การพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกพื้นที่ภาคเหนือ ตามพระราชดําริ ช่วยสร้างอาชีพ เกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

สํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สํานักงาน กปร.) นําสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจรเยี่ยมชม โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อำเภอหางดง และโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดําริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

คุณอรอนันต์ วุฒิเสน ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์

คุณอรอนันต์ วุฒิเสน ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนของภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้เป็นการนำสื่อมวลชนมาดูงานพร้อมกัน เพื่อที่จะให้สื่อมวลชนซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งช่วยในการเผยแพร่แนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงสืบสานรักษาและต่อยอดของโครงการต่างๆ ว่าโครงการนี้ได้ดำเนินอย่างผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์อะไรขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน และได้รับอะไรบ้างจากโครงการ เพื่อให้สื่อมวลชนได้มาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ

ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อํานวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่

“ซึ่งโครงการต่างๆ ในครั้งนี้จะมีในเรื่องของโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เน้นในเรื่องของไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส ปทุมา และกระเจียว ซึ่งตรงนี้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด เป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนมีรายได้” คุณอรอนันต์ กล่าว

คุณเครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล นักวิชาการป่าไม้ชํานาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไมร้องเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดําริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์)

คุณอรอนันต์ ยังกล่าวต่อว่า สำหรับอีกหนึ่งโครงการที่ได้พาคณะสื่อมวลชนไปชมคือ โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินงานสนองงานพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทอดพระเนตรเห็น ทั้งในเรื่องของสภาพป่าไม้ทั้งหลายที่มีการบุกรุกป่าและมีการนำกล้วยไม้ออกมา เมื่อมองถึงปัญหาจึงอยากจะให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟู ทำให้ได้มีการศึกษาและทดลองที่จะขยายพันธุ์เพื่อจะนำกล้วยไม้เหล่านี้กลับเข้าไปสู่ป่า เพื่อจะให้เกิดความยั่งยืนให้ธรรมชาติสมดุลขึ้น ในขณะเดียวกัน ในส่วนนี้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่แถวนี้ ก็ได้รับผลประโยชน์จากโครงการที่เกิดขึ้น คือเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน ก็จะมีของโครงการหลวงดอยอินทนนท์ด้วย

กล้วยไม้แวนด้า

“สถานที่ตรงนี้เป็นทุกอย่างที่เอื้อกันของประชาชนในพื้นที่ เพราะนอกจากได้ความรู้จากโครงการหลวงพัฒนาอาชีพตัวเองแล้ว ยังจะมีในเรื่องของการท่องเที่ยว ก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ ประชาชนนอกจากที่จะได้รับความรู้จากโครงการหลวงจากโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีแล้ว เขาก็สามารถที่จะเป็นอาชีพของเขาได้ เป็นในเรื่องของการเป็นไกด์ท้องถิ่นนำท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน การเป็นไกด์เขาสามารถที่จะให้ความรู้กับผู้ที่มาเที่ยวชมได้ ให้นักท่องเที่ยวได้รู้ในเรื่องของการดูแลอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพพื้นป่าในพื้นที่ตรงนี้ ว่าต้องทำอย่างไรและมีความสำคัญอย่างไร เพื่อที่จะให้คนที่เข้ามาเที่ยวได้รับทราบและช่วยกันในเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูต่อไป” คุณอรอนันต์ กล่าว

แกลดิโอลัส

สําหรับศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ จํานวน 80,000 บาท ให้ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ เพื่อนําไปเริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล อยู่หมู่ที่ 1 ตําบลบ้านแหวน อำเภอหางดง การดําเนินงานในปีแรกได้ใช้พระราชทรัพย์ไปเพียง 40,000 บาท และประสบผลดี จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนหมุนเวียน” รวม 300,000 บาท พร้อมทั้งพระราชทาน ชื่อโครงการว่า โครงการศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล งานสาธิตฝึกอบรม และส่งเสริมอาชีพราษฎรตามพระราชดําริ ในปี พ.ศ. 2527

พระองค์เสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมสมาชิกโครงการ กลุ่มบ้านโรงวัว และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งข้อความโดยสรุปว่า “งานนี้เป็นประโยชน์ ถึงประชาชนอย่างแท้จริงอย่าได้หยุด ให้ทําต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยงานกันให้มากขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน” ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ทรงมีพระบรมราโชบายให้ยกฐานะของโครงการขึ้นเป็นศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ พร้อมทั้งได้เพิ่มภารกิจให้ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาไม้ดอกไม้ผลด้วย

ด้าน ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อํานวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ กล่าวว่า สมัยก่อนพืชพันธุ์ดีค่อนข้างที่จะหายาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระกระแสรับสั่งให้มีการรักษาและพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อนำไปให้ประชาชนได้ใช้ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง จึงได้ให้มีการขยายงานออกไปให้มากๆ

กล้วยไม้ที่นำไปปล่อยไว้ในป่า

“ช่วงแรกกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนในระดับรากหญ้า โดยสร้างอาชีพจากไม้ดอกก่อน ต่อมาก็พัฒนาเป็นไม้ผล จนมีกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงพันธุ์มหาชนก ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรต้องนำผลผลิตไปแลกข้าวสารแทนตัวเงิน แต่ปัจจุบันหลังจากที่ผ่านมา มะม่วงมหาชนกเป็นที่นิยมมาก และสามารถส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นได้ รายได้ต่อปี 8,000,000-10,000,000 บาท ส่วนกลุ่มไม้ดอกก็มีการกระจายไปทั่วประเทศมากขึ้น และขยายความร่วมมือออกไปเรื่อยๆ ทั้งประชาชนและภาคเอกชน รวมไปถึงผู้ประกอบการอื่นๆ” ศ.ดร.โสระยา กล่าว

โดยศูนย์ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจนมีความพร้อมด้านบุคลากรและวิชาการด้านไม้ดอก จึงเพิ่มภารกิจทางด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกให้มากขึ้น โดยศูนย์ได้ดําเนินงานด้านการพัฒนาพันธุ์พืชควบคู่ไปกับงานศึกษาทดลองและวิจัยด้านเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอก เช่น เทคโนโลยีการผลิตพืชกลุ่มกระเจียวและปทุมา เทคโนโลยีการผลิตแกลดิโอลัส เทคโนโลยีการผลิตว่านสี่ทิศ เป็นต้น

เพื่อสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกรที่สนใจผลิตไม้ดอกเป็นอาชีพหลักหรือเป็นอาชีพเสริมรายได้ พร้อมให้การสนับสนุนพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลแก่เกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง และให้การสนับสนุนกลุ่มที่ผลิตพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล ได้ทราบข้อมูลการตลาดของพืชนั้นๆ แบบต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด

ทางด้านโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดําริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) ดําเนินโครงการโดยสํานักสนองงานพระราชดําริ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมี คุณเครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล นักวิชาการป่าไม้ชํานาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดําริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) กล่าวต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปการสนองงานตามพระราชดําริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และรวบรวมกล้วยไม้รองเท้านารีจากทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และนําคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมนําชมการเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี และศึกษาความแตกต่างของกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดพันธุ์ต่างๆ ชมพันธุ์ไม้หายาก และทัศนียภาพบริเวณโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีฯ

ปัจจุบันทางโครงการได้ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว และจําหน่ายกล้วยไม้ป่าที่ได้จากการขยายพันธุ์ของโครงการ สามารถสร้างจิตสํานึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากจากประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นการขจัดปัญหาการลักลอบนํากล้วยไม้ออกจากป่าธรรมชาติซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

การนี้คณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าสายพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ที่สําคัญ รวมทั้งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างน่าสนใจ ที่สําคัญทางโครงการสามารถขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายาก เพื่อนํากลับคืนสู่ป่าธรรมชาติได้จํานวนมากอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของกล้วยไม้ป่าไทยเป็นอย่างดี