ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
---|---|
เผยแพร่ |
เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เกษตรอำเภอแม่ริม พร้อมเจ้าหน้าที่ติดตามการผลิตทุเรียนคุณภาพของ อาจารย์เสถียร ภิระเป็ง ที่หมู่ที่ 4 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาเผยแพร่
โดย อาจารย์เสถียร ภีระเป็ง ถือเป็นเกษตรกรต้นแบบ
อาจารย์เสถียร กล่าวว่า ตนเองเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ เมื่อเกษียณอายุราชการ จึงหันมาทำการเกษตรปรับพื้นที่เดิมที่ปลูกดอกเบญจมาศ มาปลูกทุเรียนในระบบปลอดภัยพันธุ์หมอนทอง ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถว 6×6 เมตร จำนวน 23 ไร่ โดยซื้อต้นพันธุ์มาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่เป็นไหล่เขาจึงมีการปลูกแบบขั้นบันได ทำระบบให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ปลูกมาประมาณ 7 ปี
ปัจจุบันเริ่มให้ผลผลิตแล้วรสชาติหวาน กลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อหนาละมุน และผลผลิตจะออกท้ายฤดูกาลของที่อื่น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น และอยู่ในพื้นที่ระดับความสูงกว่า 900 เมตร จากระดับน้ำทะเลโดยจำหน่ายทางระบบออนไลน์ ในกิโลกรัมละ 200 บาท สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
ผู้เขียนจึงค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการในเรื่องการปลูกทุเรียนมาฝากท่านผู้อ่าน ดังนี้
การปลูกทุเรียนนั้น การปลูกแบบชาวสวนนนทบุรี จะยกโคก (พูนดิน) โดยใช้ดินจากบริเวณที่จะปลูก ทำให้ร่วนซุย ควรผสมแกลบดิบ 1 กระสอบ และปุ๋ยคอก 1 กระสอบไปกับดินที่ยกเป็นโคกจะดีมาก และพูนขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร
จากนั้นขุดหลุมปลูกบริเวณกลางโคก โดยขุดลงไปเท่าขนาดถุงชำ เมื่อตัดถุงชำ (ถุงสีดำ) ออกแล้ว ควรเอาดินส่วนล่างของถุงชำออกประมาณ 1 ใน 5 เพื่อให้รากทุเรียนได้เจอกับดินใหม่ที่เราผสมไว้ในโคก ขณะที่เอาดินจากถุงชำออกนั้น ต้องสังเกตที่รากแก้ว หากพบว่ารากแก้วขดอยู่ก็ควรใช้กรรไกรตัดออก ถ้ารากแก้วไม่ขดไม่ต้องตัด จากนั้นจัดรากฝอยให้แผ่ออกไปรอบๆ ต้น เมื่อทุเรียนโตขึ้นจะได้มีรากสมดุลกัน ทำให้แผ่กิ่งไปรอบๆ ต้นป้องกันการโค่นล้ม วางกิ่งทุเรียนลงในกลางพูนดินให้ลำต้นตั้งตรง จากนั้นปักไม้ค้ำและผูกเชือกเพื่อป้องกันลมโยกต้นทุเรียน โดยปักระยะประมาณขอบดินที่มากับกล้าทุเรียน ระวังไม่ให้โดนราก และผูกเชือกฟางพอให้ไม้ค้ำประคองต้นได้ อย่าผูกแน่นจนเกินไป จากนั้นกลบโคนต้นทุเรียนและใช้ฟางคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น
การรดน้ำต้นทุเรียน วิธีการรดน้ำ ในที่ที่การทำสวนทุเรียนแบบยกร่องไม่ควรใช้แครงสาดทุเรียนที่ปลูกใหม่ๆ เพราะจะทำให้ต้นทุเรียนโยกคลอนชะงักการเจริญเติบโต ควรใช้วิธีการตักรดโคนต้นโดยเฉพาะ อย่ารดจนน้ำนองบ่าออกมานอกบริเวณโคก เพราะจะทำให้ดินโคกพังทลายและน้ำชะล้างหน้าดินไปเสียหมด เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วจึงใช้วิธีสาดเอาได้
ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ การรดน้ำวันเว้นวันอาจไม่สะดวก ถ้ายิ่งใช้เครื่องยนต์แบบเคลื่อนที่ด้วยยิ่งไม่สะดวก บางสวนอาจทำแบบร่อง บางสวนอาจใช้วิธีวางท่อในสวนแล้วใช้สายพลาสติกต่อ ถ้าใช้สายพลาสติกต่อน้ำมารดควรใช้วิธีประมาณเอาพอให้ดินอิ่มตัวราว 10-20 นาที แล้วแต่ชนิดของดิน ดินเหนียวต้องใช้เวลานานกว่า เพราะน้ำซึมลงได้ยาก ควรสังเกตดินในเรือนพุ่มถ้าเห็นว่าดินมีความชื้นดีอยู่ไม่ต้องรดน้ำให้มาก
ในช่วง 2-3 ปีแรก อย่าปล่อยให้ทุเรียนที่ขาดน้ำนานๆ ในฤดูแล้งทุเรียนจะแสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด ใบเหี่ยวเฉาในเวลากลางวัน สีของใบไม่สดใส ใบไม่เป็นมันเหมือนปกติ ขอบใบจะมีสีเหลืองและไหม้จากปลายใบเข้ามาทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตในที่สุด ใบก็จะร่วงผลัดใบ ถ้าไม่รีบให้น้ำต้นทุเรียนจะตายทั้งกิ่ง หรืออาจตายทั้งต้นเลยก็ได้ ดังนั้น การรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะน้ำมีส่วนสัมพันธ์กับคุณภาพของเนื้อทุเรียน เนื้อทุเรียนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของใบ ถ้าขาดน้ำใบทุเรียนจะร่วง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงผลและเนื้อทุเรียนด้วย
น้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเกษตรกรรมทุกชนิด เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช น้ำเป็นตัวกลางในการนำเอาอาหารจากดินสู่รากพืช ถ้าขาดน้ำเสียแล้วอาหารในดินหรือปุ๋ยที่ใส่ลงไปก็จะไม่มีประโยชน์ต่อต้นไม้เลย ดังนั้น หลังจากปลูกทุเรียนเสร็จแล้วต้องรดน้ำให้ทันที ทุเรียนต้นเล็กเมื่อปลูกใหม่ควรรดน้ำทุกวัน อย่างน้อย 1 เดือน จากนั้นในช่วงปีแรกอาจให้เพียงวันเว้นวันหรือ 2-3 วันครั้งแล้วแต่ความชื้นของดินบริเวณโคนต้น โดยรดครั้งละประมาณ 5 ลิตร และต้องเพิ่มให้มากขึ้นทุกปี สังเกตดูว่าดินนั้นซึมน้ำได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าซึมได้รวดเร็วก็ควรรดน้ำให้มากขึ้นเล็กน้อย และอาจช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ไม่ให้ระเหยเร็วโดยการใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดินโคนต้น เมื่อความชื้นสูงหรือฝนตกจึงเอาออก เพราะถ้าโคนแฉะทำให้เกิดโรคเน่าได้ง่าย ยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลวกซึ่งเป็นศัตรูของทุเรียน
การบังร่มให้ต้นทุเรียน นิสัยทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ดังนั้น จึงควรมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้างโดยเฉพาะทุเรียนในปีแรกที่ยังเล็กอยู่ต้องการร่มเงามาก สามารถบังร่มได้ 2 วิธี คือ 1. ใช้ซาแรนบังร่ม 2. ปลูกไม้บังร่ม
การใช้ซาแรนบังร่ม ตัดซาแรนสูงกว่าต้นประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้เงาซาแรนทอดลงมาบังแดดให้ต้นทุเรียนได้ โดยซาแรนที่ใช้บังควรบัง 3 ด้าน เปิดด้านที่โดนแดดตอนเช้าไว้ 1 ด้าน เพื่อให้ลมหมุนเวียนได้สะดวก ส่วนด้านบนไม่ต้องบังซาแรน เนื่องจากการบังซาแรนด้านบนจะช่วยบังแดดแค่ตอนเที่ยง ไม่ได้ช่วยบังต้นทุเรียนเวลาช่วงสายและช่วงบ่าย และการบังซาแรนด้านบนจะทำให้ต้นทุเรียนจะไม่ได้รับน้ำค้างเวลากลางคืน นอกจากนี้ การปักซาแรนควรเว้นระยะให้ห่างจากพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ลมผ่านได้ และไม่ควรปักติดชิดต้นทุเรียนมากเกินไป เพราะซาแรนจะเก็บความร้อนไว้ เมื่อผืนซาแรนสัมผัสกับใบทุเรียนเป็นเวลานานจะทำให้ใบไหม้ได้
การปลูกไม้บังร่ม ไม้บังร่มจะช่วยให้ร่มเงาและให้ความชื้นแก่ต้นทุเรียน พืชบังร่มชั่วคราวที่ดีที่สุดคือกล้วยหอม หรือกล้วยไข่ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ให้ร่มเงาเร็วที่สุด ส่วนไม้บังร่มถาวรนั้นในสวนแบบยกร่องนิยมปลูกต้นทองหลางสลับระหว่างต้นทุเรียน ต้นทองหลางมีประโยชน์มาก นอกจากบังร่มแล้ว ใบของทองหลางที่หล่นลงร่องสวน ยังสามารถขุดขึ้นมาถมโคนทุเรียนซึ่งเป็นพวกอินทรียวัตถุได้ พอถึงฤดูแล้งน้ำที่ระเหยจากใบทองหลางจะช่วยให้ความชื้นในอากาศมากขึ้น ทำให้ทุเรียนไม่ชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ไม้บังร่มยังเป็นรายได้จุนเจือชาวสวนอีกด้วย เช่น ค่ารักษาสวน ค่าปุ๋ยทุเรียน อีกทั้งยังช่วยป้องกันกำจัดวัชพืช เพราะเมื่อมีไม้บังร่มขึ้นปกคลุมแล้ว สวนก็จะร่ม พวกวัชพืชก็จะขึ้นน้อยลง
การให้ปุ๋ยต้องคำนึงถึงความต้องการธาตุอาหารของทุเรียนในระยะเวลานั้นๆ เป็นหลัก เช่น ระยะการเจริญทางกิ่งใบทุเรียนต้องการไนโตรเจนมาก ก่อนออกดอกเป็นช่วงที่ต้องทำให้ทุเรียนหยุดการเจริญเติบโตทางกิ่งใบเพื่อเตรียมออกดอก ปุ๋ยที่จะใส่ต้องมีไนโตรเจนลดลง เพิ่มปุ๋ยฟอสเฟต และโพแทสเซียมสูง เป็นต้น
การใส่ปุ๋ยให้กับทุเรียนจึงต้องให้สอดคล้องกับช่วงการเจริญเติบโต การใส่ปุ๋ยผิดเวลาอาจเกิดผลเสียและเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ แต่เนื่องจากการใส่ปุ๋ยให้แก่ทุเรียนขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นสูตรตายตัว หรือมีการทดลองอย่างจริงจัง และดินของแต่ละท้องที่ที่มีการปลูกทุเรียนก็แตกต่างกันไป
การใส่ปุ๋ยทุเรียนเริ่มตั้งแต่การเตรียมโคกปลูก คือผสมแกลบดิบและปุ๋ยคอกบนโคก หรือใส่เศษหญ้าและใบไม้แห้ง ผสมคลุกเคล้ากันไปหรือปุ๋ยอินทรีย์ให้สูงอย่างน้อย 20-30 เซนติเมตร ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ยังไม่จำเป็นต้องใช้
ปุ๋ยทุเรียนในช่วง 2 ปีแรก หลังปลูกยังไม่ให้ผล เป็นระยะที่มีความสำคัญมาก เพราะความสำเร็จในการทำสวนทุเรียนในช่วงนี้จำเป็นต้องบำรุงรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต แม้ว่าต้นทุเรียนเล็กยังต้องการปุ๋ยไม่มากนัก การใส่อาจขุดเป็นร่องตรงระดับปลายราก กว้างราว 1 หน้าจอบ ลึก 3-4 นิ้ว ขุดเป็นวงกลมรอบต้นแล้วโรยปุ๋ยลงในร่องรอบโคนต้นที่ขุดไว้ ใช้ดินกลบปุ๋ยให้มิด ถ้าเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักใส่จนเกือบเต็มร่องที่ขุดไว้ แล้วใช้ดินกลบ
การป้องกันวัชพืชในสวนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในการทำสวนทุเรียน ทุเรียนซึ่งมีรากอาหารอยู่ในระดับผิวดิน ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกรุงรัง นอกจากจะแย่งอาหารและน้ำจากต้นทุเรียนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูทุเรียนได้ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาสวนให้ปราศจากวัชพืชต่างๆ ได้ ก็ต้องคอยดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นคลุมยอดทุเรียนในระยะแรกได้ ซึ่งต้องทำการดายหรือถากถางออกเป็นครั้งคราว ในสวนทุเรียนที่เป็นที่ดอนอย่างน้อยต้องทำการเก็บวัชพืชปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง คือ กลางฤดูฝนขณะฝนทิ้งช่วงซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนกรกฎาคม และปลายฤดูฝน หลังจากหมดฤดูฝนแล้วประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม ซึ่งวัชพืชที่ถูกกำจัด เมื่อแห้งตายก็จะกวาดเข้าคลุมต้นทุเรียนที่ปลูกได้อีก
การป้องกันกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกพืชคลุมหรือพืชแซม เช่น กล้วย หรือพืชคลุมชนิดต่างๆ พืชเหล่านี้จะช่วยคลุมไม่ให้วัชพืชเจริญงอกงามได้เร็ว โดยเฉพาะพืชคลุมดินจะคลุมจนวัชพืชตายหมด พืชคลุมดินเหล่านี้จะขึ้นคลุมปิดบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงผิวดินทำให้ดินไม่ร้อนจัดและชุ่มชื้นอยู่เสมอ รวมถึงทำให้การสูญเสียหน้าดินจากน้ำฝนน้อยลง
แต่ข้อมูลนี้เป็นการปลูกทุเรียนทั่วไปหากอยากจะรู้ว่าอาจารย์เสถียรปลูกทุเรียนในภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ไหล่เขาในจังหวัดเชียงใหม่อย่างไร คงต้องสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 085-620-8599