ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
เผยแพร่ |
โดยปกติเราแค่คิดว่าการปลูกผักเอาไว้บริโภคในครัวเรือน เพียงอย่างเดียว แต่การปลูกผักอินทรีย์ข้างบ้านยังสามารถรักษาสุขภาพได้เนื่องจากผักที่เราปลูกกินเองย่อมไม่มีสารพิษตกค้างเพราะเราไม่ได้ใช้สารเคมีเหล่านี้ในการปลูก เรารับรู้กันทั่วไปว่าผักส่วนใหญ่มีการผลิตแบบใช้สารเคมี ชนิดที่คนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก การที่เรากินเฉพาะผักที่ปลูกก็เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังประหยัดค่ารักษาโรคได้อีกด้วย
เรื่องราวในคราวนี้ผู้เขียนไม่ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำเกษตร แต่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของแรงบันดาลใจของการทำการเกษตร ผู้เขียนคิดว่าคนทำการเกษตรในเรื่องนี้เข้าถึงความคิดของการทำเกษตรยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง
คุณพสุธ รัตนบรรณางกูร หรือ คุณโพธิ์ เล่าให้ฟังว่า “ผมจบปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้ทำงานในบริษัทยาที่อเมริกาได้ 5 ปี มีความรู้สึกคิดถึงเมืองไทย รู้สึกอยากกลับบ้านเกิด เพราะคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ที่เมืองไทย ที่อเมริกาสะดวกและทันสมัยก็จริง แต่ความรู้สึกว่าบ้านเราคล่องตัวกว่า ก็เลยกลับมาเมืองไทย เพื่อเปิดกิจการส่วนตัว ต่อมาได้เจอกับคู่ชีวิตคือ คุณหนูดี ซึ่งมีแนวคิดตรงกันว่าอยากทำสวนผักข้างบ้านเพื่อนำมาใช้ประกอบอาหารในบ้าน เนื่องจากคุณหนูดีเคยมีประสบการณ์จากการทำโรงเรียนอนุบาล ที่สร้างแปลงปลูกผักให้กับเด็กนักเรียนอนุบาลอยู่”
การปลูกผักในเมืองเมื่อสมัยเมื่อ 8 ปีก่อน ไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ในเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ คุณโพธิ์จึงต้องหาความรู้จากหนังสือหรือข้อมูลจากต่างประเทศ ข้อมูลต่างๆ ที่ศึกษาทำให้รู้ว่าประเทศไทยมีพื้นที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ แต่นำเข้าสารเคมีที่ใช้สำหรับกำจัดวัชพืชและสารเคมีกำจัดโรคพืชมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทำให้ตระหนักว่าผักที่บริโภคอยู่ในปัจจุบันเป็นผักที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์เนื่องจากเป็นการทำเป็นการค้าด้วยแปลงขนาดใหญ่ คำว่าขนาดใหญ่ไม่ได้หมายถึงเป็นสิบไร่ แต่แค่เพียงไร่เดียวเกษตรกรก็ใช้สารเคมีจำนวนมากแล้วสำหรับดูแลพืชของเขา
ความกังวลนี้ทำให้คุณโพธิ์คิดว่าถ้าหากเรายังบริโภคผักในตลาดที่ส่งมาขายตลอดไป การเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากสารเคมีตกค้างในพืชผักเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เมื่อได้ศึกษาจากสื่อออนไลน์แล้วจึงได้ลงมือทำโดยทำเป็นเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่เริ่มแรก เริ่มปลูกทุกอย่างที่กิน ในช่วงแรกไม่มีประสบการณ์แต่ด้วยใจรักก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ แต่ก็สามารถมีผลผลิตให้ใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น
ต่อมาได้มีโอกาสไปศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ที่ฐานธรรมสันป่าตอง เชียงใหม่ 3 วัน ได้เรียนรู้จาก คุณโจน จันได เทคนิคการกสิกรรมธรรมชาติแบบยั่งยืน มีการทำน้ำหมัก การห่มดิน การใช้สมุนไพร การใช้ของเหลือใช้ เอาไม้พาเลตเหลือใช้มาทำเป็นโต๊ะเพาะกล้า เอาอิฐเก่ามาวางเป็นทางเดิน ในความหมายของการห่มดินคือ มีแนวคิดว่าดินเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ของตาย มีจุลินทรีย์ต้องการความร่มเย็น เพื่อให้ไม่โดนแดดเผาจนเกรียม จนดินเหมือนตายแล้วเพราะต้องเติมธาตุอาหารเข้าไป สารเคมีเข้าไปเพื่อต้องการผลผลิต
สวนผักเพื่อสุขภาพของชีวิต
ในการทำเกษตรแบบนี้ทำให้เราพบว่าเป้าหมายไม่ใช่แค่กินผัก ไม่ใช่แค่ประหยัด ทำให้มองว่าการปลูกผักเป็นกิจกรรมในชีวิต การปลูกผักจะได้ผลที่สุดคือประหยัดค่าหมอเรื่องของสุขภาพ ซึ่งเราเป็นห่วงว่ากินผักที่ปลูกด้วยเคมีเข้าไปมากทำให้เกิดโรค เพื่อให้แน่ใจว่ามีผักปลอดสารกินกันเป็นความมั่นคงด้านอาหาร ในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าการมีสวนผักของเราเองเป็นอะไรที่มากกว่านั้นมาก ในช่วงที่กรุงเทพฯ ล็อกดาวน์ คนห้ามออกนอกบ้าน มีคนซึมเศร้าเยอะมาก แต่เรากลับมีความสุขที่มีพื้นที่สีเขียวเสมือนเป็นหลุมหลบภัยจากพื้นที่ภายนอก เรารู้เลยว่าการมีสวนผักปลอดสารเป็นการประหยัดค่าหมอรักษากายแล้วยังรักษาใจเราด้วย
เมื่อเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์นี้ ก็เริ่มต้นการตั้งเพจ เพื่อแบ่งปันไลฟ์สไตล์ที่กลับเข้าไปสู่ของคนที่ต้องผลิตอาหารกินเองเป็นจุดประสงค์หลัก ปัจจุบันคนเมืองเคยชินกับการใช้เงินซื้อของเยอะมากรวมถึงอาหาร จนบางครั้งลืมที่มาที่ไปของอาหารของเรา อาหารในปัจจุบันสำหรับคนเมือง เน้นการลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้กับผู้ขาย เราจึงพบว่าอาหารที่เราซื้อมากินนั้น ไม่ค่อยมีประโยชน์หรืออาจจะมีสิ่งปนเปื้อนอยู่ การที่เราปลูกผักกินเองทำให้เห็นต้นทุนที่แท้จริงของวัตถุดิบที่คุณภาพสูง ทำให้เราตั้งคำถามถึงวิธีการที่ได้มาของผักราคาถูกในตลาด อาจมีการใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือการเน้นปุ๋ยเคมีเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้เร็วหรือไม่ มันทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น ในการที่จะซื้ออาหารกินนอกบ้าน อีกอย่างเราเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก
เรามองว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้ไม่ยั่งยืน เราพยายามทำในส่วนที่เราทำได้ เพื่อจะลดภาระแรงกดดันให้กับโลกมากที่สุดสำหรับที่เราทำได้ตอนนี้ อย่างหนึ่งที่เราทำคือเรานำขยะเปียกทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบ้านมาหมักเป็นดิน นำเศษใบไม้ในสวนมาหมักเป็นปุ๋ย และใช้ในสวนผักของเรา นอกจากจะประหยัดค่าปุ๋ยแล้ว ผักของเรายังงามกว่าที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หลายยี่ห้ออีกด้วย จนเราพยายามทำในส่วนที่เราทำได้ เพื่อจะลดภาระแรงกดดันให้กับโลกมากที่สุดสำหรับที่เราทำได้ตอนนี้ จนถึงขนาดว่าใบไม้ที่มีไม่เพียงพอกับการใช้ในสวน เราได้ติดต่อเพื่อนบ้านในซอยขอรับกิ่งไม้ใบไม้ที่ตัดทิ้งมาทำปุ๋ยเพิ่มขึ้น พอผักออกก็นำผักจากสวนไปให้เขาเป็นการพึ่งพาฉันญาติมิตรฉันเพื่อนบ้านซึ่งปัจจุบันพบเห็นได้ยาก
การแยกขยะคือต้นทางของการรักษาสิ่งแวดล้อม
อีกอย่างที่ทำคือการแยกขยะภายในครัวเรือน ขยะที่ย่อยสลายได้มีการแยกออกเป็นสิบกว่าชนิด เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม สังกะสี ขยะที่นำไปฝังกลบหรือทำพลังงาน ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว หลอดไฟใช้แล้ว ถ่านไฟฉาย เพื่อสะดวกแก่การจัดการ ขยะในครัวเรือน เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ เราได้ใช้ตาข่ายพลาสติกล้อมประมาณ 1 เมตร นำมันใส่ลงไป รวมถึงกระดาษกล่องลังที่สามารถย่อยสลายได้ แต่จุลินทรีย์ไม่ได้ใส่ลงไปเพราะถือว่ามีจุลินทรีย์ในธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ให้ชื้นตลอดเวลาโดยไม่ได้ปิดให้มิดชิด ซึ่งมีกลิ่นบ้าง จึงต้องวางในที่ห่างไปเพื่อหลบกลิ่น การไปเรียนที่ฐานธรรมสันป่าตอง เชียงใหม่ เขาสอนให้คิดการทำเกษตรแบบคนจน อยู่ในเมือง เศษใบไม้ที่ทุกคนเห็นเป็นขยะ เราจะเอาใบไม้แห้งทิ้ง หรือการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ต้องจ้าง กทม. ตัดและเอาไปทิ้ง แต่ต่อมาได้ซื้อเครื่องบดสับกิ่งไม้ เศษใบไม้เริ่มไม่พอขอจากเพื่อนบ้าน ของเหล่านี้การนำไปทิ้งก็มีค่าใช้จ่าย มีมูลวัวที่ซื้อมาหมักรวมด้วย ซึ่งต้องระวังฟาร์มที่ใช้โซดาไฟล้างคอกจะทำให้ต้นไม้ตาย ปัจจุบันใช้ประมาณ 50 กระสอบต่อปี จากประสบการณ์ขี้วัวเป็นก้อนดีกว่าที่ตีละเอียด ส่วนปุ๋ยมูลไส้เดือนไม่ได้ใช้เพราะเมื่อเราใช้ปุ๋ยหมักจะมีตัวไส้เดือนอยู่ในแปลงเอง
คนไม่ใช่เป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวในระบบนิเวศ
คุณโพธิ์ บอกว่า “ถ้าคุณเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่กินผักในสวนคุณ ถือว่าคุณไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ดี เป็นแนวคิดของการปลูกพืชแบบยั่งยืน”
การอยู่ร่วมกับแมลง และพยายามสร้างระบบนิเวศในสวนให้สิ่งมีชีวิตคุมกันเอง ในสวนจะมีเต่าทองเยอะมากคอยคุมเพลี้ยให้เรา ตอนค่ำๆ ในแปลงจะมีคางคกเยอะมาก คอยกินหนอนบนใบผักให้เรา แมลงมีบ้างไม่มีถึงระดับไม่เหลือผักให้กิน หอยทากที่มีอยู่ก็จะจับตอนหัวค่ำไปปล่อยที่อื่น นกมีในสวน มีงูบ้างแต่ไม่ถึงกับรบกวน การปลูกผักอินทรีย์ เราไม่ควรคิดแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ถือว่าอย่างอื่นเป็นศัตรูทั้งมด หญ้า แมลง ถ้าตัวไหนที่มาแย่งเรากินต้องฆ่าให้หมด ทำอย่างนี้แล้วทำให้เราไม่เหลือใครเลย เราควรยึดถือว่าสิ่งมีชีวิตต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เราจะไม่ยุ่งกับเขา เราจะไม่เบียดเบียนเขา อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับให้เขามาอยู่
ตอนแรกๆ เราปลูกผักเพื่อกิน ตอนหลังได้แรงบันดาลใจจากรีสอร์ตแห่งหนึ่งในระนอง เขาปลูกไม้ดอกเพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกจากกินแล้วนำมาปักแจกัน การปลูกดอกไม้จึงเกิดขึ้น หลังจากนั้นเวลาถ่ายรูปสวนผักที่เคยมีแต่สีเขียว ภาพของสวนมีสีสันและมิติมากขึ้น สวนของเราไม่ได้ปลูกเพื่อขาย แต่ทำเพื่อการพักผ่อนการมองภาพที่มีแต่สีเขียวเหมือนคนตาบอดสีที่มองได้เพียงสีเดียว เกิดความเพลิดเพลินสบายใจมากกว่าเป็นผักอย่างเดียว หลังจากนั้นมีผึ้งกับชันโรง พบว่าผลิตผัก แฟง แตงกวา มะเขือติดลูกเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ตอนหลังเลยปลูกดอกไม้ที่ปลูกได้แก่ บานชื่น ทานตะวัน ดาวเรือง ดาวกระจาย กุหลาบ ผักที่ปลูกผักกาดขาว กวางตุ้ง คะน้า สลัด ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก มะรุม ชะอม มะเขือยาว มะเขือม่วง แตงโม ฟัก ฟักทอง มีบ้างที่เกิดขึ้นเองจากเมล็ดที่ติดอยู่ในปุ๋ยหมัก
ความคิดที่ใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นวิถีชีวิตเมื่อหลายร้อยปีก่อน สมัยที่มนุษย์ไม่ได้ทำลายธรรมชาติอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างบ้าคลั่ง จนเกิดสภาวะเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงในปัจจุบัน แต่ยังมีผู้คนส่วนหนึ่งที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและยินดีที่จะมีชีวิตในโลกอย่างไม่เบียดเบียนใคร เพจชื่อ From Farm to Fork – Bangkok เป็นหนึ่งในสังคมอย่างที่กล่าวนี้
………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2566