มทร.ศรีวิชัยตรังเจ๋งพัฒนานวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรขนาดย่อมผ่านสมาร์ทโฟน

นักศึกษามทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เจ๋ง..สร้างนวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรขนาดย่อม ง่ายสะดวก ดูแลด้วยการควบคุมการทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นที่เขียนขึ้นเอง ผ่านสมาร์ทโฟน

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง ได้คิดค้นสร้างนวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรขนาดย่อม(Smart Farm) เหมาะสำหรับการเกษตรแบบใหม่โดยทดลองปลูกผักไฮโดรโปนิกส์และปลูกมะเขือเทศ ควบคู่กับการเลี้ยงปลาในกระชัง บนแพลอยน้ำขนาด 6 x 6 เมตร

นักศึกษาใช้เวลาว่างจากเลิกเรียนประมาณ 10 วันมาช่วยกันการก่อสร้างแพโดยนำวัสดุเหลือใช้มาดัดแปลงเป็นแพลอยน้ำซึ่งการสร้างเพลอยน้ำพร้อมอุปกรณ์มีต้นทุนประมาณ 28,000  บาท (รวมทุกอย่างแล้วเหล็ก มอเตอร์ แผงโซล่าเซลล์ แผงวงจรไฟฟ้า,อุปกรณ์ปลูก)

แพลอยน้ำ ควบคุมการให้น้ำ อาหาร และอุณหภูมิ ผ่านแอพพลิเคชั่นที่นักศึกษาเขียนขึ้นเอง ผ่านระบบสมาร์ทโฟน ไม่ว่าอยู่ที่ไหน แค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็สั่งการได้หมด เหมาะกับเกษตรกรมือใหม่หัดปลูกและมืออาชีพที่เป็นระบบฟาร์ม

สิทธิศักดิ์ โรจชะยะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง กล่าวว่านักศึกษาได้นำความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมควบคุมระยะไกล การให้พลังงานทดแทนจากโซล่าเซลล์ การสร้างระบบควบคุมโรงเรือนอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT) มาใช้งานจริงกับนวัตกรรมแพลอยน้ำ สำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน

ปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ และเลี้ยงปลาเกิดจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเวลาดูแล เพราะต้องทำงานอื่นควบคู่ไปด้วย  ผลสำเร็จของนวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรชิ้นนี้ เกิดจากการทำงานเป็นทีม การนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้จริง สามารถเผยแพร่ให้เกษตรกรที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอด

นายยสินทร  แสงหล้า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าวว่า  ตนเองและเพื่อนๆในห้องเรียน ร่วมกันคิดค้นการสร้างแพลอยน้ำนี้ขึ้นมา ควบคู่กับการพัฒนาปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และระบบให้อาหารปลาแบบอัตโนมัติ เพื่อประหยัดเวลาในการที่ต้องดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ และให้อาหารปลาโดยการใช้เทคโนโลยีทางด้านระบบควบคุมโรงเรือนอัตโนมัติผ่าน IoT ร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์

Advertisement

ซึ่งทีมงานได้มีการออกแบบระบบควบคุมแบบอัตโนมัติต่าง ๆ ไว้ ซึ่งประกอบด้วยระบบควบคุมสารละลายธาตุอาหารแบบอัตโนมัติสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมการไหลเวียนของน้ำแบบอัตโนมัติสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนแบบอัตโนมัติสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมการให้อาหารปลาแบบอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมการเพิ่มออกซิเจนในกระชังเลี้ยงปลาแบบอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT) และระบบควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT)

ผลการดำเนินงานพบว่า ผักไฮโดรโปนิกส์เจริญเติบโตได้ดี ใช้ปลูกแค่ 25-30 วันก็เก็บผักได้แล้ว ร่นระยะเวลาการเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น (จากเดิม 45 วัน) ส่วนมะเขือเทศปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ ก็เจริญเติบโตดี ได้ผลผลิตมากกว่าปลูกด้วยดิน และผลโตกว่าอย่างเห็นได้ชัด เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น ( เดิม 4-5 เดือน) เหลือแค่ 2-3 เดือน ไม่มีแมลงศัตรูพืชต่างๆ รบกวนเพราะแพลอยอยู่กลางน้ำทำให้หนอน แมลงเข้าถึงได้ยากขึ้น นวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรขนาดย่อมนี้ ทางนักศึกษาและมหาวิทยาลัยฯพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้กับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรต่อไป.

Advertisement