ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า (วท.เวียงป่าเป้า) นำ “พลูคาว” พืชผักพื้นบ้านมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบเซรั่มบำรุงผิว ในชื่อแบรนด์ “มีเรียม” คุณภาพดี ถูกใจสาวๆ เพราะช่วยบำรุงผิวให้นุ่ม ชุ่มชื่น ส่งเสริมให้ผิวแข็งแรง และต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บ่มเพาะเพิ่มศักยภาพ นวัตกรรมสายอาชีวศึกษา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคเหนือ” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบการบ่มเพาะให้ความรู้และเทคนิคแนวการคิดในระยะเวลา 3 วัน โดย นักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้ารับการอบรม ได้นำเอกสารเชิงแนวคิด (Concept Paper) มาให้ผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงและเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เซรั่มบำรุงผิวจากพลูคาว
กลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า (วท.เวียงป่าเป้า) ภายใต้การนำของ นางสาวสิริยากร ตันหลง และ นางสาวบัณฑิตา โปร่งใจ อาจารย์ที่ปรึกษา ได้นำ “พลูคาว หรือผักคาวตอง” พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านภาคเหนือ ที่มีองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นกับผิว แต่ไม่ทำให้เหนอะหนะ แถมยังมีผลต่อการชะลอความแก่ ช่วยลดอาการอักเสบ ลดอาการระคายเคือง บำรุงผิวให้นุ่ม ชุ่มชื่น และส่งเสริมให้ผิวแข็งแรง สามารถทำให้ผิวช่วยเก็บกักน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้น และต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากพลูคาว เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการบำรุง และดูแลผิวหน้า อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ตลอดถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่กระบวนการเชิงพาณิชย์
พลูคาว เป็นสมุนไพรพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศจีน พลูคาวเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้รักษาอาการไอ โรคปอดบวม และโรคหลอดลมอักเสบ พลูคาวมีสารประกอบฟีนอลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) อัลคาลอยด์ (Alkaloid) และเคอร์ซิติน (Quercetin) ซึ่งอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย และยับยั้งการอักเสบ
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยยืนยันว่า พลูคาวมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทำลาย หรือยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอดส์ เริม และไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปากเปื่อย ใบพลูคาวสดอุดมไปด้วยสารดีคาโนอิลอะซีทัลดีไฮด์ (Decanoylacetaldehyde) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และมีเควอซิทิน วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิว จึงส่งผลดีด้านความงาม คือช่วยลดรอยหยาบกร้านและริ้วรอยบนผิวหนัง ช่วยรักษาสิวและการอักเสบบนใบหน้า เพิ่มความชุ่มชื้นบนผิวหน้า ป้องกันรอยด่างดำ ช่วยให้ผิวพรรณเรียบสวยและรักษาอาการโรคผิวหนังอักเสบจากแสงแดด และโรคภูมิแพ้ ฯลฯ ทำให้สารสกัดจากต้นพลูคาวมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอางและโลชั่นบำรุงผิวที่หาซื้อได้ง่ายในญี่ปุ่น
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชสมุนไพรพื้นบ้าน กลุ่มนักศึกษา วท.เวียงป่าเป้า จึงได้นำสารสกัดจากพลูคาวมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า ในแบรนด์ มีเรียมเซรั่ม (Myriam Serum) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนากระบวนการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสนองนโยบายและพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไปพร้อมๆ กัน
ทีมนักศึกษาได้นำผลิตภัณฑ์มีเรียมเซรั่มไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดเชียงราย พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากพลูคาวสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการบำรุงและดูแลผิวหน้าได้อย่างดี เนื่องจากไม่ทำให้เหนอะหนะ สามารถบำรุงผิวให้นุ่ม ชุ่มชื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทุติยยาม เวียงกาหลง
นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษา วท.เวียงป่าเป้า ได้นำเสนอผลงานชื่อ “ทุติยยาม เวียงกาหลง” เนื่องจากในเขตพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ผลิตภัณฑ์ทุติยยาม เวียงกาหลง เป็นเครื่องเคลือบดินเผาที่ใช้การปั้น การหล่อ การสร้างพิมพ์สำหรับการสร้างงานเครื่องเคลือบดินเผา โดยเน้นการออกแบบในเชิงอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ โดยใช้เทคนิคสมัยเก่าคือ การหล่อ การปั้น เทคนิคการผสมสูตรน้ำเคลือบ การเขียนลาย
ทุติยยาม เวียงกาหลง คือ นาฬิกาตั้งโต๊ะ มีลักษณะเป็นเครื่องเคลือบดินเผา ผสมผสานการออกแบบโดยมีลายเส้นประกอบเข้าด้วยกัน มีขาตั้งเอียง ทำมุม 45 องศา เน้นประโยชน์ใช้สอยที่สามารถวางบนโต๊ะ หรือใช้ประดับตกแต่งภายในห้อง หรืออาคาร เสริมให้เกิดความงาม และเอื้อด้านประโยชน์ใช้สอยในเรื่องของการดูเวลา นับเป็นผลงานศิลปะที่เน้นประโยชน์การใช้สอย โดยออกแบบให้มีความร่วมสมัย และเกิดอรรถประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งาน นวัตกรรมนี้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและความสวยงามให้กับเครื่องปั้นดินเผา สนองยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการอาชีวศึกษาของชาติ และเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน
วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า
ปัจจุบัน วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า ตั้งอยู่ที่เลขที่ 200 หมู่ที่ 6 ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย บริหารงานภายใต้การนำของ นายเรวัตร แก้วทองมูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า
ที่ผ่านมา วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า เข้าร่วมกิจกรรม “สุดยอดนวัตกรรม อาชีวศึกษา” การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงราย ณ วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย ปรากฏว่า ผลงานนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า ได้รับรางวัลหลายรายการ ได้แก่ เครื่องบดขิงผงสำเร็จรูป และสว่านเจาะดิน ปลูกผัก ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 ได้รับรางวัลชมเชย ผลงาน “ระบบเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่ง” สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 ได้รับรางวัลเหรียญเงิน เตาพลังงานจากน้ำมันขี้โล้ สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 3 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และแบริเออร์ วิบวับ สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 3 ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
เครื่องซอยหน่อไม้เพื่อการแปรรูป สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง และรถตัดหญ้าบังคับ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน ทำให้วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า เป็นตัวแทนอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมการประกวด/การประเมินสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ระดับภาค ภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2565
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊ก วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า