นักวิจัย มจธ. พัฒนาเครื่องผลิตสาหร่ายสไปรูลิน่า ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ เลี้ยงเอง กินเองได้ที่บ้าน

ด้านบนสามารถเปิดเพื่อเติมสาหร่ายเกลียวทอง และอาหารได้สะดวก

จากจุดเด่นของสาหร่ายเกลียวทอง หรือสาหร่ายสไปรูลิน่า (Spirulina) ที่มีกรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acid) ครบทั้ง 9 ชนิด ที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ในร่างกายได้ดีใกล้เคียงกับกรดอะมิโนจากถั่วหลืองแล้ว สาหร่ายชนิดนี้ยังมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 55-70 และสารมูลค่าสูงจำพวกกรดไขมันจำเป็นอีกหลายชนิด เช่น กรดลิโนเลอิก และกรดแกมมาลิโนเลนิก (GLA) รวมทั้งมีสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ไฟโคไซยานิน และแคโรทีนอยด์ ทำให้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าในระดับอุตสาหกรรมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผสมในเครื่องสำอางจำหน่ายในท้องตลาดกันอย่างแพร่หลาย

ดร.ชีวิน อรรถสาสน์ (คนซ้าย) ผู้ออกแบบเครื่อง

แต่ทราบหรือไม่ว่า กระบวนการนำสาหร่ายไปทำแห้งด้วยความร้อนจะทำให้สารสำคัญที่มีคุณค่าทางโภชนาการมีปริมาณและคุณภาพลดลง หรือสูญหายไป โดยเฉพาะสารไฟโคไซยานินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น มีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

บ่อเลี้ยงสาหร่ายของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย

ดังนั้น “การกินสาหร่ายสไปรูลิน่า” แบบสดๆ จะทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนมากกว่าการกินสาหร่ายแห้งอัดเม็ดหรือแคปซูล

ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด สะดวกต่อการเลี้ยงและนำออกมาบริโภค

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย (Algal Biotechnology) สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงนำองค์ความรู้เกี่ยวกับสาหร่ายสไปรูลิน่าที่ทำวิจัยมากว่า 30 ปี ล่าสุดกลุ่มวิจัยได้พัฒนาเครื่องผลิตสาหร่ายระดับครัวเรือน ที่เหมาะกับคนทั่วไปที่ต้องการบริโภคแบบสดเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าไว้บริโภคได้เอง โดยนำไปผสมอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มได้ตามต้องการ

ภาพต้นแบบเครื่องเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองระดับครัวเรือน ที่ออกแบบโดย ดร.ชีวิน อรรถสาสน์

รศ.รัตนา ชัยกล้าหาญ นักวิจัยสังกัดกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย สรบ. มจธ. กล่าวว่า เครื่องต้นแบบนี้ มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท มีค่าหัวเชื้อสาหร่ายประมาณลิตรละ 1,000 บาท และค่าอาหารลิตรละ 1.5 บาท ค่าไฟฟ้าประมาณ 1.31 บาทต่อกรัมสาหร่าย โดยหากมีความร่วมมือในการพัฒนาและต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์จริง ก็จะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถมีเมนูสุขภาพที่เลี้ยงได้ด้วยตัวเองในราคาจับต้องได้ โดยผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.บางขุนเทียน) โทร. 02-470-7469, 02-470-7471