ศูนย์เรียนรู้ “กระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย” เปิดเส้นทาง เกษตรคนเมือง

“กระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย” (Mushroom Cottage) ชื่อนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการผ่านสื่อมวลชนเมื่อช่วงปี 2560 ปัจจุบัน “กระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย” ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนทำให้ คุณนัยนา ยังเกิด ลาออกจากพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง มาทำกระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อยอย่างเต็มตัว เพื่อเนรมิตให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เน้นแนวทางให้ความรู้กับคนเมืองที่สนใจการทำเกษตร หรือบางคนที่กำลังมองหางานด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม เพื่อพัฒนาให้เป็นอาชีพหลักต่อไป ด้วยการเริ่มต้นเกษตรจากจุดเล็กๆ ในการเพาะเห็ด และขยายสู่การทำฟาร์มเห็ดต่อไป

สำหรับคุณนัยนามีประสบการณ์ทำงานอยู่ในส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารและบริหารแบรนด์ โดยมีประสบการณ์เป็นพนักงานประจำมา 3 ธนาคาร แต่เมื่อถึงจุดที่ทำให้คุณนัยนาต้องทบทวนการเป็นพนักงานประจำ โดยในปี 2554 เกิดการควบรวมกิจการของธนาคาร เธอจึงมองเห็นความไม่แน่นอนในงานประจำ จึงเริ่มเตรียมตัวและเตรียมอาชีพไว้รองรับ ในจังหวะนั้นเธอผันตัวเองมาเรียนรู้การเพาะเห็ดฟาร์ม และเริ่มทำฟาร์มเห็ดอย่างจริงจัง

คุณนัยนา เล่าว่า ตอนแรกมองหาธุรกิจที่เหมาะกับเรา เช่น ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร และร้านกาแฟ แต่ก็มองว่ามีคนเปิดเยอะมาก และต้องแข็งเรื่องแบรนด์ดิ้ง (Branding) ก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษาคุณยายที่จังหวัดเชียงใหม่ คุณยายแนะนำให้ทำฟาร์มเห็ด ซึ่งตอนนั้นได้เข้าหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ต ก็พบว่ามีฟาร์มเห็ดอยู่ใกล้ๆ กับที่เราพัก จึงไปรับก้อนเห็ดมา 10 ก้อน พอไปเห็นดอกเห็ดออกมาก็ชอบ เพราะสวยเหมือนช่อดอกไม้ เป็นเห็ดฮังการี

“หลังจากนั้นก็มีโอกาสไปเรียนหลักสูตร 5 วัน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นหลักสูตรที่หน่วยงานภาครัฐเข้าสนับสนุนด้วยส่วนหนึ่งทำให้ราคาค่าเรียนไม่แพง ตอนเข้าไปเรียนหลักสูตรเพาะเห็ด วันแรกๆ มีคนเรียน 60-70 คน พอวันสุดท้ายเหลือคนเรียนจริงๆ 10 กว่าคน โดยตอนนั้นอาจารย์ที่สอนเพาะเห็ดก็ย้ำว่า ใบประกาศนียบัตรนี้สามารถนำไปกู้เงินแบงก์ได้ด้วย เราก็เลยเรียนจนถึงวันสุดท้ายที่พาไปดูฟาร์มเห็ดและมีการเลี้ยงอาหารเป็นเมนูเห็ด ก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า การเพาะเห็ดเป็นอาชีพได้จริง ซึ่งหลักสูตรที่ได้เรียน อาจารย์สอนตั้งแต่การเพาะเห็ด ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพาะเห็ดฟาร์ม ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีเทคโนโลยีการเกษตรในต้นทุนที่ไม่แพงมาใช้ด้วย” คุณนัยนาเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

ในเวลานั้น คุณนัยนาได้มองหาทำเลซึ่งเป็นที่ดินของพี่สาว และเริ่มลงทุนทำฟาร์มเห็ด ในปี 2555 บนพื้นที่ 300 กว่าตารางวา ในซอยวัดเล่งเน่ยยี่ จังหวัดนนทบุรี โดยช่วงแรกของการเพาะเห็ด คุณนัยนาทำด้วยความชอบและทำเป็นงานอดิเรกในช่วงที่ต้องทำงานประจำไปด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งจากระยะเวลาที่เริ่มต้นจนมาถึงวันนี้นับว่า 10 ปีแล้วที่ปลุกปั้นการทำฟาร์มเห็ดจนมาเป็นกระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย โดยขยายมาทำในพื้นที่ใกล้เคียงพื้นที่เดิม บนพื้นที่ 2 ไร่ ในอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ใกล้วัดลาดปลาดุก ซึ่งปัจจุบันในไร่ของเธอมีพันธุ์เห็ด 5 สายพันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ เห็ดนางนวลสีชมพู เห็ดนางรมสีทอง เห็ดนางรมฮังการี เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดนางฟ้าภูฏาน

การทำฟาร์มเห็ดของคุณนัยนาตลอดระยะเวลา 10 ปีนั้น ยังได้ยึดหลักแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเนรมิต “ศูนย์เรียนรู้กระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย” ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนที่ 1 อุตสาหกรรมเห็ด ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้การนำเห็ดมาแปรรูป ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ของกระท่อม ซึ่งจะให้ผู้เข้าชมเรียนรู้การเพาะเห็ด และ ส่วนที่ 3 ร้านคาเฟ่ เมนูเห็ด รวมทั้งมีในส่วนที่นำไปทำตลาดในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต โดยใช้ชื่อว่า “กระท่อมเห็ดฟู้ด” โดยเน้นซื้อกลับบ้าน

คุณนัยนา เล่าว่า เห็ดมีโครงสร้างแตกต่างกันไปทำให้ทางคาเฟ่ เมนูเห็ดจึงนำเห็ดแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูกในกระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย มาสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ เช่น เห็ดนางนวลสีชมพูนำมาทำอาหารแทนเมนูปลาหมึกแท้ และใช้เห็ดเป๋าฮื้อ มาทำเป็นเมนูต้มยำ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่รักอาหารมังสวิรัติ หรือ Plant Base รวมทั้งยังมีเมนูสำหรับเด็ก เช่น การนำเห็ดมาผสมกับเนื้อแซลมอน เป็นผัดแซลมอนเห็ด หรือนำปลาทูและเนื้อไก่มาสร้างสรรค์เมนูร่วมกับเห็ด ส่วนเมนูที่ผู้ใหญ่ชื่นชอบจะเป็นเมนูปูนิ่มผัดพริกเกลือ โดยมีจุดเด่นคือเห็ดในฟาร์มมาเป็นส่วนผสมหลักส่วนเมนูแบบซื้อกลับบ้าน (take home) ที่จำหน่ายในเซ็นทรัล เวสต์เกต เช่น เห็ดซอสเกาหลี ใช้เห็ดนางนวลสีชมพู, แกงเขียวหวานเห็ด และไข่เจียวเห็ด ใช้เห็ดนางรมสีทอง รวมทั้งยังมีเมนูมินิ พิซซ่าเห็ด

“ศูนย์เรียนรู้กระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย” ยังได้เปิดคอร์สสอนเพาะเห็ด หลักสูตร 1 วัน ราคา 1,850 บาท โดยสอนแบบตัวต่อตัว และที่ผ่านมาผู้เข้าอบรมไปแล้ว 100 กว่ารุ่น และมีแนวคิดต่อยอดว่า ในอนาคต “เห็ด” สามารถนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

คุณนัยนาให้ความเห็นว่า ปัจจุบันเครือข่ายเกษตรกรคนเมืองเริ่มขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะรอบปริมณฑล กรุงเทพมหานคร แต่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐในการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรคนเมือง ให้สามารถรวมตัวกันนำสินค้าเกษตรวางจำหน่าย หรือทำตลาดในวงกว้างผ่านเครือข่ายเกษตรกรคนเมืองที่มีการรวมศูนย์กัน โดยมีภาครัฐเป็นจุดศูนย์กลาง ทำให้ทุกวันนี้คนเมืองเมื่อเรียนรู้การทำเกษตร เมื่อผลิตวัตถุดิบได้ แต่บ่อยครั้งที่ประสบปัญหาด้านการตลาด โดยไม่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดของภาครัฐได้เหมือนในต่างจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับท่านใดที่สนใจเรียนรู้การทำเห็ดฟาร์มแบบสไตล์คนเมือง ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถไปศึกษาเรียนรู้ได้ที่ “ศูนย์เรียนรู้กระท่อมเห็ดฟาร์มไทรน้อย” จังหวัดนนทบุรี ของคุณนัยนา ยังเกิด หรือสอบถามได้ที่เบอร์โทร. 081-903-1331 และ 063-240-2951