สศก. จับมือ สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ขับเคลื่อน 50 Smart Farm ผลักดันสู่ 10 ฟาร์มโคนมต้นแบบ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้ร่วมกับสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด จังหวัดสระแก้ว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการพัฒนาฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 50 ฟาร์ม ให้มีการพัฒนาฟาร์มโคนม ของตนเองเป็น Smart Farm เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพพันธุ์โคนม สร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำนมจากการปรับปรุงคุณภาพการเลี้ยงและระบบการรีดน้ำนมดิบในระบบปิดให้เกิดความยั่งยืนของการเลี้ยงโคนม ซึ่งถือเป็นอาชีพพระราชทาน

จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยกองทุน FTA โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระแก้ว เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของโครงการพบว่า การดำเนินโครงการระยะเวลา 6 ปี เกษตรกรสมาชิกโครงการได้รับการจัดสรรโคนมเพศเมียพันธุ์ Holstein Friesian จำนวน 50 ฟาร์ม ฟาร์มละ 10 ตัว  รวมทั้งสิ้น 500 ตัว ซึ่งทุกฟาร์มได้รับการสร้างโรงเรือนและระบบการรีดนมในระบบปิดที่ทันสมัย ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการเลี้ยงดูโคนมในระยะต่างๆ ตามหลักวิชาการ ในรูปแบบ Smart Farm ที่ถูกสุขลักษณะ เป็นไปตามมาตรฐาน GAP สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐาน GMP มีการสร้างศูนย์ระบบสารสนเทศ ระบบการเลี้ยงโคนมของแต่ละฟาร์มที่เชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ และการสร้างระบบการผสมอาหารในรูป (Total Mixed Ration : TMR) โดยสหกรณ์ได้อบรมวิธีการใช้งาน ซึ่งขณะนี้ มีฟาร์มที่เป็นต้นแบบจำนวนมากกว่า 10 ฟาร์ม

นอกจากนี้ เกษตรกรสมาชิกยังได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ และระบบการขนถ่ายอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงโคนมจากสหกรณ์ไปยังสมาชิก และการขนส่งน้ำนมดิบจากคูลเลอร์แท็งก์ของสมาชิกมายังสหกรณ์ โดยปัจจุบัน สหกรณ์มีโรงงานผลิตอาหารโคนมสำหรับสมาชิก และมีการจัดตั้งศูนย์รับน้ำนมดิบจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์รับน้ำนมดิบ ตำบลวังใหม่ ตั้งอยู่ภายในสำนักงานสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด 2. ศูนย์รับน้ำนมดิบ ตำบลคลองหินปูน 3. ศูนย์รับน้ำนมดิบ สี่แยกไพรจิตร ตำบลวังใหม่ และ 4. ศูนย์รับน้ำนมดิบท่ากระบาก ตำบลหนองตะเคียนทอง โดยสหกรณ์ให้บริการรถขนถ่ายน้ำนมดิบ จากคูลเลอร์แท็งก์ของฟาร์มสมาชิก มายังโรงรีดนมระบบปิดแบบอัตโนมัติ ตามรอบระยะเวลา ซึ่งเกษตรกรสมาชิกจะมีการรีดนมวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้า เวลา 05.00-06.00 น. และช่วงบ่าย 14.00-15.00 น.

เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาโครงการต่างๆ ได้ที่ 02-561-4727 หรือ อีเมล [email protected] ซึ่ง สศก. โดยกองทุน FTA พร้อมให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่