ผู้เขียน | จรัสศรี แก้วนิลประเสริฐ |
---|---|
เผยแพร่ |
จากข้อมูลทางประวัติในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ผ้ายกเป็นที่นิยมในราชสำนักและแวดวงสังคมชั้นสูง จากเอกสารจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน วันที่ 29 มิถุนายน 2458 กล่าวถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 เสด็จจังหวัดตรัง ว่า “สมุหเทศาภิบาลมณฑลได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร” และได้ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง ข้อความตอนหนึ่งว่า “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้ามีผู้หญิงมาหัดทอมาก” ย่อมแสดงว่าผ้าทอเมืองตรังมีมาก รวมทั้งในชุมชนนาหมื่นศรีด้วย
ชาวบ้านตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและกรีดยางพาราเป็นอาชีพหลัก และทอผ้าเป็นอาชีพเสริม จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ ในอดีตลานใต้ถุนเรือนไม้ของชาวบ้านนาหมื่นศรีทุกหลังจะมีหูก (กี่พื้นเมืองหรือพื้นบ้าน) ตั้งอยู่และมีอุปกรณ์ทอผ้าแขวนไว้บนเพดานใต้ถุนเรือนไม้ ยามว่างก็จะใช้เวลาในการทอผ้าสำหรับใช้เองในครอบครัว ภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมจึงถูกสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การทอผ้าของชาวบ้านนาหมื่นศรีต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่งเพราะขาดเส้นด้ายที่ใช้ทำวัตถุดิบ รวมทั้งการทอผ้าประจำบ้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติปั่นฝ้ายย้อมสีเองก็ลดลง เนื่องจากมีเส้นใยย้อมสีสำเร็จรูปเข้ามาแทน และมีผ้าจากโรงงานและเสื้อผ้าสำเร็จรูปขายมากขึ้น การทอผ้าจึงค่อยๆ ลดน้อยลง
ต่อมาปี 2514 ยายนาง ช่วยรอด ชาวบ้านหมู่บ้านควนสวรรค์ได้รื้อฟื้นการทอผ้าขึ้นมาอีกครั้ง โดยรวบรวมคนทอผ้าอายุรุ่นเดียวกัน ได้ 3 คน คือ ยายผอม ขุนทอง ยายอิน เชยชื่นจิตร และ ยายเฉิ่ม ชูบัว ช่วยกันซ่อมแซมกี่และเครื่องมือเก่าๆ ให้สามารถกลับมาใช้การได้แล้วลงมือทอผ้าต่อ จนสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มได้ ต่อมา นางกุศล นิลลออ บุตรสาวของยายนางได้เข้ามาเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมเป็นรุ่นถัดไป และมีชาวบ้านเข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น
ในปี 2516 นางกุศลได้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี มีสมาชิก 10 คน ทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองหรือพื้นบ้าน เรียกว่า หูก (เป็นเครื่องมือพื้นบ้านที่ผลิตขึ้นมาจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นกี่ขนาดเล็ก ในภาคใต้ช่างทอเรียกกันว่า กี่เตี้ย การสอดเส้นพุ่งจะใช้ “ตรน” ที่ทำมาจากไม้ไผ่ลำเล็กๆ แทนกระสวย) ผ้าที่ทอได้เป็นผ้าขาวม้าลายราชวัตรกับลายตาหมากรุก ผ้าถุง ทอลายหางกระรอก ผ้าตาสมุก ผาหัวพลู ผ้าห่มทอลายลูกแก้ว ลายดอกจัน ลายดาวล้อมเดือน เป็นต้น ผ้าที่ทอได้ครั้งแรก ชาวบ้านภายในหมู่บ้านได้ซื้อขายกันเอง และเริ่มกระจายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง หลังจากที่นางกุศลเสียชีวิต นางอารอบ เรืองสังข์ ทายาทรุ่นสามได้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมเป็นรุ่นถัดไป
คุณอารอบ เล่าว่า ในปี 2548 กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ต่อนายทะเบียนสำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง กรมส่งเสริมการเกษตร โดยใช้ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี” โดยมีคุณอารอบเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ปัจจุบันมีสมาชิก 159 คน สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักทำนาและกรีดยางพารา อาชีพทอผ้าเป็นอาชีพเสริม แต่ยังมีสมาชิกหลายคนยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก บ้างก็ทอผ้าที่บ้านแล้วนำส่งให้แก่กลุ่ม
สำหรับรายได้จากการทอผ้าของสมาชิกเฉลี่ยคนละ 5,000-7,000 บาทต่อเดือน คนที่ได้รับมากที่สุด ประมาณ 10,000 บาท ส่วนคนที่ได้น้อยสุด ประมาณ 300 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่ส่งให้กับกลุ่ม สามารถสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัวและชุมชนนาหมื่นศรีให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
เอกลักษณ์ผ้าทอนาหมื่นศรี
มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองแบบศิลปะท้องถิ่นคือ สีแดงเหลือง ใช้ด้ายยืนสีแดง ด้ายพุ่งสีเหลืองโครงสร้างชัดเจนมีชื่อเฉพาะ เช่น ริมตีน แม่แคร่ ลูกเกียบ หน้าผา ลายมรดกนาหมื่นศรี เช่น ลูกแก้ว ดอกจัน แก้วกุหลาบ ครุฑ นกเหวก (นกการเวก) หงส์ ตุ๊กตาถือดอกบัว พานรัฐธรรมนูญ ปลา เป็นต้น
ผ้าทอนาหมื่นศรีแบ่งตามวิธีทอได้ 2 ลักษณะ คือ ผ้าลายมรดก ทอด้วยหูกหรือกี่พื้นบ้าน ช่างทอสร้างลวดลายตามจินตนาการเฉพาะตน ส่วนผ้าลายพัฒนา ทอด้วยกี่กระตุก ตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาสอนมีการสร้างลายใหม่ต่อเนื่อง ทอผืนใหญ่ทำได้รวดเร็ว เหมาะใช้ตัดเสื้อผ้าและแปรรูปเป็นสิ่งของ เช่น ถุง กระเป๋า เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี
1. รับผลิตผ้าทอมือ สำหรับตัดชุด มีหลายลาย ได้แก่ ผ้าลาย 4 ทิศ ผ้าลายกลีบบัว ผ้าลายข้าวหลามตัด ผ้าลายพิกุล ผ้าลายลูกแก้ว ผ้าลายเสาวรส ฯลฯ ราคาหลาละ 300 บาท ขนาดหน้ากว้าง 1 เมตร ความยาวตามความต้องการ
2. รับผลิตผ้าทอ สั่งตัดเสื้อตามแบบที่ลูกค้าต้องการ และจัดจำหน่าย ผ้าชิ้น ผ้าตัดชุด ซิ่น โสร่งชาย ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อสูท เสื้อเชิ้ต กางเกงกระโปรงผู้หญิง หมวก กระเป๋า ปลอกกล่องทิชชู ฯลฯ
3. สินค้าแปรรูปจากผ้าทอ ได้แก่ ร่มกันน้ำได้จากผ้าขาวม้า มีคันเล็ก-คันใหญ่ กระเป๋าเป้ใบเล็ก-ใบใหญ่ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าสตางค์หลากหลายขนาด กระเป๋าดินสอ เป็นต้น
ท่านที่สนใจผลิตภัณฑ์สามารถ ติดตามเพจ วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี หรือ โทรศัพท์ 081-476-4318, 091-162-1928 อีเมล : [email protected] หรือติดต่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เลขที่ 119 หมู่ที่ 8 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง