สาวมหาสารคาม สานธุรกิจครอบครัว ทำฟาร์มนกกระทา เลี้ยงง่าย โตไว

หากพูดถึงนกกระทา สิ่งแรกที่หลายคนอาจจะคุ้นชิน คงต้องเป็นไข่นกกระทาอย่างแน่นอน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าไข่นกกระทามีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพมากๆ เพราะไข่นกกระทาสามารถให้โปรตีนได้มากถึง 13 กรัม เมื่อเทียบกับไข่ไก่ที่ให้โปรตีน 12.5 กรัม หรือไข่เป็ดที่ให้โปรตีน 12.8 กรัม ไข่นกกระทาถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่คนรักสุขภาพต้องรู้

นกกระทา

และยังมีผลวิจัยจากทางสถาบันรังสีรักษามะเร็งวิทยาที่เผยว่า ธาตุซีลีเนียมในไข่นกกระทามีคุณสมบัติต่อต้านการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย จากประโยชน์เหล่านี้เองที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มหันมากินไข่นกกระทามากขึ้น จึงทำให้เกษตรกรหลายราย สนใจทำฟาร์มนกกระทาเพิ่มมากขึ้น

นกกระทาเป็นนกขนาดเล็กที่มีขนเป็นลายจุดๆ แต่สีสันไม่ฉูดฉาดสวยงามมากนัก อีกทั้งยังเป็นนกที่มีปีกและหางสั้น จึงจัดว่าเป็นนกที่บินได้ไม่ไกลมาก นกกระทาสามารถพบได้ทั่วไปในหลากหลายทวีป ทั้งทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา และทวีปยุโรป

โดยมักจะอาศัยอยู่ตามพื้นดินในบริเวณที่มีต้นไม้หรือบริเวณที่มีพืชปกคลุมหนาแน่นเพียงพอที่จะใช้หลบซ่อนตัวจากเหล่านักล่า ดังนั้น เราจะพบเห็นนกกระทาได้ตามบริเวณทุ่งหญ้า พุ่มไม้ตามริมฝั่งแม่น้ำ หรือพื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ เพื่อความสะดวกในการหาอาหารของนก

นกกระทา

ในฝั่งเอเชียบ้านเราประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่นำนกกระทามาเลี้ยง โดยจุดประสงค์ในการเลี้ยงนกกระทาแรกเริ่มสำหรับชาวญี่ปุ่นคือ การเลี้ยงเพื่อเป็นงานอดิเรกและฟังเสียงร้องเหมือนกับการเลี้ยงนกทั่วๆ ไปในบ้าน

แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ของนกกระทาขึ้นมาอีกหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อนำเนื้อและไข่ของนกกระทามาขายในเชิงเศรษฐกิจ แต่นกกระทาญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นสายพันธุ์ของนกกระทาที่ยังได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถให้ไข่และเนื้อได้มากกว่านกกระทาสายพันธุ์อื่นๆ

คุณพรจิต คิม อายุ 43 ปี ชาวจังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตร เพาะเลี้ยงนกกระทาระบบฟาร์ม คุณพรจิต เล่าว่า ตนเองเกิดในครอบครัวเกษตรกร ที่มีคุณพ่อเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงไก่ระบบฟาร์ม แต่ด้วยในอดีตที่ผ่านมามีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ตลาดไม่ดีนัก คุณพ่อจึงได้ทดลองเลี้ยงนกกระทา เนื่องจากช่วงนั้นมีคนนำเข้ามาขายในตลาดหมู่บ้าน

คุณพรจิต คิม
โรงเรือนนกกระทา

โดยคุณพ่อเริ่มจากการเลี้ยงรวมกันไม่ได้แยกเพศนกกระทา เลี้ยงไปได้ 5-6 เดือน คุณแม่เริ่มมีอาการป่วยจากโรคประจำตัว คุณพรจิตซึ่งตอนนั้นอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ จำเป็นต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อดูแลคุณแม่ที่ป่วย และในช่วงเวลานั้น คุณพ่อได้มาปรึกษาคุณพรจิตเรื่องการทำตลาดนกกระทา เพราะคุณพ่อได้ทำการทดลองเลี้ยงนกกระทาแล้วผลผลิตออกมาได้ดี ทำให้ต้องการหาตลาดรองรับ

คุณพรจิตจึงหาช่องทางตลาดที่สามารถรับซื้อสินค้าของทางฟาร์มได้ทุกวัน เพราะต้องการให้ครอบครัวมีรายได้เข้ามาในทุกๆ วัน โดยตลาดส่วนมากจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่ซื้อไข่นกกระทาจำนวนมากไปจำหน่ายต่อหรือทำไปแปรรูปเป็นอาหารเพื่อการค้า ทั้งตลาดชุมชน ตลาดออนไลน์ และตลาดทั่วประเทศที่สนใจ

โรงเรือนนกกระทา

ข้อดีของการเลี้ยงนกกระทา คือมีขนาดตัวที่เล็ก ใช้พื้นที่น้อย กินน้อย และให้ผลผลิตไว ทางฟาร์มมีนกกระทา 3,000 ตัว ที่ใช้สำหรับ เพาะไข่เชื้อ 1,000 ตัว และเก็บไข่สด 2,000 ตัว และในทุกๆ วันจะมีไข่เชื้อ 1,000 ฟองต่อวัน ไข่สด 1,700-1,800 ฟองต่อวัน และนอกจากนี้ ยังมีการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายลูกนกกระทาและเนื้อนกกระทา

โรงเรือนเลี้ยงนกกระทา ควรออกแบบให้สะดวกต่อการปฏิบัติงานและรักษาความสะอาด ทางฟาร์มจะทำการเก็บขี้นกในทุกๆ วัน ช่วงในอาหารเช้าเวลาตี 5-6 โมง และทำการล้างทำความสะอาดฉีดยาฆ่าเชื้อโรคทุกๆ สัปดาห์ โรงเรือนจำเป็นต้องปลอดภัยจากศัตรู และสิ่งรบกวนต่างๆ เนื่องจากนกกระทาเป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกไวต่อสิ่งรบกวน เช่น แสงหรือเสียงมาก

การทำโรงเรือนที่อยู่ใกล้จากแหล่งชุมชน ก็ส่งผลดีทั้งผู้เลี้ยงและเพื่อนบ้าน เพราะนกกระทาตัวผู้มีเสียงร้องที่ดังและรบกวน อีกทั้งอาจจะมีกลิ่นจากขี้นกที่อาจส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงได้ โรงเรือนที่ดีจำเป็นต้องถ่ายเทอากาศได้อย่างสะดวก เนื่องจากนกกระทากินอาหารที่มีโปรตีนสูงจึงขับถ่ายไนโตรเจนออกทางปัสสาวะมาก ดังนั้น ถ้าการระบายอากาศไม่ดีพอก็ทำให้มีแอมโมเนียสะสมมากจะเป็นอันตรายต่อบุเยื่อนัยน์ตาได้

การเพาะเลี้ยงนกกระทา จะใช้แม่พันธุ์ 3 ตัวต่อตัวผู้ 1 ตัว นับจากวันที่ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไป 1 สัปดาห์ แม่พันธุ์ก็จะออกไข่ จากนั้นนำมาใส่ในตู้ฟักที่ได้มาตรฐาน โดยจะใช้ระยะเวลาอยู่ที่ 15-18 วัน ไข่ก็จะฟักเป็นตัวลูกนก และนำไปกกไฟต่อ 15 วัน เมื่อลูกนกอายุ 7 วันแรกจำเป็นต้องละลายอาหารเสริมในน้ำให้ลูกนกกิน จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและแข็งแรง

ลูกนกกระทา

การให้อาหาร ในช่วงที่ลูกนกยังเล็กอยู่อาจจะโปรยอาหารบดลงบนกระดาษเพื่อให้นกได้รู้จักการกินอาหารได้เร็ว และอาหารบดช่วยให้ลูกนกกินได้ง่ายขึ้น เมื่อนกโตขึ้นอาจใช้รางอาหารเล็กๆ ใส่อาหารให้ลูกนกกิน เช่น การให้อาหารลูกไก่เล็กก็ได้ ในส่วนของน้ำจะต้องมีให้ลูกนกได้กินตลอดเวลา

เมื่อลูกนกอายุได้ 15 วัน จะต้องให้ยาเพื่อถ่ายพยาธิเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี ก่อนย้ายไปเลี้ยงในกรงนกรุ่นหรือกรงเลี้ยงนกใหญ่ได้ ทั้งนี้ เพราะว่าลูกนกในระยะนี้มีความแข็งแรงพอที่จะเหยียบพื้นกรงลวดตาข่ายได้และมีขนขึ้นเต็มตัวแล้ว สามารถกินอาหารเม็ดสำเร็จรูปแบบไม่บดได้แล้ว

ตู้ฟักไข่

การคัดแยกเพศ สามารถทำได้เมื่อนกมีอายุประมาณ 3 สัปดาห์ เราจะใช้วิธีการสังเกตจาก ลักษณะภายนอกของนกได้อย่างชัดเจนนั้นก็คือ สีขน นกตัวผู้จะมีขนหน้าอกและบริเวณลำคอสีเหลืองน้ำตาลปนขาว หรือสีน้ำตาลปนแดง และขนบริเวณแก้มก็มีสีน้ำตาลแกมแดงเช่นกัน ส่วนนกตัวเมียสีขนบริเวณคอไม่ค่อยเข้ม หรืออาจมีสีน้ำตาลปนเทา และมีลายดำปนขาว

คุณพรจิต กล่าวว่า นกกระทาเมื่อฟักออกจากไข่แล้ว สามารถขายเป็นลูกนกได้เลย เพราะในบางครั้งลูกค้าที่ต้องการนำไปเพาะพันธุ์ในฟาร์มตัวเอง ก็มีซื้อลูกนกกระทาเพียง 5 วันก็มี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า

ไข่นกกระทา

นกกระทาที่ถูกแยกเพศแล้ว ตัวเมียจะสามารถนำมาจำหน่ายเป็นนกสาวได้ ส่วนตัวผู้จะนำไปขายเป็นนกเนื้อ โดยจะอยู่ที่ 7-12 ตัวต่อกิโลกรัม ในปัจจุบันจำหน่ายอยู่ที่ 100-120 บาทต่อกิโลกรัม

นกกระทาถือเป็นนกที่สร้างรายได้ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นไข่ เนื้อ หรือแม้กระทั่งขี้นกกระทาก็มีมูลค่า สามารถขายขี้นกกระทาได้ 28 บาทต่อกระสอบในทุกเดือน คุณพรจิตสามารถสร้างรายได้จากขี้นกกระทาหลักหมื่นบาท ไข่สดนกกระทาถือเป็นที่ต้องการมากของตลาด ทั้งตลาดทั่วไปและตลาดคนรักสุขภาพ

เนื้อนกกระทา

ตลาดไข่เชื้อนกกระทา ถือว่ายังมีความต้องการอยู่เสมอ เพราะมีเกษตรกรก้าวเข้ามาทำธุรกิจฟาร์มนกกระทามากขึ้น ต้องการไข่เชื้อที่ได้คุณภาพ เมื่อลูกค้าซื้อไปแล้วมั่นใจได้ว่ามีเชื้อที่พร้อมฟักเป็นตัวแน่นอน เพราะหากไปซื้อฟาร์มที่ไม่มีคุณภาพ ไข่เชื้อไม่ฟักก็ถือเป็นต้นทุนของลูกค้าที่ไม่ได้กำไร ดังนั้น คุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

“ตลาดออนไลน์ยุคใหม่สามารถทำให้เกษตรกรเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ลูกค้าสามารถเห็นถึงแหล่งที่มาของผลผลิตได้ นกกระทาเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย โตไว สามารถสร้างรายได้ในทุกๆ วัน แต่สิ่งที่ฟาร์มนกกระทาจะอยู่ได้คือ การรักษาคุณภาพ”

เนื้อนกกระทาแปรรูป

สำหรับท่านใดที่สนใจ ลูกกบ กบเนื้อ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพรจิต คิม โทรศัพท์ 099-038-5553 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก สมชายฟาร์ม ไข่นกกระทา กุดรัง มหาสารคาม