ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | กัลยดา ชุ่มอินทรจักร |
เผยแพร่ |
ไร่ภูฟ้าใสอันร่มรื่น เต็มไปด้วยแปลงมะเขือเทศหลากสี สลับกับสีเขียวของต้นและใบ ที่มีเจ้าของคือ คุณนิด หรือ คุณปรีดารัตน์ หลวงแหลม สาววัย 49 ปี เป็นผู้ปลูกมะเขือเทศหวาน หรือมะเขือเทศเชอร์รี่ ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย คำว่ามะเขือเทศทุกคนต้องนึกถึงผลไม้สีแดงสดใสวางขายคู่ตลาดของคนไทยตลอดปี ไปตลาดก็ต้องหาเจออันดับแรก คือเป็นพืชผักสวนครัว ที่เป็นส่วนประกอบของอาหารเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารคู่บ้านคู่เมืองของอีสานบ้านเฮา คือเมนูส้มตำ ถ้าขาดมะเขือเทศหรือมะเขือส้มของทางเหนือและอีสานแล้วย่อมจะเป็นส้มตำไปไม่ได้
“นำเข้าเมล็ดพันธุ์บางส่วนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ สเปน เพราะคุณภาพของเมล็ดมีอัตราการงอกสูง ปลูกได้ดีในบ้านเรา ที่ไร่เราปลูกกลางแจ้งโดยไม่ใช้โรงเรือนแต่ปลูกแบบอินทรีย์ก็ไปได้ดีค่ะ จะปลูกได้ในช่วงฤดูหนาวของไทยเราค่ะ”
มะเขือเทศกลุ่มนี้เรียกว่ามะเขือเทศเชอร์รี่หรือมะเขือเทศราชินี (Cherry Tomato) เป็นผลไม้ที่รู้จักกันดีในวงการคนรักสุขภาพ เป็นมะเขือเทศอยู่ในกลุ่มทานสด จัดอยู่ในกลุ่มเบอร์รี่ เช่นเดียวกับสตอเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ มะเขือเทศกลุ่มนี้เป็นพันธุ์ลูกเล็กยาวรีและพันธุ์กลมเล็ก ที่มีความหวานกว่ามะเขือเทศทั่วๆ ไป
มะเขือเทศเชอร์รี่ หรือมะเขือเทศหวานทานสด เป็นผลไม้ที่มีสีสันสวยงาม มะเขือเทศราชินีเป็นมะเขือเทศลูกเล็ก ซึ่งต่างจากมะเขือเทศสีดาเป็นมะเขือเทศลูกใหญ่ที่มักนำมาประกอบอาหาร มะเขือเทศราชินีมีทั้งผลกลมและผลรีแล้วแต่สายพันธุ์ มีทั้งสีดำ สีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง สีเขียว เนื้อฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยวอมหวาน แม้ว่ามะเขือเทศราชินีจะมีลูกขนาดเล็ก แต่สรรพคุณของมะเขือเทศราชินีไม่ได้เล็กตามขนาดผลของมันเลย เพราะมันสามารถช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน ระบบขับถ่าย ต้านการอักเสบ บำรุงสายตา และผิวพรรณ
มะเขือเทศเชอร์รี่สีดำ Black Cherry Tomato
ปัจจุบันนี้การพัฒนาพันธุ์ที่ไม่หยุดยั้งของชาวโลก มะเขือเทศสีแดงธรรมดาไป ต้องมะเขือเทศสีดำ ผลสุกก็เป็นสีดำแต่เนื้อในยังเป็นสีแดง สีเหลือง ผลสุกก็เป็นสีเหลืองทองสวยงาม และสีเขียว ผลสุกก็ยังคงมีสีเขียวถ้าสุกงอมก็จะอมเหลืองเล็กน้อย ได้มาถึงเมืองไทยแล้วและปลูกกันหลายที่ หนึ่งในสวนมะเขือเทศอินทรีย์ก็คือ ไร่ภูฟ้าใส ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งมะเขือเทศสีดำในไร่เป็นสายพันธุ์ที่มาจากหลายประเทศ เช่น อิตาลี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ทุกวันนี้เราได้พบพืชพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ มากมาย ซึ่งมักสร้างความแปลกใหม่ให้เราได้ตลอดเวลา บางอย่างเราเองก็อาจเคยทดลองทานแล้ว เช่น การคิดค้นมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีสีดำ อนาคตบรรดาชาวโลกคงจะได้เห็นว่าบรรดาผักผลไม้ต่างๆ แม้กระทั่งเนื้อสัตว์ ซึ่งสามารถทำให้มีสีสัน กลิ่น และรสชาติ ที่ต่างไปจากเดิมได้อย่างหลากหลาย หรือมีคุณสมบัติเฉพาะเพื่อประโยชน์หรือเพื่อเหตุผลด้านการตลาด และคุณค่าทางอาหาร พืชผักที่ผ่านการผสมสายพันธุ์ได้คุณลักษณะโดดเด่นหรือจำเพาะ และยังเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เช่น มะเขือเทศสีดำ เป็นต้น
สำหรับมะเขือเทศสีดำที่ว่านี้ มีชื่อเรียกเท่ๆ ว่า แบล็กเชอร์รี่ (Black cherry tomato) เป็นมะเขือเทศที่เกิดจากสายพันธุ์ไฮบริดกับมะเขือเทศธรรมชาติผสมกัน จนในที่สุดก็ได้มาซึ่งมะเขือเทศมีผิวนอกเป็นสีดำ แต่ข้างในยังคงมีเนื้อและเมล็ดเหมือนมะเขือเทศทั่วๆ ไป โดยผิวสีดำของมะเขือเทศนี้ เกิดจากสารตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ในผลบลูเบอร์รี่ อีกทั้งยังเป็นสารที่ไวต่อการรับแสงมากๆ เลยด้วย กล่าวคือ ถ้ามะเขือเทศสีดำนี้โดนแดดมากเท่าไหร่ ผิวของมันก็จะยิ่งทำปฏิกิริยาจนเป็นสีดำที่เข้มมากๆ เท่านั้น
มะเขือเทศสีดำเป็นมะเขือเทศที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงมากๆ ด้วยเหตุนี้เลยทำให้ทางไร่ภูฟ้าใส เตรียมที่จะส่งมะเขือเทศสีดำไปจำหน่ายยังโรงแรมหรูต่างๆ เพราะด้วยความแปลกของสีสัน และคุณค่าทางอาหาร น่าจะเป็นอะไรที่กลุ่มตลาดโรงแรมต้องการ จากนั้นแล้วถึงจะออกจำหน่ายต่อไปในตลาดท้องถิ่นและขายทางออนไลน์
มะเขือเทศเชอร์รี่สีดำมีสีเข้มโดดเด่น ผิวสีดำขลับที่สวยงาม และรสชาติที่ดี จึงมีลักษณะเด่นแตกต่างจากมะเขือเทศชนิดอื่นๆ สามารถนำมะเขือเทศนี้ เพิ่มลงในสูตรอาหารเพื่อให้ได้สีที่คาดไม่ถึง เช่น สลัดหรือยำต่างๆ รวมทั้งเป็นเครื่องเคียงในน้ำพริกของอาหารไทยได้เป็นอย่างดีทีเดียว นำไปทำน้ำมะเขือเทศปั่นสดก็ทำให้สีสันและรสชาติไปอีกแบบหนึ่ง
มะเขือเทศสีดำพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อ “ผลิตสารแอนโทไซยานินในระดับสูงสุด ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จากข้อมูลของบริษัทในต่างประเทศและข้อมูลทางวิชาการ แอนโทไซยานินในมะเขือเทศชนิดใหม่มีอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสารต้านอนุมูลอิสระในซุปเปอร์ฟู้ด เช่น บลูเบอร์รี่ นอกจากคุณสมบัติในการต้านการอักเสบแล้ว มะเขือเทศยังช่วยลดปริมาณของเสียเนื่องจากอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น ทำของว่างระหว่างเดินทางได้ดี และยังคงไว้ซึ่งรสชาติเยี่ยมและสวยงามในอาหารจานพิเศษ
มาดูกันว่าสายพันธุ์ของมะเขือเทศเชอร์รี่สายพันธุ์อื่นๆ ของประเทศไทยที่น่าสนใจ มีพันธุ์อะไรกันอีกบ้าง ที่ในฤดูหนาวของไทยเรานั้นมักจะมีผลผลิตมาให้คนไทยได้ชิมกัน พบว่าแม้จะมีรสชาติจุดเด่นต่างกัน หวานมากบ้าง หวานน้อยบ้าง แต่มีรสสัมผัสความฉ่ำของผลที่คล้ายคลึงกัน ในขณะที่รสชาติของพันธุ์มะเขือเทศเชอร์รี่จะออกไปทางนัวนัว เนื้อแน่น ความหวานไม่จัดมาก และไม่มีกลิ่นฉุนเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น จึงเป็นพันธุ์ที่นิยมทานผลสดมากกว่าพันธุ์อื่นดังนี้
มะเขือเทศเชอร์รี่สีเหลือง (Golden sweet tomatoes) และ มะเขือเทศเชอร์รี่สีส้ม (Orange cherry tomatoes)
คือมะเขือเทศเชอร์รี่ที่สุกก็เป็นสีเหลืองทองและเหลืองส้ม เป็นเวลาหลายปีที่เราได้ปลูกมะเขือเทศสีเหลืองที่เชื่อกันว่ามีสารเบต้าแคโรทีนสูง ที่เราคัดสรรสายพันธุ์มา ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “โกลเด้นสวีท” หรือมะเขือเทศสีเหลือง และราชินีสีส้ม หรือออเรนจ์ นอกจากจะมีสารเบต้าแคโรทีนสูงมาก ก็ยังมีโฟเลตในระดับดีเยี่ยม โฟเลตคือสารที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง (ระดับโฟเลตสูงกว่ามะเขือเทศซุปเปอร์มาร์เก็ตมาตรฐานสีแดงมาก) รวมทั้งมีสารประกอบโพลีฟีนอลหลายชนิดที่น่าสนใจ
มะเขือเทศเชอร์รี่สีเขียว กูรามิ (Gourami)
คือมะเขือเทศเชอร์รี่ที่มีสีเขียวตอนแก่จัดก็ยังเป็นสีเขียว เนื้อหนา กรอบ กลิ่นหอมอ่อนๆ นุ่มละมุนลิ้น ตั้งแต่เคยทานมะเขือเทศมา อร่อยที่สุดแล้ว กูรามิ สายพันธุ์ที่นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ตัวนี้ เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ในเรื่องของสีและความแปลกใหม่เพื่อผลทางการตลาดและผักผลไม้ที่มีสีเขียวมีสารสำคัญ คือ คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll), ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ฯลฯ ประโยชน์ของผักผลไม้แต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป สำหรับสีเขียวจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา มีไฟเบอร์สูง ช่วยเรื่องการขับถ่าย ยับยั้งการเกิดริ้วรอย ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
รายได้ 300,000-500,000 บาทต่อรอบ ภายใน 6 เดือน
ที่ไร่ภูฟ้าใส เราจะปลูกไล่รุ่นกัน เช่น ปลูกครั้งละ 700-1,000 ต้น ใช้พื้นที่ประมาณ 1/2 ไร่ต่อรอบเนื้อที่ทั้งหมดเกือบ 6 ไร่ รวมระยะปลูกตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และจะเก็บไปเรื่อยๆ จนถึง 6 เดือนก็จะรื้อแปลงทิ้งและปลูกพืชอย่างอื่นหมุนเวียนไปเรื่อยๆ จนครบเวลา 1 ปีของรอบการปลูกมะเขือเทศ และจะสลับปลูกแปลงอื่นหมุนเวียนกันไป ภายในเนื้อที่เกือบ 6 ไร่ ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี แต่รายได้จากมะเขือเทศต่อรอบก็อยู่ที่หลักหลายแสนบาทขึ้นไป ราคาขาย พร้อมค่าขนส่ง อยู่ที่ราคา 300-350 บาทต่อกิโลกรัมส่งทั่วประเทศ มะเขือเทศ 1 ต้นจะให้ผลผลิต 3-5 กิโลกรัม ตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว สำหรับพืชหมุนเวียนก็จะมีข้าวโพด ถั่ว ปอเทือง เพื่อเป็นการพักแปลงและปรับปรุงดิน
หากท่านกำลังมองหาสิ่งแปลกใหม่มาปลูกในสวนเพื่อการค้าที่เพิ่มรายได้ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับอาหารและประดับในสวน ต้นกำเนิดของความงามเล็กๆ น้อยๆ ที่แสนอร่อยเหล่านี้นั้นกำลังเริ่มที่จะแพร่หลายในตลาดของอาหาร ตอนนี้มีการปลูกยังไม่มากแต่ตลาดต้องการพืชผักและความแปลกใหม่มาก โดยเฉพาะตามซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ร้านอาหาร ที่สวนจึงขายดีมาก
การปลูก
ปลูกระยะห่าง แบ่งเป็นสองแถวคู่ ห่างกัน 40×40 เซนติเมตร แบ่งเป็นทางเดินกว้าง 1-2 เมตร ทำค้างขึ้นไปเพื่อให้ต้นมะเขือเทศสูงขึ้นไป ความสูงของมะเขือเทศจะให้อยู่ที่ไม่เกิน 2 เมตร เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว โดยสายพันธุ์มะเขือเทศเชอร์รี่ก็จะเป็นพันธุ์เลื้อย นอกจากทำค้างขึ้นสูงแล้วยังทำให้มะเขือเทศสะอาดอีกด้วย ที่ไร่จะปลูกแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยหมักที่ได้จากปุ๋ยคอก ที่หาได้ในท้องถิ่น ขี้วัว ขี้ควาย ขี้แพะ ขี้หมู น้ำหมักจากปุ๋ยคอก ส่วนเมล็ดพันธุ์จะนำเข้าจากประเทศยุโรปเป็นส่วนใหญ่เพราะมีอัตราการงอกสูง
การปลูกมะเขือเทศสีดำ สีเขียว สีเหลือง และสีส้ม ตลาดก็ไปได้ดีเช่นกัน เพราะความหลากหลายของสีสัน ก็จะมีคุณค่าทางอาหารแตกต่างกันไป นั่นเป็นเรื่องของสีที่ให้วิตามินที่เพิ่มขึ้น จากมะเขือเทศพื้นฐานคือสีแดง มะเขือเทศทั้งสามสีนี้ก็ให้ความสดชื่นของอาหาร เป็นพืชที่ประดับจานอาหารที่ให้ทั้งคุณค่า รสชาติ และราคาที่เพิ่มขึ้น
การปลูกก็เหมือนกับปลูกมะเขือเทศหวาน สำหรับที่ไร่ภูฟ้าใสเราจะปลูกแบบอินทรีย์นอกโรงเรือน ซึ่งจะให้ผลผลิตดีในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เริ่มปลูกเดือนตุลาคม จนถึงต้นเดือนมีนาคมก็จะเริ่มวายลงหรือออกผลผลิตน้อยลง แต่สำหรับการปลูกแบบโรงเรือนก็ยืดอายุการเก็บเกี่ยวได้เพิ่มขึ้น
ถ้าหากท่านใดสนใจที่จะปลูกเรามีการเปิดคอร์ส สอนตั้งแต่การเพาะเมล็ดไปจนถึงเก็บเกี่ยวการเตรียมดินปลูกแบบอินทรีย์ เราคิดใน 1 วันรวมทั้งอาหารเครื่องดื่ม 1,500 บาท สามารถนำไปประกอบอาชีพได้เลย ติดต่อได้ที่ไร่ภูฟ้าใส คุณนิด หรือ คุณปรีดารัตน์ หลวงแหลม เบอร์โทร. 098-595-8808 เฟซบุ๊ก ไร่.ภูฟ้าใส เชียงคาน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2566