แนะวิธีปลูกผักแบบไส้ตะเกียง ใช้น้ำน้อย ประหยัดพื้นที่

ตำบลภูเขาทอง อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเขตที่ราบสูงที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชได้ทุกชนิด แต่ชาวบ้านที่พักอาศัยในบริเวณรอบเขตเมืองนั้นส่วนใหญ่พากันซื้อผักจากตลาดมาบริโภค ชาวบ้านบางครอบครัวไม่มีพื้นที่ปลูกผักสวนครัวกินเอง แถมผักที่ซื้อขายในท้องตลาดนั้นค่อนข้างมีราคาแพงและเต็มไปด้วยสารเคมี ดังนั้น การปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองนั้นจึงเป็นการสำรองอาหารอีกวิธีหนึ่ง

นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทอง เล็งเห็นประโยชน์ของการปลูกผักจึงได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องการปลูกผักด้วยวิธีการสัมภาษณ์เกษตรกร ค้นหาข้อมูลอินเตอร์เน็ต จนได้ข้อสรุปว่า การปลูกผักสวนครัวแบบไส้ตะเกียงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสะดวก ประหยัดเวลาในการปลูกและดูแลพืชผักสวนครัว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักบริโภคในครัวเรือน

รณรงค์ปลูกพืชผักสมุนไพรต้านภัยโควิด-19 ต่อเนื่อง

ปลูกผักแบบไส้ตะเกียง
ทำได้ง่าย ไม่ยาก

การปลูกผักแบบไส้ตะเกียง เริ่มจากจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์คือ ท่อน้ำพีพีซี เลื่อยตัดเหล็กสำหรับตัดท่อน้ำพีพีซี คัตเตอร์ กรรไกร ด้าย ถังน้ำ ตะกร้า ผักสวนครัว รวมทั้งวัสดุสำหรับปลูกพืช เช่น ดินร่วน ขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ

วิธีทำ เริ่มจากนำด้ายมาทำเป็นไส้ตะเกียง หลังจากนั้น ตัดท่อพีพีซีสำหรับเติมน้ำในถัง นำตะกร้ามาเจาะรูใส่ท่อเติมน้ำพร้อมนำไส้ตะเกียงมาใส่ นำพืชผักสวนครัวที่เตรียมไว้มาปลูกในตะกร้า นำดินมาเติมใส่ให้เต็ม หลังจากนั้นรดน้ำพอให้ชุ่ม ปล่อยให้พืชเติบโตตามธรรมชาติ

ตัดท่อพีวีซีสำหรับเติมน้ำในถัง

หลังการเพาะปลูก นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทองพบว่า การปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าซื้อผัก ค่าน้ำมันรถหรือค่ารถไปตลาด แถมประหยัดเวลาในการดูแลรักษา สามารถนำไปใช้งานได้จริงในการใช้ชีวิตแบบหอพักหรือคอนโดฯ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ให้สามารถปลูกผักสวนครัวไว้กินเองได้

นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทองได้ต่อยอดนวัตกรรมการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียง โดยนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่ได้นำความรู้นี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเรื่องการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงในแต่ละครัวเรือน และสามารถสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ขณะเดียวกัน สามารถต่อยอดในรูปแบบปลูกต้นไม้ฟอกอากาศในสำนักงานได้อีกด้วย

นำตะกร้ามาเจาะรู ใส่ท่อเติมน้ำในถัง

นวัตกรรมการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงใช้หลักการดูดน้ำมันของไส้ตะเกียงในสมัยก่อน เมื่อเราจุดไฟที่ไส้ตะเกียง น้ำมันที่อยู่ในเชือกจะถูกเผาเป็นเชื้อเพลิง เมื่อน้ำมันที่อยู่ด้านบนเชือกถูกใช้ไป น้ำมันด้านล่างก็จะซึมมาแทนที่ ทำให้เกิดการติดไฟอย่างต่อเนื่อง การปลูกผักก็เช่นกัน เมื่อใช้เชือกเศษผ้าหรือเชือกที่สามารถซึมซับน้ำได้มาเป็นส่วนที่จะทำหน้าที่ดูดน้ำขึ้นมาให้กับต้นผักของเรา โดยเชือกนี้จะอยู่ในน้ำครึ่งหนึ่งและในดินอีกครึ่งหนึ่ง เมื่อต้นผักดูดน้ำในดินไปจะทำให้ดินแห้ง แล้วน้ำที่ซึมอยู่ในเชือกก็จะถูกกระจายออกไปยังดิน ทำให้เกิดการดูดน้ำขึ้นมาอัตโนมัติตามที่ผักต้องการ

Advertisement

สรุปข้อดีของนวัตกรรมการปลูกพืชแบบไส้ตะเกียงคือ ช่วยลดการให้น้ำ ลดเวลาในการดูแล และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัว สามารถปลูกพืชผักสวนครัวแบบไส้ตะเกียงได้ทุกแห่ง ช่วยเพิ่มความสวยงามให้แก่อาคารบ้านเรือนได้อีก

ช่วยกันเติมดินใส่ในตะกร้าปลูกผัก
ปลูกพืชผักแบบไส้ตะเกียง

อนึ่ง ความสำเร็จของการศึกษาโครงงานเรื่องนี้ นักศึกษา กศน.ตำบลภูเขาทองได้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษาจาก นางปัทมา เวียงอินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหนองพอก พร้อมด้วย นายมานิตย์ นิลผาย และ นายบรรเทิง ขานดา ครู กศน.ตำบลภูเขาทอง ที่ได้ให้ความกรุณาชี้แนะแนวทางและการตรวจสอบการแก้ไขข้อบกพร่องของโครงงานจนสำเร็จด้วยดี

Advertisement

สำนักงาน กศน.จังหวัดร้อยเอ็ด

สืบเนื่องจากปัจจุบันที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะต้นทุนค่าครองชีพที่สูงและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงาน กศน. จึงให้ความสำคัญส่งเสริมความรู้ในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกภาคส่วนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

ประเมินคัดเลือก กศน.ตำบลต้นแบบ

สำนักงาน กศน.จังหวัดร้อยเอ็ดได้สนองนโยบายรัฐบาล มุ่งส่งเสริมอาชีพ เพื่อการมีงานทำ เพื่อประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงชี้แนะแนวทางการพัฒนาชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมี พอใช้ การรู้จักพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล ส่งเสริมความประหยัดในครัวเรือนและพัฒนาพื้นที่เกษตรสู่ “โคก-หนอง-นา” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงาน กศน.จังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดทำโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อพัฒนาบุคลากร กศน. ให้มีความรู้ เกิดทักษะ และสามารถนำความรู้ไปจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษา สามารถถ่ายทอด ขยายผลสู่ชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ให้บุคลากร นักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ทางด้านการเรียนการสอนและการดำเนินชีวิตอย่างคุ้มค่า

ศึกษาดูงานเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศพก.ตำบลร่องเตย

กศน.อำเภอหนองพอก

นางปัทมามอบหมายให้ ครู กศน.ตำบลมีการบูรณาการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในทุกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในด้านการสอนและการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ทำให้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพสามารถพึ่งพาตนเองได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

นางปัทมานำคณะครูและบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off การน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว รณรงค์ปลูกพืชผักสมุนไพร ต้านภัยโควิด-19 รอบ 2 ต่อเนื่อง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ บ้านพักเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายพัสกร ธนแสนไทย นายอำเภอหนองพอก เป็นประธาน เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

โครงการอบรมความรู้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กศน.ตำบลภูเขาทอง กศน.อำเภอหนองพอก สำนักงาน กศน.จังหวัดร้อยเอ็ด

 

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566