้าของสวนเห็นสีหน้าเราก็หัวเราะ ไม่สวยละซิ แปลงนี้ผมจึง (แบ่งไว้ กันไว้) ไว้กินเองไม่ฉีดยา ทำเอาผมขนลุกเกรียวเพราะเรากินคะน้าสวยๆ ที่ฉีดยาไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ ผักแบบนี้คนปลูกยังไม่กินเลย

ไม้ดอก ปลูกเพื่อเป็นอาหารตา
เพิ่งปลูกใหม่

การปลูกผักกินเองเป็นความฝันของคนต่างจังหวัดซึ่งมาอยู่ในเมือง แต่ก็อ้างข้อจำกัดสารพัดว่าไม่มีเวลาไม่มีสถานที่บ้าง แต่คอลัมน์เกษตรในเมืองได้นำเสนอการปลูกผักไว้หลายแบบในพื้นที่จำกัด ผักดาดฟ้า ผักคอนโด ผักตึกแถว ผักทาวน์เฮ้าส์ ผักบ้านเดี่ยว ไปหลายเรื่องแล้ว เพียงหวังสักเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านปลูกบ้านก็มีความสุขแล้ว

ผักสวย น่ากินมาก
ผักต่างประเทศก็ปลูกได้

มนุษย์เงินเดือนเป็นอาชีพหนึ่งที่อยากมีชีวิตอิสระ และคิดว่าอาชีพอิสระที่เป็นงานเกษตรเป็นเรื่องสบายๆ แต่อาชีพเกษตรจริงๆ ไม่ได้เป็นไปตามฝัน ที่แนะนำไว้คืออยากให้ทำเกษตรเช้าเย็นและเกษตรวันหยุดมากกว่าสำหรับคนกินเงินเดือน คุณปุ้ย หรือ คุณจุฑามาศ บุญเคลือบ เป็นเกษตรกรเฉพาะตอนเช้าและเย็น จะเป็นเกษตรกรเต็มวันคือวันหยุดงานเสาร์อาทิตย์

ปลูกทุกอย่างที่กิน
ถุงละ 1 กิโลกรัม

พื้นฐานเดิมของครอบครัวคือเกษตรกร

จากพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางวาข้างบ้าน ที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร คุณปุ้ยจบปริญญาตรีการจัดการทรัพยากรบุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้ทำงานเป็นพนักงานฝ่ายบุคคลบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดบ้านเกิดจนถึงปัจจุบัน ด้วยความที่ครอบครัวมีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนาและไร่อ้อย จึงรู้สึกชอบในการทำการเกษตรเนื่องจากเคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก จึงอยากคิดทำการเกษตรบ้าง แต่ด้วยความที่ยังเป็นพนักงานเงินเดือนอยู่จึงคิดทำเฉพาะช่วงเวลาที่ว่างคือตอนเช้ากับเย็น ถ้าจะทำการเกษตรเต็มวันต้องทำในวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

ติดตั้งสปริงเกลอร์ทุ่นแรงรดน้ำ
จัดเต็มคาราเบล

เมื่อมีความคิดจะปลูกผักเพื่อเป็นอาหารบริโภคภายในครอบครัว ก็ได้ศึกษาการปลูกผักในสื่อออนไลน์ต่างๆ จนเริ่มพอมีความรู้แล้วจึงลงมือทำ ถึงแม้ว่าครอบครัวจะทำอาชีพเกษตรก็จริงแต่เป็นการทำนากับทำไร่ ความรู้ที่มีไม่ตรงกับการปลูกผักสวนครัว จึงต้องหาความรู้เพิ่มเติม อากาศและอุณหภูมิที่จังหวัดกำแพงเพชรค่อนข้างดี แปลงผักที่ปลูกไม่ได้มุงซาแรน ใช้พื้นที่ปลูกบนโต๊ะและพื้นที่บนดิน

ขนาดกำลังพอดี
กำลังใกล้ตัด

ด้วยความต้องการเริ่มทำเองตั้งแต่ต้นทาง คุณปุ้ยจึงสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาเพาะเอง ไม่ได้ซื้อต้นกล้ามาปลูกแต่อย่างใด วิธีปลูกโดยการนำพีทมอสมาใส่ตะกร้าเล็ก ฉีดน้ำให้เปียกชุ่มแล้วโรยเมล็ดผักลงไปให้กระจายทั่วตะกร้าไม่หนาแน่นมาก แล้วใส่ถุงพลาสติกใหญ่นำไปแช่ตู้เย็นช่องธรรมดาประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำออกมาวางไว้ในที่ร่มไม่จำเป็นต้องเปิดถุงมารดน้ำเนื่องจากความชื้นยังมีอยู่ วันที่ 3-4 ค่อยเปิดถุงฉีดพ่นน้ำฝอยๆ แล้วค่อยย้ายถาดไปที่แสงรำไร และเปิดถุงออก ใช้เวลา 6-7 วัน ต้นกล้าเจริญเติบโตพอก็ย้ายลงถาดหลุมซึ่งใช้วัสดุปลูกเป็นพีทมอสเช่นกัน เมื่อใส่พีทมอสในถาดจนเต็มก็ฉีดน้ำให้ชุ่ม และฉีดน้ำให้ชุ่มตะกร้าเพาะค่อยๆ ดึงใบขึ้นมา แล้ววางลงในหลุมใช้ไม้เสียบลูกชิ้นกดที่โคนเบาๆ ให้ต้นและรากฝังลงไปในพีทมอส ใช้เวลาประมาณ 20 กว่านาทีก็เสร็จเรียบร้อย นำถาดเพาะไปวางไว้ที่แสงรำไร รดน้ำวันละ 1 หรือ 2 ครั้ง ใช้เวลาอีกประมาณ 20 วัน ต้นกล้าก็เจริญเติบโตพร้อมปลูก

กระบะพลาสติกใหญ่ปลูกได้เยอะ
กระถาง กะละมัง ก็ปลูกได้

วัสดุปลูกที่ใช้ในตอนต้นจะเป็นขุยมะพร้าวกับมูลวัวหมัก วิธีปลูกให้ปลูกห่างกันประมาณ 7 นิ้วถ้าเป็นผักสลัดทั้งระยะต้นและระยะแถว ถ้าเป็นกวางตุ้งหรือคะน้าใช้ปลูกระยะ 5 นิ้ว หลังจากปลูกแล้วค่อยคลุมด้วยฟางเพื่อปกป้องไม่ให้หน้าดินโดนแดดแรง รักษาความชื้นไว้ ต้องรดน้ำช่วงเช้าและเย็น ทุกๆ 7 วันใช้ปุ๋ยปลาหมักรด 1 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยปลา 1 ฝาต่อน้ำ 20 ลิตร หลังรดน้ำตอนเช้าแล้วค่อยฉีดพ่น หลังจากลงแปลงใช้เวลาอีกประมาณ 20 วันก็สามารถเก็บได้ ในช่วงระหว่างนี้ผักห้ามขาดน้ำเด็ดขาดเพราะผักจะแกร็นและมีรสขม

 

ทำเกษตรอินทรีย์คือเกษตรรักโลก

ศัตรูของผักคือหนอนกระทู้ ตอนแรกคุณปุ้ยใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นแต่ไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนมาเป็นน้ำส้มสายชูหมักกับยาเส้นก็ไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก จึงใช้วิธีจับโดยเดินตรวจแปลงหากพบใบมีตำหนิก็พลิกใบดู ส่วนมากจะพบหนอนกระทู้ ให้ใช้ที่คีบคีบหนอนกระทู้ใส่ภาชนะแล้วไปทิ้ง เวลาช่วง 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่มเป็นเวลาที่ดีที่สุด ใช้ไฟบนโทรศัพท์ส่องแล้วจับออก บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ แต่ต้องตรวจแปลงตอนกลางคืนแทบทุกวัน ปัญหาศัตรูพืชก็หมดไป โดยไม่ได้ใช้สารเคมีใดใดเลย

ในช่วงแรกๆ ที่ปลูกเจอปัญหาอุปสรรคบ้าง เช่น การเตรียมดินที่ไม่ดีพอ ทำให้ผักไม่สมบูรณ์ เมื่อมีการเตรียมดินที่เหมาะสมผักก็มีคุณภาพ หลังจากที่ตัดผักแล้วก็จะตากดินโดยการพรวนกลับหน้าดินขึ้นมา ตากแดดไว้ 7 วัน เมื่อจะปลูกค่อยผสมกากกาแฟ ปูนขาว แคลเซียม ลงไปเพื่อให้มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับผัก ปัจจุบันผักที่ปลูกมีสลัดชนิดต่างๆ คะน้า กวางตุ้ง มะเขือเทศราชินี มะเขือทั่วไป พริก เคล กะหล่ำหัว บร็อกโคลี่ เป็นต้น กำลังการผลิตผักตอนนี้ได้เดือนละ 10-15 กิโลกรัม คะน้าและกวางตุ้งได้อย่างละ 10 กิโลกรัม ส่วนผักอย่างอื่นจะนำไว้ทำอาหารกินในครอบครัวเสียส่วนใหญ่ นอกเหนือจากใช้บริโภคในบ้านแล้วยังแจกจ่ายบ้านญาติอีกจำนวนหนึ่ง ที่เหลือจึงแบ่งขายให้คนรู้จัก แต่ก็มีส่งขายให้ร้านอาหารของญาติสัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นประจำ ปัจจุบันคุณปุ้ยมีรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2,000 บาทจากการทำผักข้างบ้านในพื้นที่จำกัดเพียงแค่นี้

“สำหรับคนที่สนใจจะปลูกผัก บอกได้เลยว่าอย่ารีรอให้ลงมือทำเลย โดยศึกษาทางสื่อออนไลน์ แล้วปลูกเลยหลังจากลองผิดลองถูกสักระยะหนึ่งก็จะสามารถทำได้ ไม่ต้องมุ่งหวังที่จะขายเพียงแค่นำมากินในครอบครัวก็เพียงพอแล้ว เมื่อเราทำได้มันจะเป็นความภาคภูมิใจของเรา การปลูกผักกินเองจะให้รู้สึกฟินมาก มันแตกต่างกับการซื้อผักในตลาด ตลอดเวลาที่ทำมา 4 ปี การทำผักเหมือนกับการเติมความสุขให้กับบ้านหมายถึงคนทั้งหมดในครอบครัว” คุณปุ้ยได้ฝากข้อคิดถึงคนอ่านคอลัมน์นี้ ติดต่อขอความรู้ได้ที่ เพจ บ้านผักเติมสุข