หันหลังให้อาชีพขายแรงงานกลับบ้านเกิด ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน

“เมื่อปี 2552 มีความคิดกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิด ประกอบกับสุขภาพไม่แข็งแรง ต่อมาได้เข้ารับการอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้นำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในพื้นที่เริ่มจากการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ มีทั้งหมด 12 ไร่ แบ่งทำนาข้าว 10 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และปลูกต้นยางนาที่ได้รับจากศูนย์ บริเวณริมรั้วของพื้นที่ จำนวน 30 ต้น ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบและพันธุ์น้ำหวานแปดริ้ว จำนวน 100 ต้น ระยะแรกซื้อต้นพันธุ์จาก อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ราคาต้นละ 50 บาท และ 100 บาท ปัจจุบันเพาะและขยายพันธุ์เองได้ นอกจากนี้ยังเลี้ยงโคและกระบือ โดยนำมูลไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตลดการใช้ปุ๋ยเคมี มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน จากการขายผลผลิต เช่น มะพร้าว กล้วยหอม กล้วยไข่ และขายหน่อพันธุ์กล้วย” นางสมุทร มาจาด  ราษฎรบ้านโคกสามัคคี หมู่ที่ 14 ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าว

ทุกวันนี้ นางสมุทรมีความสุขดี ตื่นเช้าไม่ต้องไปวิ่งหางานบ้านอื่น หรือจังหวัดอื่น เพราะมีงาน มีรายได้รออยู่แล้วที่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัวกับหลาน ๆ ไม่ต้องแยกกันอยู่มีความสุข อบอุ่น พออยู่พอกินไม่ขัดสน

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ  เจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และนำชมความคืบหน้าในการดำเนินงานของศูนย์

นายสมชาย เชื้อจีน เปิดเผยถึงกระบวนการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรว่า ทางศูนย์จะเริ่มด้วยการคัดเลือกเกษตรกรที่มีปัญหาด้านอาชีพโดยเฉพาะการทำนาที่ไม่ได้ผล นำมาฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการเกษตร ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 ด้าน อาทิ ด้านวิชาการเกษตร พืช สัตว์ และประมง โดยให้ชาวบ้านเลือกสาขาที่ตนเองมีความต้องการและถนัด ตลอดถึงความพร้อมของพื้นที่ที่เหมาะสมของแต่ละประเภทสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ตามสภาพภูมิประเทศและภูมิสังคมที่เหมาะสม

“กรณีของ นางสมุทร มาจาด เป็นเกษตรกรต้นแบบ ด้านเกษตรผสมผสาน (วนเกษตร) ประจำปี 2564 หนึ่งในเกษตรกรที่นำความรู้จากการฝึกอบรมมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง เริ่มจากการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่  ซึ่งในช่วงวัยทำงานได้ออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง พอมีอายุมากขึ้น และแก่ตัวลง มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจึงอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในชนบท ทางศูนย์ได้รับเข้ามาฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ การเกษตรผสมผสานตามหลักวนเกษตร คือ ปลูกป่าเพื่อรับประโยชน์จากป่า เช่น เห็ด การเลี้ยงปลา ไก่ วัว และการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทางศูนย์พยายามปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพของราษฎรจากทำนาอย่างเดียว มาทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยขุดนาเป็นร่องสวน ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังก็ลดลง มาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการตลาด ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ราษฎรอำเภอภูสิงห์ไม่ประสบปัญหาเรื่องอาหาร เพราะชุมชนสามารถผลิตอาหารเองได้ และเพียงพอต่อความต้องการจึงไม่ลำบาก” นายสมชาย เชื้อจีน กล่าว

ทางด้านนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. ได้รายงานถึงแนวทางการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ต่อองคมนตรีและคณะฯ ว่าศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ให้ดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่มีลักษณะเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โดยการรวมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกัน และขยายผลไปสู่ประชาชนให้สามารถพัฒนาอาชีพ และพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรสาขาต่าง ๆ แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งสามารถพัฒนาเกษตรกรเป็นต้นแบบขยายเครือข่ายในชุมชน ทำให้ประชาชนหมู่บ้านบริเวณรอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน 27 หมู่บ้านได้รับโอกาสการพัฒนา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน