สะระแหน่ เป็นผัก เป็นยาสมุนไพร มากมายคุณค่า

ครั้นจะไม่พูดถึงเสียเลย ก็คงจะเป็นของที่มันคาอก คาใจไปนานเชียวหละ พืชผักที่เป็นยาสมุนไพรไทย มีเยอะแยะมากมาย จนเวลานี้แยกไม่ออกบอกไม่ถูกตามไม่ทัน ว่าอันไหนของไทยบ้านเรา อันไหนเอาเข้ามาจากถิ่นอื่น ผักหลายชนิดเคยพบเห็น เคยกินมาตั้งแต่เด็กๆ จนปลายคนแล้ว ยังค้างคาใจอยู่ว่า เป็นผักของไทยเราหรือของต่างชาติ เราต้องยอมรับกันว่า “ไม่แน่ใจ” เพราะไม่แน่ใจว่า คนบ้านเราเขารู้จักกันมาตั้งแต่เมื่อใด 50 ปี 100 ปี 200 ปี หรือนานมามากกว่านั้น ไม่รู้หละครับ พืชผักชนิดไหนเคยรู้จักกันมานาน ก็ถือว่าเป็นผักที่มีต้นกำเนิดในบ้านเรา ยกเว้นจะมีใครแอบไปจดลิขสิทธิ์หรือขึ้นทะเบียนเป็นพืชของบ้านเขาเองแล้ว ก็แล้วไป ที่ผ่านมามีเยอะเลย

“สะระแหน่” (Pepper Mint) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีหลายชื่อเรียกหลายสายพันธุ์ แต่ก็รวมกันอยู่ในวงศ์ (Family) หรือตระกูลเดียวกัน คือ LAMIACEAE ในสกุล (Genus) Melissa คนไทยในแต่ละภาค เรียกต่างกันบ้าง แต่ชื่อว่า “สะระแหน่” คล้ายเป็นชื่อกลางที่รู้จักกันทั่วไป เช่น ทางเหนือเรียก หอมด่วน, หอมเดือน อีสานเรียก ขะแหยะ, ขะแยะ ใต้เรียก สะแหน่, บักเงาะ อีกหลายที่เรียก แมงลักน้ำ, สะระแหน่ต้น, ต้นน้ำมันหม่อง, ทางจีนก็มี เรียก แซบ่อห่อ, กอยโซว, กิมปุกห่วง ซึ่งสะระแหน่มีหลายสายพันธุ์ แตกต่างกันที่ลักษณะใบ สีสันต้น แยกเป็นสะระแหน่ฝรั่ง สะระแหน่ญวน สะระแหน่สวน และสะระแหน่ไทย ประกอบกับพืชในตระกูลเดียวกันนี้ยังมีที่รู้จักกันแพร่หลายมากคือ “มิ้นต์” (Mint) ลักษณะใกล้เคียงกันมาก จะต่างกันที่ใบ ขน กลิ่น และรส

เขาว่าถิ่นกำเนิดสะระแหน่อยู่ที่ทวีปยุโรป แพร่ขยายไปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย และมีทั่วไปในถิ่นต่างๆ ต้นสะระแหน่มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่ขึ้นอยู่ มีการผสมข้ามสายพันธุ์กัน เป็นหลากหลายสายพันธุ์ แม้แต่ที่พบในไทย สะระแหน่ในแต่ละภาคที่มีสภาพภูมิศาสตร์ต่างกัน ลักษณะใบ ขน ต้น สี ต่างกัน ใบหยัก ใบกลม ใบรี ใบมีขน ต้นสูง ต้นเตี้ย ต้นเลื้อย ต้นสีขาว สีดำแดง สีม่วงดำ สีเขียวอ่อน มีหลายชนิดเลยทีเดียว เชื่อกันว่าสะระแหน่มีในไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีฝรั่งชาวอิตาเลียนนำเข้ามา คนไทยไม่รู้จะเรียกว่าผักอะไร เลยเรียกตามชื่อฝรั่งอิตาเลียน ที่มีชื่อว่า “สะระนี” ออกสำเนียงเรียกแบบไทยๆ ที่จริงฝรั่งนั้นคงชื่อ ซันนี่ ซานนี่ หรือแซนรานี่ หรือซาร่านี่ ละกระมัง

ประโยชน์ของสะระแหน่มีมากมายหลายอย่าง สะระแหน่ฝรั่ง ต้นใบอวบใหญ่ สูงยาว เป็นลูกผสมสะระแหน่ไทย กับต้นมิ้นต์ เขาใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม สะระแหน่ญวน ต้นสูงยาว กิ่งก้านใบเยอะ ต้นมีขนอ่อนคลุมทั่วไป ใบสีเขียวสด กว้าง รี มีกลิ่นคล้ายตะไคร้แกง นิยมกินเป็นผักสด คู่กับอาหารคาว ขนมจีนญวน คล้ายต้นแมงลัก และมาถึงสะระแหน่ไทย เป็นไม้ล้มลุก พร้อมเลื้อย ระบบรากฝอยสั้นๆ ต้นยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ต้นมีทั้งสีเขียว ขาว แดงอมม่วง แตกกอง่าย แตกกิ่งแขนงมาก ใบสีเขียวอ่อน หรือเขียวสว่าง รูปกลมรี ผิวใบย่นเป็นคลื่น ขอบใบหยัก ปลายใบมีทั้งมนและแหลม ดอกไม่ค่อยพบเห็นมากนัก แต่รู้ว่ามี มีสีชมพูอมม่วง ออกเป็นช่อเหนือซอกใบส่วนปลายยอด มีผล มีเมล็ดสีดำ แต่เนื่องจากดอกสะระแหน่เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือไม่มีเกสรตัวเมีย จึงไม่ค่อยมีผล และเมล็ด ที่พบลูกผสม แสดงว่าบังเอิญมากกว่า

Advertisement

สะระแหน่ส่วนที่ใช้ประโยชน์เป็นอาหารคือ ใบและยอดอ่อน ใน 1 ขีด หรือ 100 กรัม ให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 6.8 กรัม โปรตีน 3.7 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม แคลเซียม 40 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม เหล็ก 4.8 มิลลิกรัม วิตามีนเอ 16,585 IU. วิตามีนบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม วิตามีนบีสอง 0.29 มิลลิกรัม วิตามีนบีสาม 0.7 มิลลิกรัม วิตามีนซี 88.0 มิลลิกรัม รวมทั้งมีสารอาหารที่หายาก น้ำมันหอมระเหย สารออกฤทธิ์ที่มีสรรพคุณเป็นยาดี มีประโยชน์สูง อีกนับไม่ถ้วน

Advertisement

สะระแหน่ไทยมีรสเย็น เผ็ด กลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำมาเป็นผักสด กินคู่กับอาหารเผ็ด คาว เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดวัว ลาบควายดิบ ลาบปลาทับทิม ลาบเห็ดปลวก (เห็ดโคน) ก้อยหอยเชอรี่ ยำปลาหมึก ยำหมูยอ ยำเห็ด ยำปลาทู ยำตับหวาน ยำหมูน้ำตก ยำปลากระป๋อง ยำหอยนางรม ยำหอยแครง ยำวุ้นเส้นไข่ต้ม พล่ากุ้ง พล่าเนื้อ ตำกุ้งฝอย กุ้งแช่น้ำปลา ตำมะเขือยาว ต้มยำไก่บ้าน ไก่คั่วลุยสวน ปรุงแต่งสีสัน กลิ่น รส อาหารหวานคาว ขนม ไอศกรีม เค้ก เหล้าสะระแหน่ โมจิโต้มะนาวสะระแหน่ สลัดลาว เปาะเปี๊ยะสด แหนมเนือง กินแกล้มกับอาหารอีกหลายชนิด เพิ่มสีสัน กลิ่น รส เสริมความอร่อยได้มากมาย

คุณสมบัติเป็นสมุนไพร
ที่ให้สรรพคุณเป็นยา

แบบที่เรียกได้ว่า เป็นยาครอบจักรวาล ก็ไม่น่าจะผิดนัก สะระแหน่เป็นยาเย็น รสชาติเผ็ดร้อน ใช้ทั้งภายนอกและภายในได้ดี ขยี้ใบดมแก้หวัดคัดจมูก แก้ปวดศีรษะ แก้เป็นลมวิงเวียน แก้พิษแมลงกัดต่อย ฆ่าเชื้อโรค แก้ฟกช้ำ ปวดบวม แก้ผดผื่นคัน กินสะระแน่จะช่วยเสริมระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการเกร็งในกระเพาะลำไส้ เกร็งกล้ามเนื้อ ลดอาการจุกเสียด แก้ซางชักเด็ก ลดอาการหืดหอบ แก้ปวดท้อง ปวดประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาอาการตกขาว หรือโรคมุตกิดระดูขาว มีการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรม น้ำมันหอมระเหย เครื่องสำอาง ยาสีฟัน สกัดยารักษาโรค น้ำยาป้องกันฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

“วสันตฤดู” นั่นคือ “ฤดูใบไม้ผลิ” ที่เป็นฤดูกาลต่อมาจาก “เหมันตฤดู” คือฤดูหนาว วสันตฤดูไม่ใช่ฤดูฝนแบบที่เข้าใจกันมา เป็นช่วงบรรยากาศที่สะระแหน่เจริญงอกงามดีที่สุด สะระแหน่ไม่ชอบสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดเช่นฤดูหนาว ไม่ชอบความชื้นแฉะเช่นฤดูฝน แต่เราสามารถปลูกเพาะกล้าขยายให้เจริญเติบโตได้ทุกฤดู แปลว่าเรามีสะระแหน่ไว้กินตลอดปี โดยเราต้องทำการควบคุม หรือจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แก้ไขอากาศเย็นและชื้นแฉะ โดยปลูกเลี้ยงในเรือนโดมกระโจมพลาสติกใส มีหลังคากันฝน รอบกระโจมมีทางระบายน้ำ การให้น้ำควรมีการตรวจวัดความชื้นให้อยู่ในระดับที่พอดี มีแสงแดดส่อง ระบายความร้อนได้ พึงจำไว้นะว่า สะระแหน่ชอบที่มีความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ ไม่ชอบอุณหภูมิที่หนาวจัด และถ้าอบอ้าวด้วยร้อนจัด ก็ไม่รอดเหมือนกัน ขยายพันธุ์ง่าย แพร่เจริญเติบโตเร็ว ไม่ค่อยมีศัตรูพืชรบกวน ยกเว้นหน้าแล้งและหน้าฝน เพลี้ยอ่อน ด้วงหมัด มดแดง จะมีระบาดมากหน่อย แต่ไม่น่ากลัว และที่สำคัญมีประสบการณ์มามาก ห้ามใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย ห้ามเลยเด็ดขาด ให้ปุ๊บตายปั๊บ อย่าหาทำ

สะระแหน่ไทยเป็นไม้ที่มีต้นแตกกอและเลื้อยตามผิวดิน มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่าไหล จะงอกชอนไชหน้าดินระดับตื้นๆ โผล่ผิวดินตรงไหนจะออกรากและต้นยอดใบใหม่ ลักษณะการเจริญเติบโตเช่นนี้ จึงทำให้มีใครบางคนคิดนำเอามาเป็นไม้ประดับ ไม้กระถางแขวน ซึ่งให้คุณค่าและราคาเพิ่มขึ้น งดงาม เจริญตาเจริญใจ ให้เป็นกระเช้าของขวัญ เป็นกระเช้ามีชีวิต มีคุณค่าดีต่อใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ทำกระถางแขวนสะระแหน่ด้วยกระถางดินเผา หรือตะกร้า หรือขวดน้ำเจาะรูรอบ ปลูกสะระแหน่วิธีนี้ ทำไว้วันนี้ อีกไม่กี่วันจะงดงามเป็นของขวัญปีใหม่กันได้ ชื่นใจจัง

……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2566