เมื่อมนุษย์ไม่ยอมแพ้

คนเคยเห็นลาสเวกัสเมืองคาสิโนกลางทะเลทรายของอเมริกา หรือบางคนเรียกให้ช้ำใจว่าเมืองบาป จะรู้ว่าขณะที่แสงสีฉวัดเฉวียนล่อตาล่อใจเหมือนเมืองนี้ไม่เคยหลับใหล ดูเจริญหูเจริญตาจนอาจเลยไปถึงลายหูลายตา เมืองนี้ก็มีปัญหาน้ำหนักหนาจนถึงขนาดต้องเอาน้ำเสียจากส้วมกลับมาใช้อีก ต้นไม้ใบไร่ที่เห็นกันนั้นล้วนมาจากน้ำเสียจากส้วม (น้ำเสียจากที่อื่นด้วย แต่ที่ระบุว่าน้ำเสียจากส้วมนี่เพื่อบอกว่าเขาเคร่งครัดขนาดไหน เรียกว่าน้ำเสียขั้นสุดนี่เขาก็ไม่ทิ้ง)

มันก็น่าอัศจรรย์ใจอยู่นะที่ฝรั่งนี่กล้าหาญชาญชัยในการสร้างเมืองมหึมา เรียกว่าใหญ่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ไว้กลางทะเลทราย มองไปทางไหนมีแต่ทะเลทรายและความแห้งแล้ง ลาสเวกัสสร้างมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ตอนที่วิทยาการอะไรต่อมิอะไรไม่ได้ก้าวหน้าจนการสร้างเมืองทะเลทรายเป็นเรื่องง่ายอย่างทุกวันนี้

แต่เพราะเขาต้องการนำความเจริญไปสู่พื้นที่แห้งแล้งนั่นแหละ เขาถึงกัดฟันสร้างเมืองนี้ขึ้น เพื่อทำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ทะเลทรายแห่งนี้ และมันก็ประสบผลสำเร็จดี

แต่ก็ต้องรับมือกับปัญหาที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอ ก็คือแหล่งน้ำที่จะเอาใช้ ซึ่งลาสเวกัสเผชิญปัญหานี้มาตลอด ลองนึกดูว่าเมืองกลางทะเลทราย ไม่มีแหล่งน้ำ แต่มีคนไปใช้ชีวิตปีหนึ่งนับสิบล้านคน รัฐบาลท้องถิ่นเขายกให้เรื่องน้ำเป็นวาระสำคัญสุด เรื่องนี้แก้ไขไม่ยาก เรื่องน้ำยากสุด แต่เขาก็แก้ได้ คือตั้งใจแก้แต่วันแรกจนถึงวันนี้

เกือบ 20 ปีก่อน ฉันเคยไปเมืองนี้ ในห้องพักโรงแรมเขาจะเขียนไว้เลยว่าให้ประหยัดน้ำ และผ้าขนหนูที่ใช้แล้ว หากจะส่งซักให้เอาวางไว้ที่พื้น ถ้าแขวนไว้นี่หมายความว่ายังไม่ซัก แล้วเขาก็บอกว่าพยายามใช้ผ้าขนหนูหลายวันหน่อยนะ เพื่อประหยัดน้ำ

หลายคนอาจเจอเรื่องราวแบบนี้ในโรงแรมหลายแห่งในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่าเมื่อ 20 ปีก่อน เรื่องประหยัดน้ำเรื่องโลกร้อน ยังไม่มีใครเอามาคุย แต่ที่ลาสเวกัสคุยกันแต่ดั้งเดิมแล้ว

มีปัญหาแบบนี้เราคงคิดว่าไม่น่าจะมีใครคิดจะเพาะปลูกอะไรนะ ก็มันไม่มีน้ำน่ะ จะทำเพาะปลูกได้อย่างไร

เราคิดกันแบบนั้น แต่อย่าดูเบาฝรั่ง ในเมื่อกล้าสร้างเมืองกลางทะเลทราย ทำไมจะไม่กล้าเพาะปลูกเล่า

น้ำที่ใช้ในเมืองลาสเวกัส หรือรัฐเนวาดาที่ลาสเวกัสตั้งอยู่ มาจากสองส่วน ส่วนใหญ่หรือ 90% ลำเลียงมาจากแม่น้ำโคโลราโด แม่น้ำที่ยาวถึงกว่า 2,000 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงหลายรัฐ ไล่ตั้งแต่ต้นน้ำจากเทือกเขาร็อกกี ผ่านรัฐไวโอมิง โคโลราโด อริโซนา ไปออกทะเลที่รัฐแคลิฟอร์เนีย มีผู้คนใช้น้ำมาจากแม่น้ำนี้กว่า 25 ล้านคน

แม่น้ำนี้ไม่ได้ผ่านลาสเวกัส แต่เขาเอามาใช้จนได้ ด้วยการสร้างระบบส่งน้ำยาวเกือบ 300 กิโลเมตร เอาน้ำจากแม่น้ำนี้มาเก็บไว้ในอ่างน้ำขนาดใหญ่แล้วบริหารจัดการใช้ให้พอเพียง จะมาเปิดทิ้งเปิดขว้างไม่ได้ ในหน้าร้อนแม่น้ำโคโลราโดแห้งเหือด เขาก็ใช้น้ำบาดาลประทัง ช่วงหน้าแล้งของทางใต้ของอเมริกานี่สาหัสมาก เพราะน้ำเขาลดลงจนเรียกว่าขอดก้น

ที่แคลิฟอร์เนียนี่ถึงกับห้ามรดน้ำต้นไม้ ทั้งภาครัฐและเอกชน เขาถึงป่าแห้งมากและกลายเป็นปัญหาไฟป่าขนาดใหญ่เกือบทุกปี

ไร่นาของรัฐเนวาดา ซึ่งมีลาสเวกัสเป็นเมืองหลักนั้น แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ละแปลงเขาใหญ่กว่าระดับเฉลี่ยของไร่นาในอเมริกา ซึ่งอันนี้ก็เข้าใจไม่ยาก เขามีต้นทุนที่จะต้องลำเลียงน้ำมาไกล เขาต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นล่ำเป็นสัน ไม่ใช่กระจายแปลงเล็กแปลงน้อยอย่างบ้านเราที่น้ำท่าบริบูรณ์กว่า ขนาดไร่นาของเขาเฉลี่ยแปลงละ 200 ไร่ขึ้น เรียกว่าสุดลูกหูลูกตา

เขาเลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์ใหญ่อย่างวัว สัตว์กลางอย่างหมู หรือสัตว์เล็กอย่างไก่ ผลผลิตเขาก็ป้อนธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม คาสิโน ที่มีมากมีในเมืองเขานั่นเอง และขายได้ราคาดีมาก เพราะคนไปเที่ยวนี่มักใช้จ่ายไม่คิดเยอะ แต่ข้อจำกัดทำให้ต้องทำการเกษตรในพื้นที่ที่น้ำไปถึง ถ้าบ้านเราก็เรียกว่าต้องอยู่ในพื้นที่มีระบบชลประทาน เขาปลูกหญ้าได้มาก ส่งไปขายให้กับเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทั้งในรัฐตัวเองและรัฐใกล้ๆ

นอกจากนั้น เขายังปลูกมันฝรั่ง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลีในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ข้าวโพด หัวหอม กระเทียม และน้ำผึ้ง มีกระทั่งสะระแหน่ ผักและผลไม้

ลาสเวกัส หรือเรียกว่ารัฐเนวาดาทั้งรัฐก็ได้ เน้นเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงตัวเอง จึงไม่ใช่รัฐเกษตรกรรมขนาดใหญ่ของอเมริกา อย่างรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีรายรับทางการเกษตรสูงสุด ตามด้วยรัฐไอโอวา รัฐเนบราสกา รัฐเทกซัส และรัฐอิลลินอยส์

แคลิฟอร์เนียนี่ปลูกได้เกือบทุกอย่าง ตั้งแต่หอมกระเทียมเบสิก ไปจนถึงองุ่นทำไวน์ราคาสูง เลี้ยงสัตว์ได้เกือบทุกอย่าง อาศัยที่มีพื้นที่กว้างขวาง เรียกว่าขนาดเล็กกว่าประเทศไทยไม่มากนัก

รัฐไอโอวา รัฐเนบราสกา และรัฐเทกซัส (รายนี้ใหญ่กว่าประเทศไทยเยอะเลย) ก็ล้วนเป็นรัฐใหญ่จึงทำอะไรได้มากกว่าชาวบ้าน ส่วนรัฐอิลลินอยส์นั้นไม่ใหญ่มาก แต่เป็นศูนย์กลางของการเลี้ยงวัวทั้งวัวเนื้อวัวนม จึงมีรายได้จากการเกษตรมาก

อย่างที่บอกไปเมื่อสักครู่ แคลิฟอร์เนียก็เผชิญปัญหาแห้งแล้งอย่างหนักหนาสาหัสทุกปี แหล่งน้ำไม่พอใช้หล่อเลี้ยงผู้คนเกือบ 40 ล้านคนในรัฐนี้

มาคุยกันคราวหน้าว่าทำอย่างไรถึงทำเกษตรในรัฐที่มีปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง ได้รายได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศเขา