เกษตรกรมืออาชีพแบบไทยๆ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน ตลอดระยะเวลาในช่วงชีวิตของเกษตรกรแต่ละยุคสมัย พวกเราเหล่าเกษตรกรล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาอาศัยตนเองเป็นหลัก และพึ่งพารัฐบาลเป็นหน่วยงานสนับสนุน แต่ปรากฏว่าทิศทางของรัฐบาลมักมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายไปตามยุค เปลี่ยนไปตามนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงนั้นๆ จนการบริหารทิศทางอาจจะทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง เกษตรกรปรับตัวไม่ทันกับแนวนโยบายดังกล่าว และทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตระยะยาวได้

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ สำหรับเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย นั่นคือเกษตรกรชาวนาที่มีอยู่ประมาณเกือบ 5 ล้านครอบครัว บางช่วงเกษตรกรก็อยู่ภายใต้กลไกตลาดเสรีปกติ ปลูกข้าวขายให้พ่อค้า และโรงสีไปตามกลไก บางช่วงก็มีนโยบายใหม่ๆ มาดำเนินการอย่างเช่นให้ชาวนาจำนำข้าวเปลือกไว้ก่อน เอาเงินจากรัฐบาลผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. ไปใช้ก่อน เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ให้มาไถ่ถอนไปขาย แต่ต่อมาก็ยกเลิกนโยบายนี้ เปลี่ยนเป็นประกันราคาให้เกษตรกร ประกาศราคาประกันไว้ แล้วกำหนดราคากลาง ถ้าราคากลางต่ำกว่าราคาประกัน รัฐก็เอาเงินอุดหนุนให้บางส่วน

ต่อๆ มารัฐบาลบางคณะก็เปลี่ยนเป็นจำนำข้าวอีก แต่เป็นการจำนำที่เหมือนซื้อขาด รัฐบาลเอาให้ชาวนาผ่านธนาคารไปเลย แล้วนำข้าวเปลือกมารับจ้างสีเป็นข้าวสาร รัฐบาลเหมือนเป็นพ่อค้าข้าวเอง พอทำไปได้ระยะหนึ่ง มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็ยกเลิกไป แล้วนำแนวทางประกันราคามาใช้ใหม่ แต่เปลี่ยนชื่อมาเป็น โครงการประกันรายได้ มีการกำหนดราคาประกัน กำหนดราคากลางที่ตลาดซื้อขาย หากเกษตรกรขายข้าวในช่วงไหนแล้วราคาประกันสูงกว่าราคากลาง รัฐบาลก็จ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรไป

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการสนับสนุนต้นทุนการผลิตบางส่วน ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวให้ในบางฤดูด้วย ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่านโยบายเรื่องข้าวเรื่องเดียว ประเทศไทยเราเปลี่ยนแนวทางสนับสนุนเกษตรกรชาวนากลับไปกลับมาหลายแนวทางมากๆ ไม่มีความแน่นอน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเกษตรกรชาวนาไทยจึงไม่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับหนึ่งของการผลิตข้าวโลกมาอย่างยาวนานเลยทีเดียว

ดังนั้น ในฉบับนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องของความเป็นเกษตรกรมืออาชีพแบบไทยๆ กัน เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยที่กระจัดกระจายอยู่ในทุกที่ของประเทศไทย ซึ่งยังอยู่ในวังวนของภาระหนี้สินและความยากจน ประกอบกับการถูกผลกระทบจากต้นทุนสูง ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ราคาตกต่ำ ไม่มีระบบการตลาดที่ดีอย่างเพียงพอ รวมทั้งมีภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง เข้ามากระทบเป็นช่วงๆ อีกด้วย ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงอยากตอกย้ำในบริบทเดิมที่จะทำให้เกษตรกรไทยเรามีความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังนี้ 1. การจัดการด้านต้นทุนการผลิต 2. การจัดการด้านผลผลิตการเกษตร 3. การจัดการด้านการตลาด

1. การจัดการด้านต้นทุนการผลิต

ถ้าจะกล่าวถึงต้นทุนการผลิต ก็คงจะต้องหมายถึงปัจจัยการผลิตทั้งหมด ประกอบด้วย เงินค่าใช้จ่ายซึ่งอาจจะหมายถึงทั้งเงินกู้ยืมและเงินตนเอง ค่าพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ปุ๋ย ยา ค่าแรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น

เนื่องจากเกษตรกรจะรู้ดีเลยว่า ต้นทุนการผลิตสูง ลงทุนไม่คุ้มค่า ปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ค่าจ้างแพง แต่ก็ไม่รู้จะแก้ไขยังไงด้วยตนเอง และเรื่องนี้ล่ะที่เป็นเหตุแรกของการขาดทุน และจะทำให้เกษตรกรไทยอยู่ไม่ได้ ในระยะยาวไม่มีทางรอดเลย

แนวทางแก้ไข ในเรื่องนี้ตามมุมมองของผู้เขียน มีดังนี้

1.1 การแก้ไขด้วยตัวเกษตรกรเอง

เรื่องนี้เคยกล่าวไว้หลายตอน เคยบอกว่าถ้าเกษตรกรไม่มีความรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ย เกษตรกรก็ไม่สามารถจะใช้ปัจจัยการผลิตในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมได้เลย ถ้าไม่รู้เรื่องดินว่าจะวิเคราะห์ได้อย่างไรว่าที่ดินของเรา เป็นดินแบบไหน มีสภาพเป็นกรดเป็นด่างอย่างไร มีธาตุอาหารอะไรอยู่แล้ว และขาดธาตุอาหารใด เราก็จะไม่สามารถใช้ปุ๋ยบำรุงพืชในดินของเราได้ถูกวิธี ก็เลยต้องใช้ความรู้สึกเดิมๆ ในการใช้ปุ๋ย เคยใส่มากน้อยยังไงก็ใช้แบบนั้น ใครว่าอะไรดีก็ใช้ตามๆ กันไป กล่าวง่ายๆ คือไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ คงต้องไปหาความรู้จากผู้รู้ จากเพื่อนบ้านที่รู้จริง จากยูทูบ หรือในเว็บไซต์ต่างๆ ในโลกโซเชียลก็มีมากมายครับ

1.2 การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

ที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามจะกล่าวถึงการสนับสนุนเกษตรกรจากภาครัฐหลายครั้ง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าต้องการจะให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือจนเกษตรกรเคยชินและอาจจะอ่อนแอได้ ถ้ารัฐบาลไม่มีวิธีการสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ดังนั้น การสนับสนุนที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือการสนับสนุนในสิ่งที่เกษตรกรยังไม่มีความพร้อม และไม่สามารถช่วยตัวเองได้อย่างเพียงพอ เช่น การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรในลักษณะเครื่องจักรรวมที่จะมอบให้ชุมชนหรือองค์กรชุมชนนำไปใช้ร่วมกัน ดูแลทรัพย์สินร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อจะไม่ให้เกษตรกรที่เป็นรายเล็กรายน้อยต้องมีต้นทุนสูง เพราะเขาไม่มีศักยภาพที่จะซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเองได้ เพราะจะทำให้มีต้นทุนสูงเกินไป ไม่คุ้มทุนกับการเป็นเจ้าของเครื่องจักรเอง จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้ เพื่อจะทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่รอดได้ รวมถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย

2. การจัดการด้านผลผลิตการเกษตร

ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องการจัดการผลผลิตของเกษตรกร ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายท่านอาจจะบอกว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเกษตรกรน่าจะรู้แล้วและน่าจะเข้าใจดีเกี่ยวกับผลผลิตที่ตนเองได้ทำมาตลอด ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร แต่จริงๆ แล้ว เกษตรกรไทยยังไม่มีความเข้าใจและอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลผลิตของตนเองเท่าที่ควร อย่างเช่นผลไม้ ก็อาจจะไม่ได้ดูแลเรื่องคุณภาพ เรื่องการคัดขนาด เรื่องความชื้น เรื่องอายุผลผลิต และอีกหลากหลายประเด็น และอาจจะรวมไปถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การรักษาผลผลิตที่เก็บเกี่ยว และรอการจำหน่าย เป็นต้น เพราะทุกเรื่องที่ได้กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อราคาผลผลิตทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เกษตรกรดูแลผลผลิตของตนเองมาจนสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่มาเสียราคาหรือเรียกว่าเสียของในตอนท้าย ดังนั้น เกษตรกรพึงตระหนักเรื่องเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการผลผลิตเหล่านี้ด้วย

กล่าวมาถึงตอนนี้ ก็อยากจะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง นั่นคือผลผลิตประเภทผลไม้ เกษตรกรบางส่วนมักจะใช้วิธีการขายเหมาจากสวน เป็นการขายคละไปเลย แทนที่เกษตรกรเจ้าของสวนจะแยกเป็นขนาด หรือเป็นเกรด ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แล้วแยกจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายสินค้าได้ราคาที่ดีกว่าการขายเหมา หรือขายคละแน่นอน เกษตรกรพึงจะต้องรักษาสิทธิแห่งผลประโยชน์ของตนเองให้ดีที่สุดด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับทัศนคติมุมมองเหล่านี้ด้วย เพื่อรักษามูลค่าของผลผลิตที่ไม่ควรจะเสียไปด้วย

3. การจัดการด้านการตลาด

เมื่อจะกล่าวถึงกระบวนการผลิตทางการเกษตร ท้ายที่สุดก็คงต้องมาจบลงตรงงานทางด้านการตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเรื่องการตลาดเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง สินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม หรือสินค้าอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีการตลาดที่ดีและมีความยั่งยืน ธุรกิจนั้นจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย เพราะธุรกิจสมัยใหม่จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ตลาดนำการผลิต หมายถึงต้องรู้ช่องทางตลาด รู้ความต้องการของผู้ซื้อ จึงจะสามารถประสบความสำเร็จและผลิตสินค้ามาแล้ว ขายได้ราคาดี และขายได้ตลอดไป เกษตรกรก็จะมีรายได้ดี และเป็นทางรอดที่ดีของเกษตรกรในยุคใหม่ ดังนั้น การผลิตต่างๆ ต้องมีการบริหารจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งปลายน้ำก็คืองานด้านการตลาดนั่นเอง

ดังนั้น กล่าวมาถึงตอนนี้ คงต้องบอกว่างานด้านการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เป็นงานสำคัญยิ่ง ถ้าเกษตรกรไม่มีความรู้ความสามารถที่จะทำการตลาดได้ หรือไม่สามารถมีกลไกทางการตลาดที่ดี เกษตรกรยุคนี้จะอยู่รอดยาก แต่ถ้ามีความสามารถทางการตลาดที่ดี นี่คือทางรอดที่ดีของเกษตรกรไทยครับ

ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านอย่างยิ่ง ที่ติดตามอ่านบทความมาโดยตลอดครับ ขอขอบคุณ