เกษตรกรราชบุรี เลี้ยงหมูหลุมสร้างรายได้ ช่วยลดต้นทุน-ลดกลิ่นได้ดี

การเลี้ยงหมูหลุม เป็นอีกช่องทางที่สามารถช่วยลดในเรื่องของกลิ่นได้ดี เพราะการเลี้ยงจะเน้นใส่แกลบลงไปภายในเล้า จึงทำให้ของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายของหมู ซึมลงไปด้านล่างทำให้ไม่มีกลิ่นส่งออกมารบกวน และที่สำคัญหมูยังได้รับการปฏิบัติที่ดีไม่อยู่กันอย่างแออัด จากหลักการสำคัญนี้เองจึงทำให้หมูมีสุขภาพดี เกษตรกรสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะไปภายในตัว

คุณสุธี ทัศนสุนทรวงศ์ อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 11 ตำบลแก้มอ้น อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้ปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงหมูแบบวิธีเดิม มาเลี้ยงด้วยวิธีนี้ นอกจากจะช่วยให้ประหยัดในเรื่องของการใช้น้ำจำนวนมากแล้ว การเลี้ยงหมูหลุมช่วยให้ประหยัดต้นทุนการเลี้ยงได้ดี โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้น้ำ ที่ไม่ต้องหมั่นฉีดทำความสะอาดในทุกๆ วัน แบบการเลี้ยงด้วยวิธีการเดิม

คุณสุธี ทัศนสุนทรวงศ์

คุณสุธี บอกว่า การเลี้ยงหมูหลุมถือว่าเป็นการจัดระบบฟาร์มให้ดียิ่งขึ้น เพราะหมูที่เลี้ยงจะอยู่กันอย่างไม่แออัดจนเกินไป ทำให้หมูมีพื้นที่เดินเล่น จากการทดลองจนประสบผลสำเร็จ จึงทำให้เขาได้เลี้ยงแบบครบวงจรในเวลาต่อมา คือการผลิตลูกพันธุ์จำหน่ายและบางส่วนไว้เลี้ยงขุนเองภายในฟาร์ม

ก่อนที่จะนำลูกหมูมาใส่เลี้ยงเข้าไปภายในเล้าสำหรับเลี้ยงแบบหลุมนั้น ต้องนำแกลบชุดเก่าออกไปให้หมดเล้า จากนั้นทำการปรับพื้นที่เลี้ยงด้วยการใส่แกลบชุดใหม่เข้าไปให้เต็มหลุม เมื่อปล่อยลูกหมูเข้ามาเลี้ยงได้ประมาณ 2 เดือน เห็นว่าแกลบมีจำนวนน้อยลงก็จะเติมแกลบใหม่เข้าไปให้เต็มหลุมด้วยเช่นกัน พร้อมกับฉีดน้ำหมักอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ลดกลิ่นลงไปได้มาก

ลูกหมูยังไม่หย่านม

“ลูกหมูที่มีอายุ 21-25 วัน หลังจากที่หย่านมแล้ว เลี้ยงด้วยอาหารต่อไปอีกจนมีอายุได้ 40 วัน เราก็จะย้ายนำเข้ามาเลี้ยงในคอกขุนหรือคอกที่เราจะเลี้ยงเป็นหมูหลุม ในแต่ละวันก็จะเลี้ยงด้วยอาหารลูกหมูอ่อนที่มีโปรตีนอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์ ให้กินจนลูกหมูมีน้ำหนักอยู่ที่ 15 กิโลกรัม จากนั้นก็จะเปลี่ยนสูตรอาหารที่มีโปรตีนอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ ให้กินในช่วงเช้าและเย็น เลี้ยงแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนหมูได้อายุ 140 วัน ก็สามารถจับขายได้”

การทำคอกสำหรับเลี้ยงหมูหลุม

หมูที่ผ่านการเลี้ยงในระบบนี้ คุณสุธี บอกว่า หมูทุกตัวค่อนข้างมีความแข็งแรง โดยที่เขาไม่ต้องนำยาปฏิชีวนะเข้ามาฉีด แต่จะดูในเรื่องของอาการทางเดินอาหารนิดหน่อย อาทิ โรคขี้พุ้งก็จะป้องกันด้วยการโยนต้นกล้วยที่มีใยอาหารเข้าไปภายในเล้าเพื่อลดอาหารถ่ายท้อง และมีการเสริมด้วยยาบำรุงสำหรับหมูที่ดูทรงตัวโตไม่เต็มที่ กำลังขาดสารอาหาร

หมูหลุม

ซึ่งหมูหลุมที่ผ่านการเลี้ยงเป็นหมู 3 สายพันธุ์ จะเน้นการผสมเทียมเป็นหลัก ลูกหมูที่ออกมาแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 10 ตัวเป็นอย่างต่ำ ลูกหมู 3 สายพันธุ์เหล่านี้ หากเขาไม่ได้เก็บเอาไว้เพื่อเลี้ยงเองสำหรับขุน เขาก็จะนำไปจำหน่ายให้กับเพื่อนๆ เกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจต่อไป จึงทำให้รายได้ที่มีไม่ได้เกิดแต่การจำหน่ายเพียงหมูขุนเท่านั้น แม้แต่ลูกพันธุ์หมูภายในฟาร์มทั้งหมดก็สามารถทำเงินได้ด้วยเช่นกัน

พื้นที่เล้าหมูหลุม

“ลูกหมูที่หย่านม ถ้าเราไม่ได้ขุนเองภายในฟาร์ม ก็จะส่งจำหน่ายทันที เป็นลูกหมูอายุ 25-40 วัน ราคาต่อตัวอยู่ที่ 2,200-2,500 บาท และถ้าเป็นหมูหลุมที่ขุนขายอายุ ตั้งแต่ 140 วัน น้ำหนักเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 96 กิโลกรัม ราคาตามท้องตลาด เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 85-86 บาทต่อกิโลกรัม ใน 1 รอบการเลี้ยง สามารถจำหน่ายได้ถึง 30 ตัว”

พื้นที่ภายในฟาร์ม

จากการที่ได้มาเลี้ยงหมูหลุมในเรื่องของตลาด คุณสุธี บอกว่า ลูกค้าก็จะบอกกันไปปากต่อปาก จึงทำให้หมูหลุมภายในฟาร์มเป็นที่รู้จักของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เวลานี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ เรียกได้ว่ากำลังผลิตไม่พอขายกันเลยทีเดียว และมองไปยังอนาคตข้างหน้าว่า หากตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่องอยู่เช่นนี้ จะเพิ่มจำนวนการเลี้ยงให้มากขึ้น เพื่อให้มีหมูหลุมขายได้จำนวนมากขึ้นตามไปด้วย

การผลิตลูกพันธุ์จำหน่าย

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงหมูหลุมเหมือนอย่างเขา ให้คำนึงถึงเรื่องคอกเลี้ยงเป็นหลัก โดยคอกจะต้องไม่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำจนเกินไป ในช่วงฤดูฝนจะทำให้มีน้ำซึมขึ้นมาทำให้แกลบเปียกอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้น้ำภายในเล้าไม่ระบายออกและหมูไม่สบายเป็นโรคปอดบวมได้ง่าย และพื้นที่ต่อตัวต้องเป็นพื้นที่ที่เพียงพอ ถ้าเกิดพื้นที่ไม่เพียงพอจะทำให้หมูนอนในพื้นที่เปียกๆ และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้

“พื้นที่คอกถือว่าสำคัญมาก ต้องมีปริมาณให้เพียงพอ พร้อมกับคิดวิธีการนำเอาแกลบออกให้ได้ง่ายๆ เพราะเวลาที่เราต้องเอาแกลบออก มันจะลำบากถ้าเราจัดการไม่ดี เพราะฉะนั้นก็อยากให้คำนึงในเรื่องนี้ การเลี้ยงไม่ยากหากมีการจัดการที่ดี การเลี้ยงหมูหลุมค่อนข้างที่จะประหยัดต้นทุนได้ดีพอควร เพราะฉะนั้นก็อยากฝากในเรื่องของการออกแบบเล้าให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ครับ”

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงหมูหลุมหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสุธี ทัศนสุนทรวงศ์ หมายเลขโทรศัพท์ 064-949-3653