หนุ่มสิงห์บุรี พลิกผืนดินบ้านเกิด เพาะพันธุ์ปลาดุกอุยนาระบบฟาร์ม

ปลาดุกอุย หรือปลาดุกนา เป็นปลาน้ำจืด มีกระดูกท้ายทอยยื่นแหลมออกไปลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ลำตัวสั้นป้อม มีสีดำปนเหลือง มีจุดขาวเล็กๆ เรียงเป็นแถวขวางลำตัวหลายแถว ครีบหลังสูงกว่าปลาทั่วไปมาก สามารถเคลื่อนที่บนบกได้เป็นระยะทางสั้นๆ โดยใช้ครีบช่วย พบได้ในพื้นที่แถบประเทศไทยไปจนถึงเวียดนาม และมีการนำไปเลี้ยงในประเทศจีน, มาเลเซีย, เกาะกวม และฟิลิปปินส์ ด้วย

บางครั้งมีความเข้าใจผิดกันว่า ปลาดุกอุยคือปลาดุกด้าน แต่ที่จริงเป็นปลาคนละชนิดกัน ปลาดุกอุยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยและชาวลาวมากกว่าปลาดุกด้าน เนื่องจากเนื้อมีรสชาติ มัน อร่อย ราคาที่สูงกว่าปลาดุกด้าน จึงได้มีการเพาะเลี้ยงและผสมเทียมในบ่อ แต่ปัจจุบันได้นำมาผสมกับปลาดุกเทศ เป็นปลาลูกผสม เรียกว่า “ปลาดุกบิ๊กอุย”

ปลาดุกอุยนาเป็นปลาที่มีอายุเจริญพันธุ์ค่อนข้างเร็ว สำหรับปลาดุกอุยนา ในธรรมชาติจะเริ่มเพาะขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤศจิกายน รวมเป็นช่วงเวลาขยายพันธุ์ในรอบปีเป็นเวลา 8-9 เดือน

ปลาดุกอุยนาเป็นปลาที่เลือกคู่ใครคู่มัน เมื่อปลาพร้อมวางไข่แล้ว จะจับคู่กับปลาเพศผู้เพื่อการผสมพันธุ์ การวางไข่ในธรรมชาติ แม่ปลาจะวางไข่ในหลุมโพรงหรือดินใต้น้ำ ปลาจะใช้ส่วนลำตัวและหางกวาดเศษดินเศษโคลนออกจากหลุมจนหมดเหลือแต่ดินแข็งๆ เพื่อที่จะให้ไข่เกาะติดได้

ไข่ปลาดุกอุยนา จะมีสีน้ำตาลอ่อน จนถึงสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ จำนวนไข่จะมีประมาณ 2,000-5,000 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ ปลาจะดูแลฟักไข่และเลี้ยงลูกระยะหนึ่ง หากพบแหล่งวางไข่ของปลาดุกอุยนา ซึ่งสังเกตเห็นว่าพ่อแม่พันธุ์จะว่ายน้ำเข้า-ออก บริเวณนั้นอยู่ระยะหนึ่ง โดยมีพฤติกรรมเช่นเดียวกันกับปลาดุกด้าน

ช่วงเวลาที่พบปลาชนิดนี้วางไข่ในธรรมชาติจะพบในฤดูฝน-ฤดูน้ำหลาก หรือช่วงที่เปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ในบ่อ เนื่องจากปลาดุกอุยนาเป็นปลาที่แข็งแรง ทนทาน กินอาหารง่าย เจริญเติบโตเร็ว และอยู่รวมกันได้อย่างหนาแน่น เป็นปลาที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จึงมีราคาแพง ทำให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพได้ดีในระดับหนึ่ง

คุณดนัย มีฤทธิ์

คุณดนัย มีฤทธิ์ หรือ คุณมาร์ช อายุ 26 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 8/3 หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาดุกอุยนาระบบฟาร์ม

คุณดนัย เล่าว่า ฟาร์มปลาดุกอุยนาแห่งนี้เกิดขึ้นมา 3 ปีกว่าแล้ว โดยเดิมทีครอบครัวมีอาชีพเป็นเกษตรกรเพาะพันธุ์ปลาดุกอุยนาระบบฟาร์มมานานแล้ว แต่ด้วยในอดีตมีช่วงหนึ่งที่ปลาดุกอุยนาราคาตกต่ำมาก ทำให้ต้องเลิกเพาะเลี้ยงไป แล้วไปทำการเกษตรด้านอื่นๆ แทน

แต่ด้วยคุณดนัยมีความชื่นชอบและมีความรู้ ประสบการณ์การทำฟาร์มปลาดุกอุยนา เพราะตั้งแต่จำความได้ครอบครัวก็ยึดถืออาชีพนี้มานานมากแล้ว เมื่อคุณดนัยได้ปลดประจำการจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้ว ก็ได้ลงมือพลิกผืนดินของครอบครัวให้กลับมาเป็นฟาร์มปลาดุกอุยนาอีกครั้ง

โดยมีการวางแผนอย่างชัดเจน ทั้งระบบการดูแลภายในฟาร์ม กลุ่มเป้าหมาย และตลาด รวมไปถึงการทำการตลาดยุคใหม่อย่างการตีตลาดออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงฟาร์มได้ง่ายยิ่งขึ้น

การดูแลและการจัดการภายในฟาร์มปลาดุกอุยนา

ขนาดบ่อที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงอยู่ที่ 1 งานต่อ 1 บ่อ ความลึกของบ่ออยู่ที่ 1.50 เมตร การเลี้ยงของทางฟาร์มจะใช้น้ำบาดาลในการเลี้ยง เนื่องจากน้ำบาดาลเป็นน้ำจากแหล่งธรรมชาติใต้ดิน มีแร่ธาตุและความสะอาดมากกว่าน้ำจากแม่น้ำ คลอง เพราะเนื่องด้วยทางฟาร์มเพาะเลี้ยงสำหรับกินเนื้อเป็นอาหาร แหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ดีต่อผู้บริโภคและปลาในฟาร์ม

เติมน้ำบาดาลลงบ่อปลา

อัตราส่วนในการปล่อยปลาลงบ่อ อยู่ที่ 150,000-200,000 ตัวต่อบ่อ เนื่องจากปลาดุกอุยนาเป็นปลาที่แข็งแรง อึด ทน โตไว ทำให้สามารถอยู่รวมกันจำนวนมากได้ แต่ต้องบอกว่าอัตราการรอดในการเลี้ยงปลาทุกชนิด ไม่รอด 100 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน เฉลี่ยอัตราการรอดขึ้นอยู่กับสภาวะหลายอย่างภายในบ่อ บางบ่ออาจจะรอด 90 เปอร์เซ็นต์ หรือบางบ่ออัตราการรอดอาจจะลดลง

ลูกพันธุ์ปลาดุกอุยนา

การถ่ายน้ำในบ่อ ไม่มีวันเวลาที่แน่นอน เพียงใช้การสังเกตของสภาพน้ำในบ่อหรือวัดค่า pH ในบ่อ หากน้ำในบ่อมีสภาพน้ำที่ไม่ค่อยดีนัก ทางฟาร์มจะทำการดูดน้ำออกจากบ่อ และเติมน้ำบาดาลใหม่ใส่ลงไป ไม่ใช่การหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ เพราะอาจส่งผลให้ปลาตายได้

ปลาดุกอุยนาสีทอง

อาหาร ทางฟาร์มจะให้อาหารเม็ด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยโปรตีนในเม็ดอาหารจะต้องอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 มื้อต่อวัน ช่วงเช้า-เย็น

คุณดนัย กล่าวว่า ฟาร์มปลาทุกที่อาจจะประสบปัญหาเดียวกันคือ โรคครีบเปื่อย ตัวเปื่อย แต่สามารถแก้ให้หายได้ โดยการเปลี่ยนน้ำในบ่อใหม่ และสาดเกลือลงบ่อ เพื่อปรับสภาพน้ำในบ่อ น้ำก็จะช่วยรักษาบาดแผลของปลา ทำให้ปลารู้สึกคลายเครียด และมีผิวที่ดี

เมื่อปลาดุกอุยนามีอายุครบ 5 เดือนขึ้นไป ก็สามารถจำหน่ายเนื้อได้แล้ว โดยน้ำหนักจะอยู่ที่ 6-7 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ราคาปลาขึ้น-ลง อยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง เช่น ช่วงที่ปลาขาดตลาด ช่วงอุทกภัย เป็นต้น ปัจจุบันราคาปลาดุกอุยนาจำหน่ายอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม

ราคาปลาดุกอุยนาที่สูงที่สุดเคยอยู่ที่ 85-90 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ) แต่ราคาจำหน่ายต่อกิโลกรัมที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้คือ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม ตลาดปลาดุกอุยนา ถึงจะเป็นการนิยมบริโภคเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันมีการขยายกลุ่มตลาดมากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งตลาดภาคอีสาน ตลาดประเทศลาว คนลาวในประเทศไทย และขยายกว้างออกไปทั้งกลุ่มคน ชาวบางปะกง และผู้คนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี เป็นต้น แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือความใส่ใจ ปลาดุกอุยนาของฟาร์มจะต้องมีคุณภาพ แข็งแรง เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ

“เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ เข้าสู่ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลาดุกอุยนาระบบฟาร์ม ถึงแม้จะเป็นการลงทุนที่ไม่ใช่ต้นทุนต่ำ แต่แน่นอนว่า หากศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ศึกษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ว่าเหมาะแก่การเลี้ยงปลาดุกอุยนาไหม เพราะต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่จะสามารถเพาะเลี้ยงปลาดุกอุยนาให้ได้ผลผลิตดี และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เลี้ยงต้องศึกษาและหาตลาดรองรับอย่างชัดเจนให้ได้ ควรเริ่มจากการมองหาตลาดในพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ก็ไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภค”

สำหรับท่านใดที่สนใจ ลูกพันธุ์ปลาดุกอุยนา ปลาดุกอุยนา ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณดนัย มีฤทธิ์ อยู่หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทรศัพท์ 090-987-6273 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก ปลาดุกอุยนา สิงห์บุรี

ปลาดุกอุยนาในบ่อ
ปลาดุกอุยนา
ชั่งน้ำหนักปลาจากบ่อ ก่อนส่งให้ลูกค้า

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566